posttoday

"บิ๊กตู่"รีเทิร์นนายกฯ โอกาสที่ยากมากขึ้น

13 กันยายน 2561

เส้นทางรีเทิร์นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ ง่ายดายอย่างที่คาดการณ์ แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามปูทางสร้างความได้เปรียบในหลายด้าน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทางรีเทิร์นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ไม่ ง่ายดายอย่างที่คาดการณ์ แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามปูทางสร้างความได้เปรียบในหลายด้าน แต่สุดท้ายทั้งกระแสนิยมและเงื่อนไขหลายประการกำลังจะทำให้ทุกสิ่งที่ทำมาทั้งหมดอาจไม่เกิดผลสำเร็จทางปฏิบัติ

เริ่มตั้งแต่ตัวแปรสำคัญอย่าง "ประชาธิปัตย์" ที่เคยถูกมองว่าจะเป็นกองหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งนั้น

ล่าสุด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรค ประกาศชัดเจนเมื่อถูกถามถึงความเป็นไปได้ที่จะเข้าร่วมกับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังการเลือกตั้งว่า "ถ้าไม่ใช่เป็นเรื่องของการเมืองที่จะมาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรก็คงจะไม่เข้าร่วม"

นั่นหมายความว่าต่อให้พรรคพลังประชารัฐซึ่งประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่หากรวมเสียง สส.ทั้งหมดแล้วไม่อาจได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ทาง "ประชาธิปัตย์" ก็จะไม่เข้าร่วมเป็นรัฐบาลด้วย

แน่นอนว่าสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต่อให้ได้คะแนนเสียงน้อยลงกว่าเดิม แต่ก็ยังมีพลังเพียงพอถึงขั้นอาจชี้เป็นชี้ตายขั้วการเมืองหรือเป็นตัวแปรชี้ขาดฝั่งที่จะมาเป็นรัฐบาล ดังนั้นเมื่อประชาธิปัตย์ประกาศจุดยืนดังนี้  โอกาสที่จะได้ไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐจึงมีแต่จะริบหรี่ ลงไป

เพราะหากพิจารณาในทางปฏิบัติแล้วย่อมเป็นไปได้ยากมากที่ พรรคพลังประชารัฐและพรรคแนวร่วมอื่นๆ จะสามารถผนึกกำลังจนมีเสียงเพียงพอจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

เมื่อพรรคเพื่อไทยในฐานะเจ้าแชมป์เก่าที่เคยได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งที่ผ่านมา แม้เวลานี้จะถูก สั่นคลอนทั้งจากภายในและภายนอก แต่ด้วยฐานเสียงและความเหนียวแน่นในพื้นที่ การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยก็น่าจะยังได้จำนวนเสียงเป็นกอบเป็นกำไม่น้อย

อีกทั้งโอกาสที่ "เพื่อไทย" จะมาผนึกกำลังร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐย่อมเป็นไปได้ยาก สุดท้าย  ทั้งเพื่อไทยและพลังประชารัฐก็จะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล

จากเดิมด้วยตัวช่วย 250 เสียงของ สว.เฉพาะกาล ที่จะมาจากการสรรหาของ คสช. เข้ามาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ซึ่งหากจะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีก็แค่ใช้เสียง จาก สส.เพียงอีก 126 เสียง  ก็จะได้ มากกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภา คือ 376 เสียง จากทั้งหมด 750 เสียง

จำนวนดังกล่าวแม้จะสามารถ ผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ก็เต็มไปด้วยความง่อนแง่นในการบริหาร เพราะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ยากจะบริหารงานได้ในระยะยาว

ยิ่ง "ประชาธิปัตย์" ตั้งเงื่อนไขเช่นนี้ โอกาสที่จะได้ไปร่วมหัวจมท้ายกับพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาลจึงแทบเป็นไปไม่ได้ เว้นเสียแต่พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนมากกว่าหรือสูสีกับพรรคเพื่อไทย

แต่หากย้อนกลับมาพิจารณาในแง่ "ความนิยม" หรือกลไกกระบวนการการทำงานแล้ว พรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ชื่อว่ามีความได้เปรียบทั้งในแง่อำนาจรัฐ อำนาจทุนนั้น แต่ประเมินแล้วก็ยังเป็นไปได้ยากจะที่จะสามารถเอาชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้สำเร็จ

ในแง่บุคลากรแกนนำพรรคที่เลื่อนการเปิดตัวเรื่อยมา ทำให้ภาพความเป็นพรรคเต็มไปด้วยความคลุมเครือ ท่ามกลางกระแสโจมตีเรื่องการเป็นร่างทรง อันจะเข้ามาเป็นกลไกสืบทอดอำนาจ คสช. ซึ่งมีแต่จะฉุดคะแนนนิยมให้ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ

ส่วนกลุ่มสามมิตรที่เดินเกม คู่ขนานอยู่ภายนอกนั้น แม้จะพยายามเปิดตัวอดีต สส.ที่เข้ามาร่วมงานกับทางกลุ่มและเตรียมตัวสวมเสื้อพลังประชารัฐลงสนามเลือกตั้ง แต่ที่ปรากฏหลายคนยังเป็นเพียงแค่อดีตนักการเมืองที่ห่างเวที ห่างพื้นที่ไปนาน จึงไม่ง่ายที่จะหวังให้มาช่วยโกยคะแนนเข้าพรรค

ในขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งมีประสบการณ์และฐานเสียงของ ตัวเองที่เหนียวแน่น แม้จะถูกแช่แข็งมานานกว่า 4 ปี ทว่าในเวลานี้เริ่มกลับมาขยับจนเริ่มเห็นสัญญาณความแข็งแรงที่พร้อมเตรียมลงสนามเลือกตั้งกันอีกครั้ง

สมรภูมิเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพรรคพลังประชารัฐ ในวันที่กระแสต่อต้าน คสช.รุนแรงหนักขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากผลงานการบริหารงานที่ยังไม่เข้าตาประชาชน และท่าทีความพยายามยื้อการเลือกตั้งออกไปอย่างไม่มีกำหนด ตลอดจนการอาศัยอำนาจในมือไปในทางที่ที่ถูกมองว่าเพื่อชิงความได้เปรียบ ตั้งแต่เรื่องการคลายล็อก ตลอดจนเงื่อนไขการหาเสียง

ไม่ต่างจากพรรคพันธมิตรที่มีจุดร่วมในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นกำลังสำคัญ พรรคประชาชนปฏิรูป ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งประเมินทิศทางลมแล้วต่อให้รวมพลังก็ยังยากจะได้คะแนนเสียงรวมเพียงพอจัดตั้งรัฐบาล

ขณะที่หากสำรวจส่วนฝั่ง "เพื่อไทย"  พันธมิตรที่ชัดเจนทั้งพรรคเสรีรวมไทยของเสรีพิศุทธ์  เตมียาเวส  พรรคอนาคตใหม่ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคประชาชาติของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งน่าจะยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่ง เมื่อต้องผนึกกำลังจัดตั้งรัฐบาล

ปัจจัยต่างๆ ล้วนแต่ทำให้การกลับมาของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นไปได้ยากมากขึ้น