posttoday

ศึกในปชป.ระอุ สั่นคลอนเก้าอี้มาร์ค

20 กันยายน 2561

ศึกเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ส่อเค้าดุเดือดตั้งแต่กระบวนการ หยั่งเสียงเบื้องต้นของสมาชิก

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ศึกเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ส่อเค้าดุเดือดตั้งแต่กระบวนการ หยั่งเสียงเบื้องต้นของสมาชิก

เมื่อรอบนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 7 ซึ่งครองตำแหน่งมายาวนานต่อเนื่อง  13 ปี กำลังจะก้าวสู่ความท้าทายครั้งใหม่ กับรูปแบบการเลือกตั้งที่เจ้าตัวมีแนวคิดจะเปิดให้สมาชิกพรรคมีส่วนลงคะแนนหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคได้โดยตรง

แม้การชี้ขาดสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับ ที่ประชุมใหญ่ของพรรคซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค แต่อย่างน้อยผลการหยั่งเสียงจากสมาชิกที่สะท้อนว่าต้องการให้ใครมาเป็นหัวหน้าพรรค ยากจะทำให้ที่ประชุมใหญ่เห็นเป็นอย่างอื่นหรือโหวตสวนเลือกคนอื่นที่สมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยได้

การหยั่งเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคของสมาชิกถือเป็นด่านแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และปลุกให้บรรยากาศการแข่งขันเริ่มร้อนแรงในทันที

ในแง่ "แคนดิเดต" หากมองเฉพาะตัวบุคคลอย่าง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต สส.พิษณุโลก ซึ่งเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการหลังที่ประชุมใหญ่แก้ไขข้อบังคับพรรคฉบับใหม่ในวันที่ 26 ก.ย.นี้ ย่อมไม่ใช่ "คู่แข่ง" ที่สมน้ำสมเนื้อสักเท่าไหร่

แม้ หมอวรงค์จะไม่ใช่ อดีต สส.โนเนม แถมยังเป็นหนึ่งในขุนพลฝีปากกล้าฝากซึ่งผลงานไว้มากมาย โดยเฉพาะกับการนำทัพเกาะติดขุดคุ้ยโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล  ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่การดำเนินคดีที่สามารถเอาผิดทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ได้หลายราย

แต่หากเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ ทั้ง "ชื่อชั้น" และ "บารมี" ตลอดจนเสียงสนับสนุนในพรรค คงยาก ที่หมอวรงค์จะไปเทียบกับ อภิสิทธิ์ ได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้ชื่อชั้น หมอวรงค์ กลับมามีน้ำหนักถึงขั้นจะท้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคได้นั้น อยู่ตรงฐานการสนับสนุนจากฝั่งอดีตแกนนำ กปปส. โดยเฉพาะได้ ถาวร เสนเนียม อดีตรองเลขาธิการพรรค มารับหน้าที่ช่วยเดินเกมประสาน สส.ภายในอีกทางหนึ่ง

สอดรับกับความพยายามก่อนหน้านี้ที่เคยมีกระแสข่าวว่า ทางอดีต สส.ฝั่ง กปปส. เดินเกมส่งคนชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค หลังจุดยืนที่แตกต่างกันในประเด็นการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย จนอภิสิทธิ์ต้องออกมาประกาศความชัดเจนว่าถ้าใครสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ไปอยู่พรรคอื่น จนกระแสเงียบไป

เช่นเดียวกับรอบนี้ การผลักดันหมอวรงค์มาแข่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ถูกมองว่าเป็นเพราะ อภิสิทธิ์ ประกาศจะไม่ร่วมสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หากไม่ได้เสียงข้างมากในสภา

แต่ทั้งหมดนี้ความเป็นไปได้ของ หมอวรงค์ อยู่ตรงที่ขั้นตอนหยั่งเสียงของสมาชิกพรรคนั้น เดิมเข้าใจว่าจะ ตีกรอบเพียงแค่ 8 หมื่นคนที่มายืนยันความเป็นสมาชิกพรรคก่อน 30 เม.ย.เท่านั้น ซึ่งจากสัดส่วนจำนวนสมาชิกดังกล่าวจำนวนมากเป็นฐานเสียงที่ทาง กปปส.ชักชวนให้รีบมายืนยันความเป็นสมาชิก

ก่อนจะมีการเปิดเผยว่าข้อบังคับพรรคยังเปิดให้อดีตสมาชิก 2 ล้านคน ที่สนใจจะเลือกหัวหน้าพรรคสามารถลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิได้ จนถูกมองว่าเป็นการแก้เกมเพื่อรักษาเก้าอี้หัวหน้าพรรค

ทำให้คาดการณ์กันว่าในที่ประชุมใหญ่วันที่ 26 ก.ย.นี้ น่าจะเป็นยกแรกที่กองเชียร์ของทั้งสองฝั่งเปิดศึกย่อมๆ เพื่อสะท้อนปัญหาผ่านข้อบังคับพรรคในมุมของตัวเองอันอาจทำให้การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคถูกมองว่าไม่เป็นธรรมได้

เริ่มตั้งแต่ประเด็นแรก สมาชิกที่จะมีสิทธิโหวตหัวหน้าพรรค เพราะในจำนวน 2 ล้านกว่าคนนั้นปัจจุบันไม่รู้ว่าใครเป็นใครและยังเหนียวแน่นกับประชาธิปัตย์หรือไม่ การเปิดกว้างให้อดีตสมาชิกมาร่วมเลือกหัวหน้าพรรค จึงอาจนำไปสู่การจัดตั้งสมาชิกฝั่งของตัวเองต่อไป

ประเด็นที่สอง รูปแบบการลงคะแนนที่จะใช้วิธีหยั่งเสียงผ่าน แอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีข้อดีคือสามารถรองรับการลงคะแนนของสมาชิกจำนวนมากมายได้อย่างง่าย และสะดวกที่จะนำผลมาคำนวณและประเมินผลต่อไป

แต่อีกด้านหนึ่งกลับถูกมองว่าจะเป็นปัญหา เพราะไม่มีหลักประกันว่าสมาชิกพรรคทุกคนจะมีโทรศัพท์มือถือที่มีคุณสมบัติรองรับระบบการหยั่งเสียงผ่านแอพพลิเคชั่นได้ จนอาจเป็น ช่องว่างให้สมาชิกส่วนหนึ่งที่มีสิทธิแต่ไม่สามารถลงคะแนนได้

ประเด็นที่สาม ขั้นตอนการลงคะแนน ซึ่งคนที่ชี้ขาดสุดท้ายก็ยังเป็น ที่ประชุมใหญ่ซึ่งประกอบด้วย อดีต สส. และสมาชิกพรรคที่ทางกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันเป็นผู้คัดเลือก ซึ่งอาจนำไปสู่ความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคได้

ประเมินสถานการณ์นับจากนี้ต่อไป กระบวนการแข่งขันและช่วงชิงคะแนนจึงมีแต่จะทวีความดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ อันจะปลุกให้ศึกในประชาธิปัตย์ที่เคยสงบกลับมาเป็นปัญหาต่อไป

ที่สำคัญสุดท้ายแล้วไม่ว่า อภิสิทธิ์ จะสามารถรักษาเก้าอี้หัวหน้าพรรคได้อีกสมัยหรือไม่ รอยร้าวที่เกิดขึ้นย่อมทำให้การรับหน้าที่กุมบังเหียนบริหารงานภายในพรรคไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับสถานการณ์การเมืองที่เต็มไปด้วยความเปราะบางในอนาคต