posttoday

"ประชาธิปัตย์"อ่วมพิษดูด

17 ตุลาคม 2561

ประชาธิปัตย์กำลังเผชิญภาวะ "เลือดไหลไม่หยุด" จากการที่อดีตสมาชิกพรรคถูกดูดไปร่วมกับพรรคอื่นจนทำให้สถานการณ์น่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ

ประชาธิปัตย์กำลังเผชิญภาวะ "เลือดไหลไม่หยุด" จากการที่อดีตสมาชิกพรรคถูกดูดไปร่วมกับพรรคอื่นจนทำให้สถานการณ์น่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ

*********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สถานการณ์ไม่สู้ดีสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้ ต้องเผชิญทั้ง “ศึกนอก-ศึกใน” จนบั่นทอนเอกภาพและความเข้มแข็ง ซึ่งล้วนแต่จะมีผลกระทบไปถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2562

เริ่มตั้งแต่ “ศึกใน” ที่กำลังไต่ระดับความร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ กับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่จะเป็น การชิงชัยระหว่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต สส.พิษณุโลก และอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค

ประเมินจากทิศทางลมแล้วเมื่อผู้หลักผู้ใหญ่อย่าง ชวน หลีกภัย และบัญญัติ บรรทัดฐาน ประกาศตัวเลือกยืนอยู่ฝั่ง “อภิสิทธิ์” โอกาสของ“หมอวรงค์” ที่มีฐานเสียงสนับสนุนจากฝั่ง กปปส.จำนวนไม่น้อย ก็พลอยจะกลายเป็นเรื่องยากขึ้นมาทันที ​

ยิ่งหลายคนในพรรคเริ่มเป็นห่วงปฏิบัติการแทรกซึมเข้าครอบงำจากฝั่ง กปปส.ด้วยแล้ว ยิ่งจะปลุกให้คะแนนสนับสนุนอภิสิทธิ์มีมากขึ้น ดังจะเห็นจากหลายฝ่าย เช่น อดีต สส.กทม. เปิดหน้าแสดงพลังออกมาสนับสนุนให้อภิสิทธิ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ ​

แน่นอนว่าการแข่งขันครั้งนี้มีแต่จะยิ่งทำให้ “รอยร้าว” ภายใน ระหว่างฝั่ง กปปส.และประชาธิปัตย์ขยายวงกว้างมากขึ้น แม้กลุ่มเพื่อนหมอวรงค์จะประกาศชัดว่าจะยอมรับผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะก็จะอยู่ช่วยงานพรรคต่อไปไม่ย้ายออกไปไหน แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้เกิดความสนิทใจได้เหมือนเดิม

แต่อย่างไรก็ตามในสถานการณ์นี้ยังสร้างโอกาสให้ผู้สมัครทั้ง 3 คน ได้ลงพื้นที่พบปะประชาชน สมาชิกพรรคตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยไม่ติดล็อกคำสั่ง คสช.ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง จนกระทั่งเริ่มมีกระแสดักคอว่านี่เป็นการใช้โอกาสหาเสียงล่วงหน้าของประชาธิปัตย์

แต่ “ศึกนอก” ซึ่งน่าจะเป็นงานหินสำหรับประชาธิปัตย์ คือ การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

ปัญหาของประชาธิปัตย์เวลานี้อยู่ตรงที่ต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งทั้ง พรรคเพื่อไทยในฐานะคู่ปรับเก่า และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

การเผชิญกับศึกสองด้านที่เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวขนาบเข้ามายิ่งทำให้การเลือกตั้งรอบนี้ของประชาธิปัตย์​ดูจะหนักหนากว่าทุกครั้ง ยังไม่รวมกับมรสุมการดูดที่ถาโถมเข้ามาอย่างหนักหน่วงทั่วประเทศ

