posttoday

คลายไพรมารีโหวต เข้าทาง 'พลังประชารัฐ'

31 สิงหาคม 2561

เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจน สำหรับการคลายล็อกการเมืองโดยเฉพาะการทำไพรมารีโหวต ภายหลังคสช. เตรียมใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนเป็นลำดับแล้วสำหรับการคลายล็อกการเมืองโดยเฉพาะการทำไพรมารีโหวต ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เตรียมใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

ในประเด็นนี้ "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เตรียมจะนำการทำไพรมารีโหวตของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เคยเสนอไว้ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับแรกมาเป็นต้นแบบ

"คงไม่มีการทำไพรมารีโหวตตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จึงเห็นว่าวิธีการที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอมาแต่แรก คือ ให้มีกรรมการสรรหาขึ้นมาในพรรค

ประกอบด้วย 11 คน มาจากตัวแทนกรรมการบริหาร 4 คน จากสมาชิกพรรค 7คน ลงไปคุยกับสมาชิกแต่ละเขต แล้วรวบรวมรายชื่อผู้สมัครมาเสนอให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณาอีกครั้ง ซึ่ง คสช.ได้ระบุว่าแนวทางนี้มีความเป็นไปได้สูง" รองนายกฯ วิษณุ ระบุ

ท่าทีของวิษณุที่ออกมานั้นนับว่ามีนัยทางการเมืองเป็นอย่างมาก เนื่องจากสูตรการทำไพรมารีโหวตที่ปรากฏให้เห็นในกฎหมายพรรคการเมืองนั้นมาจากการตัดต่อของคณะกรรมาธิการวิสามัญใน สนช. ซึ่งเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่ กรธ.เคยเสนอเข้า สนช.ตอนแรก แต่เมื่อรัฐบาลและ คสช.กำลังจะกลับไปใช้โมเดลของ กรธ. เท่ากับว่าเป็นการหักหน้า สนช.เข้าอย่างจัง

เดิมทีการทำไพรมารีโหวตเวอร์ชั่น กรธ.ไม่ได้มีความเข้มงวดเมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นของ สนช.

กล่าวคือ กรธ.กำหนดให้การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง

ประกอบด้วยบุคคลและจำนวนตามที่กำหนดในข้อบังคับ แต่อย่างน้อยต้องมีกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่เกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ซึ่งเลือกกันเองจนครบจำนวน

แต่ของ สนช.กำหนดให้ต้องมีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือสาขาพรรคการเมือง ซึ่งต้องมาจากการเลือกของสมาชิก โดยการได้มาซึ่งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดและสาขาพรรคการเมืองก็มีความยุ่งยากพอสมควร เช่น การตั้งสาขาพรรคการเมืองในจังหวัดใด จะต้องมีสมาชิกพรรคในเขตพื้นที่นั้น 500 คนขึ้นไป เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้นกฎหมายยังได้ล็อกคออีกว่าหากในพื้นที่ใดพรรคการเมืองไม่ได้ทำไพรมารีโหวต จะมีผลให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัคร สส.ในเขตเลือกตั้งนั้นได้ ซึ่งส่งผลเสียหายเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าระบบการ เลือกตั้งของไทย ใช้วิธีการนับคะแนนเพื่อเลือก สส.ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อด้วยบัตรเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเพียงใบเดียว เท่ากับว่าหากพรรคการเมืองพลาดการส่งผู้สมัคร สส.ในเขตใดเขตหนึ่ง แน่นอนว่าคะแนนจะหายไปฟรีๆ จำนวนหนึ่งเลยทีเดียว

แต่เมื่อพลิกไปดูกติกาที่ สนช.ได้ออกแบบ ปรากฏว่าสร้างความรุงรังให้กับพรรคการเมืองไม่น้อย ซึ่งเมื่อครั้งที่ สนช.ได้พิจารณาร่างกฎหมายพรรคการเมือง ยังไม่ปรากฏข่าวว่าจะมีการตั้งพรรค พลังประชารัฐเพื่อเป็นฐานที่มั่นให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชากลับเข้ามาเป็นนายกฯ อีกครั้ง จึงทำให้ สนช.เดินหน้าวางกติกาเพื่อสกัดพรรคการเมืองอย่างเต็มที่

ทว่า ภายหลังมีข่าวและความเคลื่อนไหวถึงการจะลงสนามเลือกตั้งของ คสช. กติกาที่ สนช.ได้กำหนดเอาไว้และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ ไม่เพียงแต่สร้างผลเสียต่อพรรคการเมืองปัจจุบันเท่านั้น แต่พรรคการเมืองใหม่ก็ต้องมาโดนหางเลขไปด้วย ไม่เว้นแม้แต่พรรคพลังประชารัฐที่ต้องเดินหน้าทำไพรมารีโหวต

จึงอย่าได้แปลกใจว่าทำไม พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิก สนช. ที่เป็นอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญที่พิจารณากฎหมายพรรคการเมืองของ สนช. ถึงอารมณ์บ่จอยเมื่อเห็น คสช.กำลังใช้มาตรา 44 เพื่อรื้อโมเดลไพรมารีโหวตเวอร์ชั่น สนช.

อย่างไรก็ตาม มาถึงจุดนี้ถ้ามองในมุมของ คสช.และรัฐบาลย่อมเห็นได้ว่าการกลับไปใช้โมเดลของ กรธ.น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เป็นเพราะอย่างน้อยโมเดลของ กรธ.การันตีแน่นอนว่าจะไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติเรื่องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างแน่นอน

อีกทั้งยังไม่ได้เป็นการหักด้ามพร้าด้วยเข่ากับพรรคการเมืองปัจจุบันมากเกินไป เนื่องจากร่างกฎหมายพรรคการเมืองของ กรธ.ส่วนใหญ่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองมาพอสมควรแล้ว ประกอบกับกติกาของ กรธ.ก็ไม่ได้ตึงเกินไปถึงขนาดที่พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการได้ภายใต้เวลาที่จำกัด

เหนืออื่นใด พรรคการเมืองใหม่ทุกพรรครวมทั้งพรรคพลังประชารัฐจะได้รับอานิสงส์ไปด้วย เพราะพรรคการเมืองน้องใหม่คงไม่มีความสุขแน่ หากจะต้องมาเสียต้นทุนในการหาสมาชิกพรรคทั่วประเทศเพื่อทำ ไพรมารีโหวต

เรียกได้ว่างานนี้เข้าทางพรรคพลังประชารัฐเข้าอย่างจัง