posttoday

ผ่าแบบกรมธรรม์บำนาญ

22 ตุลาคม 2553

ผ่าแบบกรมธรรม์บำนาญ ที่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ 3 แสนบาท

ผ่าแบบกรมธรรม์บำนาญ ที่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ 3 แสนบาท

โดย.. วารุณี อินวันนา

ผลจาก คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการออมในรูปแบบการประกันชีวิตแบบบำนาญ โดยอนุมัติวงเงินหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เพิ่มจากวงเงินเดิมสำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิต 1 แสนบาท เป็น 3 แสนบาท นั้นหมายความว่า ผู้ซื้อประกันบำนาญ จะได้วงเงินลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นอีก 2 แสนบาท

นับเป็น เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ใหม่ทั้งในส่วนของกรมสรรพากรในการคำนวณภาษี บริษัทประกันชีวิตที่จะออกกรมธรรม์ และ ประชาชนที่ยังสับสนว่าแบบประกันบำนาญที่จะสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษี แล้วจะได้ลดหย่อนเท่าไหร่  

นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)    ได้อธิบาย ลักษณะกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่สามารถนำไปใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้ตามเกณฑ์ใหม่เป็น 3 แสนบาท จากเดิม 1 แสนบาท จะต้องประกอบด้วย

1 ระยะเวลาเอาประกันภัย 10 ปีขึ้นไป ซึ่งการนับระยะเวลาเอาประกันภัยดังกล่าวให้เริ่มนับตั้งแต่อายุเริ่มทำประกันชีวิต จนถึงอายุสุดท้ายที่รับบำนาญ

 2 เงื่อนไขการจ่ายบำนาญ ให้เริ่มจ่ายเงินบำนาญตั้งแต่อายุ 55 ปี ขึ้นไป จนถึงอายุไม่ต่ำกว่า 85 ปี

3 ไม่มีการจ่ายผลประโยชน์อื่นใดก่อนรับเงินบำนาญ ยกเว้นผลประโยชน์กรณีการเสียชีวิต

4 ไม่มีการจ่ายผลประโยชน์ใดๆ ณ วันครบกำหนดชำระเบี้ยประกันภัย

5 การจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญในช่วงรับบำนาญต้องกำหนดจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญรายงวดอย่างสม่ำเสมอ เช่น รายปี, รายเดือน เป็นต้น

6 ชื่อผลิตภัณฑ์ให้มี วงเล็บ ว่าเป็น “บำนาญแบบลดหย่อนได้” แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นแบบบำนาญที่ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ให้มีวงเล็บ ว่าเป็น “บำนาญแบบลดหย่อนไม่ได้”เช่นกัน

นางจันทรา กล่าวว่า การกำหนดรูปแบบของหลักฐานที่จะต้องให้กับผู้เอาประกันภัย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นใช้สิทธิขอหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนของใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันภัย ให้ระบุข้อความ “ เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ” สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามกฎกระทรวงการคลัง

กรณี ที่ผู้เอาประกันภัยมีเงินได้พึงประเมิน 1 ล้านบาท สามารถใช้สิทธิได้ดังนี้

กรณีที่ 1 ผู้เอาประกันภัยมีกรมธรรม์ประกันชีวิต (ไม่รวมแบบบำนาญที่หักภาษีได้)ที่ใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์เดิมได้ 1 แสนบาท แล้ว กรณีนี้ ผู้เอาประกันภัยจะสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญและใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์ใหม่ได้อีกไม่เกิน 1.5 แสนบาท ทั้งนี้สามารถสามารถซื้อกองทุนอื่น ได้อีกไม่เกิน 3.5 แสนบาท

กรณีที่ 2 ผู้เอาประกันภัยมีกรมธรรม์ประกันชีวิต (ไม่รวมแบบบำนาญที่หักภาษีได้ )ที่ใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์เดิมเพียง 5 หมื่นบาท กรณีนี้ ผู้เอาประกันภัยจะสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญได้อีก 2 แสนบาท โดยใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์เดิมได้อีก 5 หมื่นบาท และใช้สิทธิตามเกณฑใหม่ได้อีกไม่เกิน 1.5 แสนบาท ทั้งนี้สามารถซื้อกองทุนอื่น ได้อีกไม่เกิน 3.5 แสนบาท

กรณีที่ 3 ผู้เอาประกันภัยยังไม่เคยซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตใดๆ ที่ใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์เดิม กรณีนี้ผู้เอาประกันภัยจะสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญได้อีก 2.5 แสนบาท โดยใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์เดิมได้ 1 แสนบาท และใช้สิทธิตามเกณฑใหม่ได้อีกไม่เกิน1.5 แสนบาท ทั้งนี้สามารถซื้อกองทุนอื่น ได้อีกไม่เกิน 3.5 แสนบาท

สำหรับ กรณีที่ผู้เอาประกันภัยมีเงินได้พึงประเมิน 1.5 ล้านบาท สามารถใช้สิทธิได้ดังนี้

กรณีที่ 1 ผู้เอาประกันภัยมีกรมธรรม์ประกันชีวิต (ไม่รวมแบบบำนาญที่หักภาษีได้)ที่ใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์เดิมได้ 1 แสนบาทแล้ว ผู้เอาประกันภัยจะสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญและใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์ใหม่ได้อีกไม่เกิน 2 แสนบาท ทั้งนี้สามารถซื้อกองทุนอื่น ได้อีกไม่เกิน 3 แสนบาท

กรณีที่ 2 ผู้เอาประกันภัยมีกรมธรรม์ประกันชีวิต (ไม่รวมแบบบำนาญที่หักภาษีได้) ที่ใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์เดิมได้ 5 หมื่นบาท แล้ว ผู้เอาประกันภัยจะสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญได้อีก 2.5 แสนบาท โดยใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์เดิมได้ 5 หมื่นบาท และใช้สิทธิตามเกณฑใหม่ได้อีกไม่เกิน 2 แสนบาท ทั้งนี้สามารถซื้อกองทุนอื่น ได้อีกไม่เกิน 3 แสนบาท

กรณีที่ 3 ผู้เอาประกันภัยยังไม่มีกรมธรรม์ประกันชีวิต(ไม่รวมแบบบำนาญที่หักภาษีได้)ที่ใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์เดิม กรณีนี้ผู้เอาประกันภัยจะสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญได้อีก 3 แสนบาท โดยใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์เดิมได้ 1 แสนบาท และใช้สิทธิตามเกณฑใหม่ได้อีกไม่เกิน 2 แสนบาท ทั้งนี้สามารถซื้อกองทุนอื่น ได้อีกไม่เกิน 3 แสนบาท

ทั้งนี้ หากผู้เอาประกันภัยได้ซื้อกองทุนอื่นไว้แล้ว ซึ่งจำนวนเงินไม่เป็นไปตามสัดส่วนที่แสดงไว้ใน ตัวอย่างข้างต้น ผู้เอาประกันภัยจะต้องปรับเบี้ยประกันภัย ให้จำนวนเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกับกองทุนที่ท่านถืออยู่แล้วต้องไม่เกิน 5 แสนบาท

ทั้งนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการคาดว่าจะมีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี 2553 ที่ต้องยื่นรายการในปี 2554