posttoday

'บิ๊กป้อม'พ้น คตช. พยุงภาพเอาจริงปราบทุจริต

17 สิงหาคม 2561

คำสั่งมาตรา 44 ปลด "บิ๊กป้อม" ออกจากบอร์ด คตช. ทำให้คาดการณ์กันว่าจะสร้างรอยบาดหมางใน คสช.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับว่ามีนัยทางการเมืองสูงจนอาจส่อเค้าเกิดเป็นรอยร้าวรุนแรงขึ้นในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่าง "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ คตช. กับ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

ชนวนเกิดจาก "บิ๊กตู่" ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แบบไม่ไว้หน้ารื้อใหญ่คณะกรรมการ คตช.ยกชุด ดูผิวเผินรายชื่อคณะกรรมการ คตช.ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ยกเว้นชื่อ "บิ๊กป้อม" หลุดตำแหน่งที่ปรึกษา คตช.เท่านั้นเอง จึงไม่น่าแปลกใจเหตุใดสัปดาห์ก่อน "บิ๊กตู่" กับ "บิ๊กป้อม" ใส่คอนเวิร์สเดินสวนทางกันตลอดระหว่างไปร่วมงานสำคัญของกองทัพ เมื่อคนหนึ่งมา ส่วนอีกคนหนึ่งกลับไปพอดี แถมยังไม่ทักทายหรือมองหน้ากันอีก กลายเป็นชนวนน่าคิดทางการเมืองถึงความสัมพันธ์ระหว่าง "บิ๊กตู่" กับ "บิ๊กป้อม" ยังดีกันอยู่หรือไม่

ก่อนจะมาถึงแตกหักตรงจุดนี้ คงจำกันได้ก่อนหน้านี้เกิดความขัดแย้งรุนแรงภายในบอร์ด คตช. เมื่อ "ต่อตระกูล ยมนาค" หัวเรือใหญ่ภาคเอกชนเข้ามานั่งเป็นประธานอนุกรรมการด้านทุจริต  คตช. จู่ๆ ก็ออกโรงมาถล่ม พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร แบบไม่ไว้หน้า ด้วยการยื่นจดหมายเปิดผนึกกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ปลด พล.อ.ประวิตร ออกจากตำแหน่งกรรมการ คตช. เพราะรับไม่ได้กับคดีที่ "บิ๊กป้อม" ติดมลทินคดีนาฬิกาหรูกับแหวนเพชร ที่อ้างว่ายืมเพื่อนมาใส่ คดียังค้างอยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วยข้อหาไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินฐานร่ำรวยผิดปกติ จึงเป็นที่มาว่าเหตุใดตลอดหลายเดือนตั้งแต่ตั้ง คตช. ไม่มีการเรียกประชุม คตช.ชุดใหญ่เลย

ความเคลื่อนไหวของ "ต่อตระกูล" สั่นสะเทือนภาพลักษณ์รัฐบาลด้านปราบโกงเรตติ้งตกวูบ เพราะถูกมองว่า "บิ๊กตู่" ปกป้องพวกพ้อง ที่ร้ายไปกว่านั้นคือสร้างความผิดหวังให้กับภาคเอกชนในวงกว้างที่เคยให้ความเชื่อมั่นและความร่วมมือกับรัฐบาล คสช. เพราะไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนใดคล้อยตามข้อเสนอภาคเอกชนเรื่องปราบโกงได้มากเท่า "บิ๊กตู่" อาทิ งัดมาตรา 44 เด้งข้าราชการตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแม้แต่นักการเมืองท้องถิ่นนับร้อยคนต้องพักงาน หรือบางคนต้องชดใช้กรรมในคุกหากพัวพันการทุจริต หรือการออกกฎหมาย พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก แก้ปัญหาเรียกเงินใต้โต๊ะจากการขออนุญาตต่างๆ จากภาครัฐ รวมทั้งการใช้ข้อตกลงคุณธรรม และอี-บิดดิ้ง ทำสัตยาบันระหว่างหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ท้องถิ่นกับผู้รับเหมา มาสาบานว่าจะไม่ฮั้วประมูล นับเป็นผลงานเข้าตาภาคเอกชน

