posttoday

ชำแหละปัจจัยสำคัญ ปั้น "บิ๊กตู่" นายกฯคนใน

08 ตุลาคม 2561

วิเคราะห์ 3 ปัจจัยที่ทำให้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" กลายเป็นเต็งหนึ่งที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง

วิเคราะห์ 3 ปัจจัยที่ทำให้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" กลายเป็นเต็งหนึ่งที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง

******************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ถ้าจะบอกว่าชั่วโมงนี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเต็งหนึ่งที่จะขึ้นมาเป็นนายกฯ คนที่ 30 ก็คงไม่ผิดนัก

แม้ระยะนี้จะมีผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนออกมาหลายครั้งและมีชื่อทั้ง “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” แกนนำพรรคเพื่อไทย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รวมไปถึง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เข้ามาติดโผชิงตำแหน่งผู้นำประเทศ แต่ชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังคงติดลมบนเหนือคู่แข่งอยู่หลายช่วงตัว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าให้ความสนใจงานการเมือง ยิ่งทำให้กระแสสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่มมากขึ้น มิเช่นนั้นแล้วนายกฯ คงไม่มั่นใจถึงขั้นประกาศว่าถ้าจะลงชิงตำแหน่งนายกฯ จะเป็นนายกฯ ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในรอบแรกเท่านั้น

ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ถูกจับตามองมาตลอดว่าจะเข้ามาเป็นผู้ท้าชิงนายกฯ ในช่องทาง เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าการได้มาซึ่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมีด้วยกัน 2 วิธี

1.มาจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง เสนอต่อ กกต.จำนวนไม่เกิน 3 คน โดยที่ประชุมรัฐสภา (สส.และ สว.)จะเลือกจากบุคคลในบัญชีดังกล่าวถ้าบุคคลใดได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง บุคคลนั้นก็จะได้รับตำแหน่งนายกฯ

2.มาจากบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีพรรคการเมืองที่เสนอต่อ กกต. แต่ก่อนจะมาถึงวิธีการนี้ได้นั้นจะต้องเกิดกรณีที่รัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกฯ ตามวิธีการแรกได้ก่อน ถึงจะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเสนอบุคคลนอกบัญชีรายชื่อมาให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเลือกต่อไป

การเข้ามาเป็นนายกฯ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการไหน ถึงจะมีศักดิ์ศรีความเป็นนายกฯ เหมือนกัน แต่ต้องยอมรับการเข้ามาเป็นนายกฯ ผ่านกระบวนการแรกนั้นมีความชอบธรรมมากกว่า เนื่องจากการที่พรรคการเมืองเสนอบัญชีรายชื่อบุคคลที่จะเข้ามาเป็นนายกฯ ให้กับ กกต.ตั้งแต่แรก จะทำให้ประชาชนได้มีโอกาสว่าจะตัดสินใจให้พรรคการเมืองเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะได้เข้าไปเลือกนายกฯ ตามบัญชีรายชื่อดังกล่าว

ต่างกับการเลือกนายกฯ ในวิธีการที่สอง ซึ่งเปิดโอกาสให้รัฐสภาสามารถเลือกจากใครก็ได้ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีของพรรคการเมือง เพียงแต่ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญเท่านั้น พูดตรงๆ ความสง่างามในการเข้ามาเป็นนายกฯ ด้วยวิธีการนี้ย่อมมีน้อยกว่าวิธีการแรก

ดังนั้น การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าถ้าจะเข้ามาเป็นนายกฯ อีกครั้งก็จะไม่เป็นนายกฯ คนนอกนั้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในทางการเมืองระดับหนึ่งเลยทีเดียว

เมื่อมองถึงปัจจัยที่สร้างความมั่นใจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะมีความเป็นไปได้ด้วยกัน 3 ประการ

1.ประชาชนต้องการความต่อเนื่อง ตรงนี้อาจเป็นปัจจัยที่สำคัญพอสมควร ถึงตลอด 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลจะมีผลงานที่ไม่เข้าตาไปบ้าง แต่อย่างน้อยก็ได้เริ่มต้นนโยบายสำคัญหลายเรื่อง ยิ่งไปกว่านั้นช่วยทำให้ประเทศอยู่ในความสงบและปราศจากม็อบการเมือง

ในเรื่องความสงบนี่เองที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำ พล.อ.ประยุทธ์ ไปสู่ประตูแห่งชัยชนะ เพราะหากนายกฯ มาจากขั้วการเมืองเดิม ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ได้มีหลักประกันที่จะบ่งชี้ได้ว่าการเมืองจะเกิดความสงบอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลตรงนี้เอง จึงเป็นข้อได้เปรียบของ พล.อ.ประยุทธ์ ไปโดยปริยาย ภายหลังจากได้วางรากฐานเอาไว้แล้ว

2.การคุมอำนาจการเมืองแบบเบ็ดเสร็จ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ตกอยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญที่กำหนดข้อห้ามบางประการสำหรับในระหว่าง
การมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง เช่น การห้ามโยกย้ายข้าราชการ การอมุมัติงบประมาณ เป็นต้น เพราะในบท เฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐบาลและ คสช.ยังสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ตามปกติ จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ตกภายใต้ข้อจำกัดข้างต้น ส่งผลให้สามารถเดินเครื่องนโยบายรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะโครงการประชารัฐ ซึ่งด้านหนึ่งเหมือนจะเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลตามปกติ แต่อีกมุมหนึ่งก็แทบไม่ต่างอะไรกับการสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง เหมือนกับการหาเสียงทางอ้อมไปโดยปริยาย

3.ผนึกกำลังกลุ่มสามมิตร การเตรียมเข้ามาอยู่ในพรรคพลังประชารัฐของกลุ่มสามมิตร เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการไปสู่ชัยชนะก็ว่าได้

กลุ่มสามมิตรขณะนี้เป็นกลุ่มการเมืองที่รวบรวมอดีต สส.ไว้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งการนำของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” และ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ซึ่งอุดมไปด้วยบารมีทางการเมืองและทุนทรัพย์ ย่อมเป็นสิ่งที่เชื้อเชิญให้อดีต สส.ของพรรคเอาใจออกห่างเพื่อมาอยู่กับกลุ่มสามมิตร

ทั้งสองคนต่างเคยเป็นอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย คนหนึ่งเป็นอดีตหัวหน้ามุ้งการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของพรรค ส่วนอีกคนเป็นอดีตเลขาธิการพรรค จึงไม่ต้องบอกว่าความเขี้ยวในทางการเมืองมีมากขนาดไหนและน่าพอฟัดกับพรรคเพื่อไทยได้อย่างสูสี

เพราะฉะนั้น ด้วยขุมกำลังและสถานการณ์ที่ี่เป็นใจขณะนี้ จึงอย่าได้แปลกใจว่าทำไม พล.อ.ประยุทธ์ ถึงได้มีความมั่นใจในสนามเลือกตั้งเป็นพิเศษ