ไล่มาตั้งแต่พื้นที่ภาคใต้ ฐานที่มั่นสำคัญของประชาธิปัตย์ซึ่งเกือบจะเป็นพื้นที่ผูกขาด แต่เบื้องต้นมีอดีตสส. ย้ายออกไปแล้ว 6 คน ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี 3 คน จากตระกูล เทือกสุบรรณ ได้แก่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ธานี เทือกสุบรรณ เชน เทือกสุบรรณ​ ที่ออกไปร่วมก่อตั้ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย

ส่วนอีก 3 คน ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ พื้นที่ จ.นราธิวาส คือ รำรี มามะ เจะอามิง โตะตาหยง และสุรเชษฐ์ แวอาแซ ซึ่งเบื้องต้นจะย้ายไปอยู่กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ตามการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่พื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด มี สส.ลดลงเหลือ 50 คน จากเดิมมี สส.ได้ 53 คน ทำให้โอกาสที่ประชาธิปัตย์จะเสียเก้าอี้ทั้ง สส.เขต และบัญชีรายชื่อในฐาน ที่มั่นของตัวเองก็เป็นไปได้สูง

ถัดมาพื้นที่ ภาคกลาง-ตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มี สส.ของประชาธิปัตย์ย้ายออกมากที่สุด โดยเบื้องต้นมีไหลออกแล้ว 9 คน ได้แก่ ประมวล เอมเปีย อดีต สส.ชลบุรี ที่ย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย ขณะที่ ธวัชชัย อนามพงษ์ อดีต สส.จันทบุรี สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ อดีต สส.ชลบุรี พล.ต.ท.พิทักษ์ จารุสมบัติ บุญเลิศ ไพรินทร์ ชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ อดีต สส.ฉะเชิงเทรา ที่ย้ายไปพรรคพลังประชารัฐ

ล่าสุด ธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ อดีต สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อัฏฐพล โพธิพิพิธ อดีต สส.กาญจนบุรี บุตรชายของกำนันเซี๊ยะ ประชา โพธิพิพิธ อดีต สส.กาญจนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลาออกจากประชาธิปัตย์เพื่อจะไปลงสมัคร สส. ในนามพรรคพลังประชารัฐ

ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามีการ ต่อเรื่องด้วยเงื่อนไขคดีบุกรุกที่ดินราชพัสดุจังหวัดกาญจนบุรีถึงราชบุรีของกำนันเซี๊ยะ ซึ่งศาลฎีกาตัดสินจำคุกจนต้องหลบหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน

รวมถึง​ กัลยา รุ่งวิจิตรชัย อดีต สส.สระบุรี ของประชาธิปัตย์ ที่ถูกทาบทามไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ จนกลายเป็นเรื่องเมื่อดูดไปซ้ำซ้อนกับพื้นที่ของตระกูลอดิเรกสาร

ด้านภาคเหนือ ​​​แม้จะมีข่าวว่ากำลังถูกดูดอย่างรุนแรงนั้น แต่เบื้องต้นมีเพียงแค่ สมควร โอบอ้อม อดีต สส.นครสวรรค์ ซึ่งย้ายไปพรรค ภูมิใจไทย แต่ยังมีปัญหาตรงที่ติดคดีแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ และศาลตัดสินจำคุกแต่รอลงอาญาอาจทำให้ ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม อัศวิน วิภูศิริ รองหัวหน้าพรรคดูแลพื้นที่ภาคเหนือของประชาธิปัตย์ แต่ขณะเดียวกัน ชาญวิทย์ วิภูศิริ ที่เคยถูกวางตัวจะให้ลง สส.กทม.ประชาธิปัตย์ ได้ย้ายไป​เป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ

ส่วนพื้นที่ กทม.ขุนพลจาก กปปส. ทั้ง พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ​ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ คาดว่าจะไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ

อาการเลือดไหลไม่หยุดของประชาธิปัตย์ในเวลานี้จึงมีแต่จะยิ่งส่งผลให้สถานการณ์ของพรรคน่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