posttoday

เดินหน้าเลือกตั้ง หมดเงื่อนไขยื้อ

14 กันยายน 2561

ประเทศไทยได้เดินหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ หลัง พรป.สส.และ พรป.สว.ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หากจะบอกว่าประเทศไทยได้เดินหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ คง ไม่เป็นเรื่องเกินจริงไปนัก ภายหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) พ.ศ. 2561  ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา

กฎหมายเลือกตั้ง สว.เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ 100% เมื่อวันที่ 13 ก.ย. แต่สำหรับกฎหมายเลือกตั้ง สส.ยังต้องรออีก 90 วันก่อนถึงจะมีผลใช้บังคับ 100% เหมือนกับกฎหมายเลือกตั้ง สว. การเริ่มนับระยะเวลาของการมีผลใช้บังคับของกฎหมายที่มีความแตกต่างกันดังกล่าว นำมาซึ่งนัยทางการเมืองเกี่ยวกับการนับวันเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560  ในบทเฉพาะกาล กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน นับแต่วันที่กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลใช้บังคับ ซึ่งตามข้อเท็จจริงเวลานี้มีกฎหมายที่ว่านั้นที่มีผลใช้บังคับจริงเพียงแค่ 3 ฉบับเท่านั้น เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้ง สส.ถูกกำหนดโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าให้มีผลใช้บังคับภายหลังพ้น 90 วันนับแต่วันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

เท่ากับว่าการเริ่มนับวันเลือกตั้งจะต้องนับเป็น 2 ขยัก ได้แก่ ขยักแรก 90 วัน และขยักสอง 150 วันรวม 240 วันหรือประมาณ 8 เดือน กำหนดวัน เลือกตั้งอย่างช้าที่สุดจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน เม.ย. หรือต้นเดือน พ.ค. 2562  เว้นเสียแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเหยียบคันเร่งให้การเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้นได้เร็วกว่านั้นในช่วงเดือน ก.พ. 2562

ดังนั้น 240 วันนับจากนี้จะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นมากมาย อย่างน้อย 6 เรื่อง

1.การประชุมร่วมกันของ คสช. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประธาน สนช. และผู้แทนพรรคการเมือง เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ซึ่งจะนำมาสู่ความชัดเจนเกี่ยวกับวันเลือกตั้งพร้อมกับปูทางไปสู่การคลายล็อกและการปลดล็อกด้วย

2.การคลายล็อกพรรคการเมืองจะเกิดขึ้นได้อาจต้องผ่านการประชุมตามคำสั่งของหัวหน้า คสช.ดังกล่าว ซึ่งมีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่เบื้องต้น คสช.จะยอมคลายล็อกให้บางส่วนตามที่เคยเปรยไว้ก่อนหน้านี้ เช่น การประชุมพรรคการเมือง เพื่อเตรียมการสำหรับการทำไพรมารีโหวต และการหาสมาชิกพรรค

3.การทำไพรมารีโหวต ที่ผ่านมา รัฐบาลและ คสช.แสดงความชัดเจนมาตลอดกลับไปใช้รูปแบบไพรมารีโหวตตามที่ กรธ.เคยเสนอไว้ตั้งแต่แรก คือ รูปแบบของคณะกรรมการสรรหา แม้ว่าด้านหนึ่งจะดูไม่คล้ายไพรมารีโหวตก็ตาม

คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองตามแนวทางของ กรธ. จะประกอบด้วย บุคคลและจำนวนตามที่กำหนดในข้อบังคับ แต่อย่างน้อยต้องมีกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่เกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการสรรหา และหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ซึ่งเลือกกันเองจนครบจำนวน

4.การจัดทำพระราชกฤษฎีกาประกาศวันเลือกตั้ง เป็นกระบวนการปลายทางของการเลือกตั้งก็ว่าได้ ภายหลัง กกต.และรัฐบาลสามารถกำหนดความพร้อมในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน โดยทันทีที่มีพระราชกฤษฎีกาประกาศวันเลือกตั้ง ด้านหนึ่งไม่ได้มีผลต่อรัฐบาลและ คสช.มากนัก เนื่องจากรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีอำนาจเต็มตามเดิม เท่ากับว่ามาตรา 44 ยังสามารถใช้ได้ตามปกติ ต่างกับรัฐบาลปกติที่เมื่อมีการประกาศเลือกตั้งแล้วจะดำเนินนโยบายรัฐบาลบางประการไม่ได้เต็มที่

5.การแบ่งเขตเลือกตั้ง เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองทุกพรรคต่างจับตาเป็นพิเศษ เพราะจะเป็น ตัวกำหนดภูมิศาสตร์ทางการเมือง ภายหลังระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้การนับคะแนนเลือกตั้งเพื่อหาจำนวน สส. จะมาจากคะแนนบัตรเลือกตั้ง สส.ระบบแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่านั้น ทำให้การแบ่งเขตเลือกตั้งมีความสำคัญอย่างยิ่ง

6.การสรรหา สว. เป็นกิจกรรมที่จะแทรกขึ้นมาระหว่างการแต่งตัวเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง โดย กกต.จะต้องจัดให้มีการเลือกกันเองของผู้สมัครและส่งให้ คสช.เลือกให้เหลือ 50 คน ส่วนอีก 200 คนจะมาจากการสรรหาโดย คสช. จำนวน 194 คน และอีก 6 คนจะมาจากบุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพทั้งทหาร ตำรวจ และปลัดกระทรวงกลาโหม

ทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งแบบปราศจากเงื่อนไข เว้นเสียแต่จะมีผู้มีอำนาจคนไหนสร้างขึ้นมาอีก