posttoday

ปั้มหัวใจลงทุน...ฝ่าวิกฤตบาทแข็ง

22 ตุลาคม 2553

มรสุมค่าเงินบาทแข็ง สร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจไทยไม่น้อย

มรสุมค่าเงินบาทแข็ง สร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจไทยไม่น้อย

โดย...ทีมข่าวการเงิน

มรสุมค่าเงินบาทแข็ง สร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจไทยไม่น้อย เพราะค่าเงินบาทมีแต่แข็งขึ้นกับทรงตัว ไม่มีการอ่อนค่าลงให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้พักหายใจ

 

ปั้มหัวใจลงทุน...ฝ่าวิกฤตบาทแข็ง

ตั้งแต่ต้นปีมาถึงวันนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ติดตามการแข็งค่าของเงินบาท พบว่าแข็งค่าไปแล้วถึง 9% เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในภูมิภาคนี้

หากนำตัวเลขไปใส่โมเดลของ สศค. ว่าการแข็งค่าเงินบาททุก 1% จะกระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้หายไป 0.3% และกระทบกับการขยายตัวของการส่งออก 0.4%

จะพบว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกระทบเศรษฐกิจไปแล้ว 2.7% และกระทบส่งออกไปแล้ว 3.6%

จากตัวเลขเห็นได้ชัดว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจเจอพิษของค่าเงินบาทอย่างจัง และเมื่อลงไปดูรายภาคอุตสาหกรรมพบว่า ภาคการส่งออกที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจไทย มีสัดส่วน 6070% ของจีดีพี ได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ ชนิดที่เรียกได้ว่าทุนหายกำไรหด

ในส่วนของผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ก็ต้องบอกว่า ล้มทั้งยืน ...สายป่านสั้น เข้าไม่ถึงการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ขายของไม่ได้ ต้องเลิกจ้างแรงงาน

บางรายถึงขนาดจะต้องปิดโรงงานในไม่ช้า เนื่องจากไม่สามารถผ่านคลื่นลมนี้ไปได้

รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาที่จะลามเป็น “ลูกโซ่” ว่า หากปล่อยไปจะสาหัสเกินแก่ แต่ขณะเดียวกันหากอุ้มผู้ประกอบการส่งออกโดยไม่ลืมหูลืมตา ก็อาจจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งภาค 2 ได้

ตลอดปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องไม่ให้แข็งค่ารวดเร็ว จะเห็นได้จากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมาอยู่ที่ระดับ 1.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

แต่การเข้าแทรกแซงของ ธปท. ก็มีข้อจำกัด เพราะมีต้นทุน “ไม่ใช่ของฟรี” เมื่อไปถึงจุดหนึ่งก็ต้องเพลามือ ยิ่งค่าเงินที่แข็งขึ้นมาจากการไหลเข้าของเงินทุนที่มาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข้งแกร่งเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา และ ยุโรป

รวมถึงอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่สูงกว่านอกประเทศ ล้วนเป็น “น้ำหวาน” ที่ดึงดูดเงินทุนต่างชาติให้ไหลบ่าเข้ามาในประเทศยังปฏิเสธไม่ได้

ดังนั้นค่าเงินบาทย่อมมีแต่แข็งขึ้นไม่มีอ่อนลงทั้งในระยะสั้น และระยะปาน กลาง 23 ปี ต่อจากนี้ไป

มาตรการของรัฐบาลที่ออกมา ทำได้แค่เพียงการบรรเทาการแข็งค่าของเงินบาทให้น้อยลง

อีกทางหนึ่งก็ทุ่มไปที่การบรรเทาความเดือดร้อนกับผู้ประกอบการส่งออกรายเล็กรายน้อย

โดยสาระสำคัญของมาตรการมีทั้งการยกเลิกการยกเว้นการเก็บภาษี ณ ที่จ่าย 15% สำหรับดอกเบี้ยที่นักลงทุนต่างชาติได้จากการซื้อพันธบัตรรัฐบาล

หลังจากพบว่าเงินทุนไหลเข้ามากินส่วนต่างๆ ดอกเบี้ยในส่วนนี้เร่งตัวสูงมาก เฉพาะเดือนที่ผ่านมามีเงินไหลเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลถึง 7 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ที่เหลือเป็นมาตรการให้ธนาคารของรัฐเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงช่วยให้ผู้ส่งออกเอสเอ็มอีเข้าถึงการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงให้มีแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเสริมสภาพค่องเพิ่มสายป่านให้ยาวมีลมหายใจต่อชีวิตธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้

จะเห็นได้ว่ามาตรการทั้งหมดเป็นมาตรการระยะสั้น ผ่อนหนักเป็นเบา ยังไม่ได้เข้าไปแก้ถึงแก่นของปัญหาจริง

