posttoday

คลายล็อกไม่ยอมปลด หวงอำนาจ-กลัวฝ่ายค้าน

19 กันยายน 2561

ท่ามกลางการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 62 อีกด้านหนึ่งพบว่ามีอุปสรรคที่ขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งอยู่พอสมควร

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ท่ามกลางการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในเดือน ก.พ.  หรืออย่างช้าที่สุดในเดือน พ.ค. 2562 ภายหลังมีการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ครบ 4 ฉบับ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2561 ว่าด้วยการคลายล็อกการเมือง แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งจะพบว่ามีอุปสรรคที่ขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งอยู่พอสมควร

โดยอุปสรรคที่ว่านั้นได้ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างน้อย 3 เรื่อง

เรื่องที่ 1 การห้ามหาเสียงผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ แม้ในคำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 จะทำการคลายล็อกการเมืองให้กับพรรคการเมืองหลายเรื่อง เช่น การประชุมพรรคเพื่อปรับปรุงข้อบังคับให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หรือการดำเนินการเพื่อหาสมาชิกพรรค เป็นต้น แต่ก็ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองสื่อสารกับสมาชิกพรรคผ่านสื่อออนไลน์ในลักษณะที่เข้าข่ายเป็นการหาเสียง

การคลายล็อกเรื่องหนึ่งและไปไขกุญแจล็อกอีกเรื่องหนึ่ง ส่งผลให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้ยาก เนื่องจากพรรคการเมืองเองก็เกรงว่าหากดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งไป แม้จะไม่มีเจตนาจะกระทำความผิด แต่ก็อาจเป็นความผิดถึงขั้นถูกยุบพรรคการเมืองได้ ซึ่งกฎหมายพรรคการเมืองฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันค่อนข้างจะทำให้พรรคการเมืองขาดเสถียรภาพพอสมควร

เรื่องที่ 2 การไม่ยกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน เรื่องดังกล่าวอยู่ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่ต้องการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ซึ่งใช้บังคับมาเป็นเวลาประมาณ 3 ปี โดยข้อ 12 ของคำสั่งนั้นระบุว่า "ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน  หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ"

ถึงปัจจุบันในทางปฏิบัติ คสช.จะไม่ได้บังคับใช้เรื่องการห้ามชุมนุมเกิน  5 คนอย่างเข้มข้นมากนักเมื่อเทียบกับอดีต แต่ตราบใดที่ คสช.ยังไม่มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ย่อมทำให้การทำกิจกรรมการเมืองเต็มไปด้วยกับดัก

เรื่องที่ 3 การห้ามไม่ให้ประชุมพรรคการเมือง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 ได้เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองประชุมพรรคได้บางเรื่องเท่านั้น เนื่องจากยังมีประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองประชุม เท่ากับว่าพรรคการเมืองจะประชุมพรรคได้เฉพาะเรื่องที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 บัญญัติไว้เท่านั้น

การคงไว้ซึ่งคำสั่งและประกาศ ข้างต้น แน่นอนว่าพรรคการเมืองคงยังขยับตัวลำบาก เพราะหวั่นเรื่องการถูกยุบพรรค ซึ่งการถูกยุบพรรคการเมืองในช่วงเวลานี้อาจมีผลให้ไม่สามารถเตรียมตัวได้ทันกับการเลือกตั้ง ดังนั้น พรรคการเมืองอาจเลือกความปลอดภัยเป็นหลักแทนการเปิดเกมรุกเพื่อช่วงชิงคะแนนความนิยมอย่างเต็มตัว

ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาที่พรรคการเมืองต้องการให้ คสช. ปลดล็อกการเมือง 100% โดยเฉพาะการให้พรรคการเมืองสามารถกำหนดนโยบายเพื่อใช้ในการหาเสียงได้  แต่ดูเหมือนว่า คสช.ยังไม่ค่อยตอบรับเท่าใดนัก โดยอ้างเรื่องความสงบ ของบ้านเมืองเป็นหลัก

แต่เหนืออื่นใดแล้ว เบื้องลึกจริงๆ ของการไม่ยอมปลดล็อกน่าจะอยู่ที่ยังไม่ต้องการให้พรรคการเมืองมีอำนาจอภิปราย คสช.นอกสภาผ่านการหาเสียงมากกว่า

เวลานี้ คสช.กำลังเดินเกมเก็บแต้มการเมืองจากประชาชน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นหนึ่งในตัวเต็งของผู้ท้าชิง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้า ขณะเดียวกันบรรดาองคาพยพของ คสช.เองก็กำลังผลักดันวาทกรรม "ประชารัฐ" ไปสู้กับ "ประชานิยม" อย่างหนัก ทั้งเรื่องการเดินสายประชุมคณะรัฐมนตรีหรือแม้แต่การตรากฎหมายเกี่ยวกับกองทุนประชารัฐ

ดังนั้น หากปลดล็อกให้พรรคการเมือง คสช.จะอยู่ในสภาพถูกอภิปรายนอกสภาอย่างหลีกไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองจะใช้นโยบายของตัวเองในการหาเสียงด้วยการเปรียบกับรัฐบาลว่านโยบายของรัฐบาลมีจุดอ่อนอย่างไร ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ผลสัมฤทธิ์ในนโยบายของรัฐบาลหลายเรื่องยังถูกตั้งคำถามอยู่

ที่สุดแล้ว การดึงเกมและซื้อเวลาเพื่อยังไม่ปลดล็อกไปเรื่อยๆ ย่อมเป็นประโยชน์กับ คสช.มากกว่าในทางการเมือง เพราะอย่างน้อย คสช.ก็ได้คลายล็อกไปแล้ว