posttoday

เกียร์ถอย "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" ลดแรงต้านก่อนไฟลาม

15 สิงหาคม 2561

หมากเกมนี้กำลังเดินเข้าสู่ตอนสุดท้ายที่จะได้เห็นว่า 36 สนช.จะหาทางลงจากหลังเสืออย่างไร เพื่อไม่ให้ดูเป็นผู้ร้ายในสายตาของสังคม

หมากเกมนี้กำลังเดินเข้าสู่ตอนสุดท้ายที่จะได้เห็นว่า 36 สนช.จะหาทางลงจากหลังเสืออย่างไร เพื่อไม่ให้ดูเป็นผู้ร้ายในสายตาของสังคม

***************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการสรรหา ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดูท่าว่าจะบานปลายเป็นประเด็นการเมืองแล้ว ภายหลังเสียงท้วงติงจากภายนอกต่อเรื่องนี้มากพอสมควร

เดิมทีกฎหมาย กกต.ที่ สนช.ได้ตัดต่อจากต้นฉบับที่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอมานั้นไม่ได้ไปแตะต้องอะไรมากนัก ยังปล่อยให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพื่อต้องการให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่แทน กกต.จังหวัด ซึ่งมีปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะความเป็นกลางทางการเมืองและความใกล้ชิดกับนักการเมือง
จึงต้องให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มาจากกระบวนสรรหาจากหลายภาคส่วน

แต่ปรากฏว่าโครงสร้างของคณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งได้กำหนดให้ กกต.สามารถไปออกระเบียบเพื่อออกแบบวิธีการได้มาซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้งเอาเอง จนกระทั่ง กกต.สามารถสรรหาบุคคลได้มา 616 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการรับฟังข้อมูลจากภาคประชาชนว่ามีใครที่เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามเรื่องความไม่เป็นกลางทางการเมือง หรือกรณีอื่นๆ ที่อาจทำให้ขาดคุณสมบัติและเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

ระหว่างนี้ สนช.กลับพยายามเสนอร่างกฎหมายเพื่อล้มกระบวนการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้ง ภายใต้ข้ออ้างว่าต้องการให้กระบวนการสรรหาที่บัญญัติไว้ในระเบียบของ กกต.ได้รับการยกระดับมาอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญแทน เพื่อให้กฎหมายมีนิติฐานะที่มีความมั่นคงมากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้สมาชิก สนช.จำนวน 36 คน ที่ริเริ่มเรื่องนี้จะอ้างว่ามีข้อดีขนาดไหน แต่ไม่อาจทำให้ลดกระแสต้านไปได้ เพราะสิ่งที่สมาชิก สนช.กำลังดำเนินการนั้นแทบจะไม่ต่างอะไรกับการล้ำเส้นเข้าไปในพื้นที่การทำงานของ กกต. เสียงวิจารณ์ในมุมนี้ไม่ได้มีแค่จากบุคคลภายนอกเท่านั้น แม้แต่คนใน สนช.ด้วยกันเองก็ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไรนัก

สนช.จำนวนไม่น้อยได้มีการมองว่าหากสมาชิก สนช.36 คน เดินหน้าแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ แม้จะมีสิทธิเข้าชื่อแก้ไขได้ แต่อาจสร้างปัญหาในอนาคต

โดยปกติแล้วการแก้ไขหรือการเสนอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญควรเป็นไปในรูปแบบที่องค์กรอิสระเสนอมายังสภา โดยผ่านทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอเข้าสภา หากไปใช้ทางลัดแบบที่สมาชิกสนช.จำนวน 36 คนกำลังทำอยู่ อาจกลายเป็นบรรทัดฐานให้ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถใช้อำนาจนิติบัญญัติเสนอกฎหมายล้วงลูกองค์กรอิสระได้ และผลร้ายจะลามมาถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วย

จากช่องโหว่ที่สมาชิก สนช. 36 คนพยายามเปิดไว้ดังกล่าว จะนำมาซึ่งพฤติกรรมเลียนแบบของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต เพื่อเดินหน้าใช้เสียงข้างมากแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ไม่เป็นคุณกับนักการเมือง เช่น พรรคการเมืองที่มีการทำไพรมารีโหวต หรืออาจลามไปถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง เป็นต้น

ถึงเวลานั้นถ้าสภานักการเมืองทำขึ้นมาโดยอ้างแนวทางที่ สนช.ทำไว้ ไม่มีอะไรที่จะมาต้านสภานักการเมืองได้ เนื่องจาก สนช.ได้สร้างบรรทัดฐานไว้แล้ว เรียกได้ว่าเป็นการเขี่ยลูกเข้าเท้าฝ่ายตรงข้ามเข้าอย่างจัง ซึ่งย่อมเป็นเรื่องที่ คสช.ไม่ค่อยพอใจอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ได้เห็นแรงกดดันภายใน สนช. ด้วยกันเองในการให้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากระบบของ สนช.

“ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็ต้องถอย แต่ถ้าเสียงสนับสนุนมากกว่าก็เดินตามกระบวนการ และถ้าเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของวิป สนช.จะชัดเจนว่าจะเดินหน้าหรือไม่” การให้สัมภาษณ์ที่แสดงนัยทางการเมืองจาก ‘สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย’ รองประธาน สนช.คนที่ 1

อย่างไรก็ตาม หากที่สุดแล้วสมาชิก สนช. 36 คน ต้องถอนกฎหมายฉบับนี้ออกไปจริง ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นความพ่ายแพ้แบบหมดรูป แต่กลับเป็นชัยชนะเล็กๆ ต่างหาก เพราะสามารถทำให้ กกต.ชุดปัจจุบันยุติการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งได้

ดังนั้น หมากเกมนี้กำลังเดินเข้าสู่ตอนสุดท้ายที่จะได้เห็นว่า 36 สนช.จะหาทางลงจากหลังเสือเรื่องนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้ดูเป็นผู้ร้ายในสายตาของสังคม