แม้แต่ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ก็ออกมาส่งสัญญาณชัดเจนว่ายุคค่าเงินบาทอ่อนไม่มีอีกแล้ว ดังนั้นผู้ประกอบการต้องไม่ “งอมืองอเท้า” รอความหวังลมๆ แล้งๆ อีกต่อไปว่า รัฐบาลจะเป็น “อัศวินม้าขาว” มาช่วยอยู่ตลอดเวลา

กุญแจสำคัญของการแก้ไขค่าเงินบาท คือ การทำให้ผู้ประกอบการส่งออกปรับตัวรับกับการแข็งค่าให้ได้เร็วที่สุด

แต่โจทย์ใหญ่คือรัฐบาลจะมียาหอมอะไรกล่อมให้ผู้ประกอบการปรับตัวให้เร็วขึ้น เพราะลำพังจะรอให้ผู้ประกอบการปรับตัวเองโดยไม่มีโบนัสแถมเป็นเรื่องที่ยากเย็นเหลือเกิน

ดังนั้น คลังจึงคิดออกมาตรการแรง เพื่อ “กระชากใจ” ผู้ประกอบการส่งออกให้ปรับตัวครั้งใหญ่ โดยมีการคิดให้หักค่าเสื่อมจากการลงทุนเครื่องจักรใหม่ให้หักค่าเสื่อมในปีแรกได้ 100% ทันที จากเดิมที่ต้องทยอยหักปีละ 20% ในเวลา 5 ปี

นั่นหมายความว่าหากผู้ประกอบการลงทุนในการปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ 100 บาท สามารถนำมาเป็นรายจ่ายหักค่าเสื่อมในปีแรกได้ทั้งก่อน 100 บาท ทำให้มีรายได้ลดลง เสียภาษีน้อยลงไปด้วย
ด้วยมาตรกานี้ รัฐบาลหวังว่าจะเป็นตัวเร่งทำให้ผู้ประกอบการลงทุนใหม่เร็วกว่าที่กำหนดตั้งไว้ แต่ก็ไม่ใช่ง่าย

ปัญหาของมาตรการนี้ อยู่ตรงที่กรมสรรพากรจะสูญเสียเม็ดเงินภาษีถึง 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจจะมีปัญหากับเป้าหมายการเก็บรายได้ของกรมได้

นอกจากนี้ยังต้องมีการศึกษาให้แน่ใจว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการที่จะหักค่าเสื่อมทั้ง 100% ในปีแรกทั้งหมดจริง เพราะว่าในปีแรกเสียภาษีน้อยลงจริง แต่ในปีต่อไปก็ต้องเสียภาษีมากขึ้น เพราะไม่มีรายจ่ายจากค่าเสื่อมให้เหลือทยอยให้หักแบบเก่า

ดังนั้น หากเป็นเช่นดังกล่าว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อาจจะเมินการหักลดหย่อน 100% และเลือกที่จะหักค่าเสื่อมแบบเดิม 5 ปี ก็ทำให้มาตรการนี้ไร้ผลไม่มีแรงมากพอที่จะให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็เชื่อว่า มาตรการนี้จะเป็นประโยชน์และได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการส่งออก ที่มีการนำเข้าเครื่องจักรปีหนึ่งถึง 78 แสนล้านบาท หากนำมาเป็นรายจ่ายหักค่าเสื่อมได้ 100% จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดมากพอสมควร

ตอนนี้ ก็ต้องรอวัดใจกรมสรรพากร จะกล้าชงเรื่องนี้ขึ้นมาแบบไม่มีกั๊ก ที่เหมือนให้แต่ไม่ให้หรือไม่

เพราะก่อนหน้านี้ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ที่ดูแลกรมสรรพากร และกรมศุลกากร ก็ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่า หากกรมสรรพากรยอมให้หักค่าเสื่อมได้ 100% ก็จะประสานมาตรการลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรวัสดุของกรมศุลกากรที่เก็บอยู่ 13% เข้าไปด้วย เพื่อโน้มน้าวใจผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพของบริษัทให้มากที่สุด

หากกรมสรรพากรไฟเขียว ก็เชื่อว่านายกรณ์จะเห็นชอบและผลักดันให้ ครม.อนุมัติทันที

เพราะในภาวะอย่างนี้หนทางเดียวที่จะรอดจากปัญหาค่าเงินบาทแข็ง คือ การปรับตัว ทำตัวเองให้เข้มแข็ง ให้เก่งขึ้น และก็มีสินค้าที่ดีกว่าคู่แข่งเท่านั้น ถึงจะอยู่ตลอดรอดฝั่งได้

ส่วนการแข่งขันด้านราคา จากการเพลิดเพลินค่าเงินบาทอ่อนถือเป็นอดีตที่ไม่มีวันหวนกลับมาแล้ว การเป็นที่พึ่งแห่งตนเป็นปรัชญาเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตค่าเงินบาทในระยาวได้เท่านั้น