posttoday

อุ้ม"สามมิตร"ฉุดความเชื่อมั่น คสช.

16 สิงหาคม 2561

เมื่อการบังคับใช้กฎหมายกลับเหมือนถูกเลือกปฏิบัติและบังคับใช้อย่างไม่เท่าเทียมย่อมมีแต่จะกัดกร่อนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย

เมื่อการบังคับใช้กฎหมายกลับเหมือนถูกเลือกปฏิบัติและบังคับใช้อย่างไม่เท่าเทียมย่อมมีแต่จะกัดกร่อนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย

**********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สัญญาณไฟเขียวจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เสมือนใบเบิกทางให้ท้าย “กลุ่มสามมิตร” สามารถเดินหน้าเคลื่อนไหวทำกิจกรรมการเมืองได้แบบไม่ต้องกังวลข้อจำกัดเรื่องคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ห้ามพรรคการเมืองอื่นๆ เคลื่อนไหวตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

“กลุ่มสามมิตรเป็นใคร เป็นพรรคการเมืองหรือยัง ที่รู้เขายังไม่ได้เป็นพรรค” พล.อ.ประวิตร ให้เหตุผลว่า ถ้าเป็นพรรคการเมือง หรือเป็นสมาชิกอยู่ในพรรคการเมืองไม่สามารถทำได้

ที่สำคัญในประเด็นขัดคำสั่ง คสช.นั้น กลับระบุว่า ไม่ทราบว่ากลุ่มสามมิตรไปเคลื่อนไหวแบบไหน อีกทั้งรัฐบาลและ คสช.ไม่ได้วางกรอบอะไรว่าการเคลื่อนไหวแบบใดเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ก็ว่าไปตามกฎหมาย

คำพูดจากปาก พล.อ.ประวิตร จึงคล้ายประกาศิตอุ้มให้กลุ่มสามมิตรสามารถเดินหน้าทั้ง “ดูด” หรือ “เคลื่อนไหว” ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แบบไร้ข้อจำกัดถึงขั้นเคยรับปากผู้นำท้องถิ่น จ.นครราชสีมา ว่าจะนำข้อเสนอเรื่องแยก อ.บัวใหญ่ ออกเป็นจังหวัด ไปจนถึงการขอขึ้นเงินเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน และแพทย์ประจำตำบล อันนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าทั้งเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

สวนทางจากก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นบรรดาสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งแค่ออกมาแสดงความคิดความเห็นยังถูกห้ามปราม หลายคนถึงขั้นเรียกตัวไปปรับทัศนคติ อีกทั้งการจัดสัมมนาเวทีวิชาการที่ถูกทหารเข้าไปควบคุมหรือสั่งล้มเวทีในหลายพื้นที่

แม้แต่กรณี สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และออกตัวเตรียมลงพื้นที่เดินสายพบประชาชน แต่ทาง พล.อ.ประวิตร ยังออกมาปราม เพราะ คสช.ยังไม่ปลดล็อกให้ทำกิจกรรม

สุดท้าย “กลุ่มสามมิตร” จึงกลายเป็นกลุ่มเดียวที่สามารถเคลื่อนไหวได้ในเวลานี้ และยังไม่มีทีท่าจะหยุดหรือยกเลิกการเดินสายทำกิจกรรมในพื้นที่ ล่าสุดยังประกาศเตรียมลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สอดรับกับที่ ดร งามธุระ ที่ปรึกษากฎหมายกลุ่มสามมิตร ออกมาชี้แจงว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรทำได้ เพราะกลุ่มสามมิตรไม่ได้มีสภาพเป็นพรรคการเมือง การลงพื้นที่เป็นเพียงแต่ไปรับฟังปัญหาของชาวบ้านเพื่อหาทางช่วยแก้ปัญหา และการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มสามมิตรไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมชนทางการเมืองกันเกิน 5 คน

“กลุ่มสามมิตรมีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ได้ไปเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือสร้างความวุ่นวายแก่บ้านเมือง แต่ไปร่วมสร้างความเข้าใจให้คนไทยรักกัน ดังนั้นกิจกรรมของกลุ่มจึงอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายทุกประการ”

อีกด้านหนึ่งสัญญาณจากบิ๊ก คสช.ที่ปรากฏเช่นนี้ ยังอาจมีผลต่อทิศทางการพิจารณาเอาผิดของบรรดาองค์กรอิสระที่จะต้องทำหน้าที่พิจารณารับเรื่องร้องเรียนว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรขัดต่อกฎหมายหรือไม่อย่างไรด้วย

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการ เลือกตั้ง (กกต.) เคยออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า แม้กลุ่มสามมิตรยังไม่จดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง โดยเป็นเพียงกลุ่ม แต่ถ้าเป็นกลุ่มการเมืองแล้วมาอ้างว่าเป็นพรรคการเมือง จะเป็นความผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

ส่วนกรณีจะขัดกับคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปหรือไม่นั้น เรื่องนี้ต้องดูหลายอย่างประกอบกัน ต้องไต่สวนข้อเท็จจริง เพราะการจะลงโทษใครต้องชัดเจน กกต.ตรวจสอบทุกเรื่อง หากมีเหตุอันควรสงสัยสามารถดำเนินการได้

เมื่อการบังคับใช้กฎหมายถูกมองว่ามีหลายมาตรฐาน กลุ่มการเมืองที่มีความใกล้ชิดอำนาจรัฐสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ขณะที่พรรคการเมืองอื่นยังไม่อาจแม้แต่จะออกมาแสดงความคิดความเห็น ย่อมเป็นชนวนสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองเป็นอย่างมากในช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายเริ่มต้นนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง

ปัญหานี้มีแต่จะซ้ำเติมเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการช่วงชิงความได้เปรียบให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นและย้อนกลับมาฉุดความเชื่อมั่น คสช.และพรรคการเมืองของ คสช.ที่ออกตัวได้ก่อนกรรมการเป่านกหวีดให้เริ่มการแข่งขัน

ยิ่งกิจกรรมของกลุ่มสามมิตรที่มีทั้งเรื่องดูด และหลายเรื่องยังเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ ทั้งหมดยิ่งทำลายความสง่างามของพรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช. ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการทำตัวอย่างวางบรรทัดฐานการเมืองที่ดีให้สมกับที่เคยประกาศจะเดินหน้าปฏิรูปการเมืองให้สำเร็จลุล่วงให้ได้

ที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อกฎกติกา ซึ่งแม่น้ำ 5 สายพยายามออกแบบมาเพื่อตีกรอบควบคุมการกระทำของบรรดานักการเมืองตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องให้ประพฤติตัวอยู่ในแนวทางบรรทัดฐานที่ควรจะเป็นนั้น สุดท้ายการบังคับใช้กฎหมายกลับเหมือนถูกเลือกปฏิบัติและบังคับใช้อย่างไม่เท่าเทียมย่อมมีแต่จะกัดกร่อนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย

แถมยังจะพานกระทบไปถึงความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ อันจะเป็นส่วนสำคัญในการตรวจสอบถ่วงดุลในระบบนิเวศการเมืองในอนาคต