พอ "บิ๊กตู่" นิ่งเงียบกับข้อเสนอปลด "บิ๊กป้อม" อีกไม่นาน "ประมนต์ สุธีวงศ์" ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะกรรมการ คตช.อีกคน ก็ออกมาผสมโรงสำทับควรเด้ง "บิ๊กป้อม" ถึงขนาดพูดว่าถ้าผู้ใหญ่ในรัฐบาลทำอะไรที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่เอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการทุจริต เป็นแบบนี้แล้วจะทำให้ประชาชนที่สนับสนุนถดถอยไปด้วย

ปมนาฬิกาเพื่อนวนกันใส่ไม่ใช่เรื่องแรกที่เป็นแรงกดดันทางการเมือง "บิ๊กตู่" เป็นเพียงชนวนก่อนถึงจุดระเบิด แต่ตลอดเกือบ 4 ปี "บิ๊กป้อม" โดนถล่มหนักเกี่ยวกับภาพลักษณ์ไม่เคลียร์มาโดยตลอด อาทิ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ในกองทัพ โครงการจัดหาเรือดำน้ำ จำนวน 3 ลำ โดยคณะกรรมการคัดเลือกเรือดำน้ำมีมติคัดเลือกซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน รุ่น S-26T รวมอาวุธและอะไหล่ โดยใช้งบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาเสริมสร้างแสนยานุภาพทางการทหารและพิทักษ์น่านน้ำของประเทศไทย

โครงการนี้ถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็นและความเหมาะสม เนื่องจากเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้งบประมาณมหาศาลในช่วงที่ประเทศอยู่ในภาวะเศรษฐกิจขาลง และในภาวะปกติเรือดำน้ำมีสมรรถนะด้านการรบไม่ใช่การช่วยชีวิต ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้ในด้านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหรือใช้ปราบโจรสลัดได้

อีกเรื่องที่ "บิ๊กป้อม" โดนถล่มจนภาพลักษณ์สาหัสไม่แพ้กันคือ ตอน "บิ๊กป้อม" นำคณะเกือบ 40 ชีวิตร่วมทริปบินหรูไปปฏิบัติภารกิจประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ อย่างไม่เป็นทางการ ณ เมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 ก.ย.-2 ต.ค. 2559 เป็นการเดินทางแบบเช่าเหมาลำเครื่องบินของบริษัท การบินไทย ใช้งบประมาณไป 20 ล้านบาท จนถูกสังคมเสียดสีถึงความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชน เพราะแค่ค่าอาหารค่าใช้จ่ายก็ปาไป 6 แสนบาท รวม 4 มื้อ แถมยังมีการเสิร์ฟไข่ปลา คาเวียร์ เฉพาะที่นั่งชั้น 1 มีเพียง 9 ที่นั่งสำหรับวีไอพีในทริป ส่วนที่นั่งที่เหลือทั้งลำบรรจุได้ 416 ที่นั่งว่างโล่ง

แม้จะมีกระแสออกมาเรียกร้องทั้งให้ปลดหรือปรับ "บิ๊กป้อม" ออกจาก ครม. สุดท้ายก็เงียบหายไปแบบไร้ร่องรอย แต่คำสั่งมาตรา 44 ที่ปลด "บิ๊กป้อม" ออกจากบอร์ด คตช.ครั้งนี้ จึงทำให้คาดการณ์กันต่างๆ นานาว่าจะสร้างรอยบาดหมางใน คสช. และบทสรุปอนาคตทางการเมืองของพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ใน ครม. และ คสช.ต่อไปจะลงเอยอย่างไร ต่อไปยิ่ง "บิ๊กตู่" ต้องตรึงภาพลักษณ์ด้านปราบโกงซึ่งเป็นจุดแข็งในการทำคะแนนนิยมปูทางการเมืองสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า จึงต้องกลั้นใจทำบางอย่างเพื่อให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย