posttoday

"ไพรมารีโหวต" จุดป่วน คสช.

14 สิงหาคม 2561

การยื้อเวลาปลดล็อก แล้วขยับปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการทำไพรมารีโหวตจึงอาจไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องกับสิ่งที่ คสช. ประกาศ

การยื้อเวลาปลดล็อก แล้วขยับปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการทำไพรมารีโหวตจึงอาจไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องกับสิ่งที่ คสช. ประกาศ

***************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ล่าสุดที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมยกเลิกข้อบัญญัติ​บางประการในคำสั่งหัวหน้า คสช. รวมทั้งประเด็นการปลดล็อกทางการเมืองเพื่อให้แต่ละพรรคสามารถดำเนินการอันสอดรับกับแนวทางตามกฎหมายใหม่โดยเฉพาะการจัดทำไพรมารีโหวต

เบื้องต้นที่ประชุมเคาะเหลือ​ 2 แนวทางในการจัดทำไพรมารีโหวต คือ 1.การทำจัดทำไพรมารีโหวตระดับภาค และ 2.ใช้วิธีการอื่นๆ ในการรับฟังความคิดเห็นสมาชิกพรรคในการคัดเลือกผู้สมัครตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ร่างไว้ตั้งแต่ต้น

ทั้งนี้ คสช.เห็นชอบทั้งสองแนวทางดังกล่าวเพราะไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พร้อมมอบหมายให้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ เพื่อตัดสินใจเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง

ส่วนแนวทางการยกเลิกไพรมารีโหวตที่บรรดาพรรคการเมืองเคยเรียกร้อง เพราะเกรงว่าจะเป็นอุปสรรคให้กับพรรคการเมืองบางพรรคนั้น สุดท้ายถูกตีตกไปเพราะสุ่มเสี่ยงจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ซึ่งกำหนดให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร เนื่องจากไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิก

ปัญหาอยู่ที่แม้จะไม่ได้ยกเลิกการทำไพรมารีโหวตเสียทีเดียว แต่การปรับรูปแบบจากไพรมารีโหวตในเขตเลือกตั้งหรือระดับจังหวัดมาเป็นระดับภาคนั้น แทบจะไม่สามารถสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่กับการคัดเลือกผู้สมัครเบื้องต้นของแต่ละพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นสมาชิกได้แท้จริง

ที่สำคัญกระบวนการจัดทำไพรมารีโหวตนั้นถือเป็นอีกดัชนีชี้วัดที่สำคัญกับแนวทางการปฏิรูปการเมือง โดยเปิดทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองที่ตัวเองเป็นสมาชิกหากสุดท้ายไม่สามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดย่อมส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและความเชื่อมั่นใน คสช.

อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ แต่ละพรรคการเมืองล้วนแต่ประกาศตัวแสดงความพร้อมที่จะดำเนินการตามกฎกติกาใหม่อย่างเคร่งครัดแล้ว ขอเพียงแค่ให้ทาง คสช.ยอมปลดล็อกคำสั่ง คสช. เพื่อให้แต่ละพรรคการเมืองได้มีเวลาดำเนินการทำไพรมารีโหวตให้แล้วเสร็จทันเวลา

การยื้อเวลาปลดล็อกออกมาเรื่อยๆ แล้วขยับปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการทำไพรมารีโหวตจึงอาจไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องกับสิ่งที่ คสช. ประกาศจะเดินทางวางบรรทัดฐานการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้น

ย้อนไปก่อนหน้านี้ มีชัย ​ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยให้สัมภาษณ์ระบุว่าการจัดทำไพรมารีโหวตระดับภาคแทนนั้น เหมือนนำคนกลุ่มเดียวมาทำไพรมารีโหวตซึ่งไม่ได้บอกอะไรเพราะมี 4 ภาค แต่ต้องครอบคลุมถึง 77 จังหวัด

ล่าสุด นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อธิบายว่าปัญหาของการจัดทำไพรมารีโหวตระดับภาคอยู่ตรงที่ ประการแรกจำนวนสมาชิกพรรคในแต่ละภาคมีไม่เท่ากัน เช่น พรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิก​เกือบ 9 หมื่นคน เป็นสมาชิกในภาคใต้ 4 หมื่นคน เมื่อทำไพรมารีโหวตฐานสมาชิกที่มากกว่าภาคอื่น จะส่งผลกระทบ ต่อการจัดลำดับบัญชีรายชื่อ
ทั่วประเทศทั้ง 150 คน

ประการต่อมาบางจังหวัดพรรคยังมีสมาชิกไม่ถึง 100 คน แต่ในภาคเดียวกันในบางจังหวัดที่อยู่ในภาคนั้นก็มีสมาชิกเป็น 1 หมื่นคน แสดงให้เห็นว่าระบบบัญชีรายชื่อแบบภาคไม่ได้สะท้อนความต้องการของคนในจังหวัดหรือในภาคนั้นอย่างแท้จริงตามหลักการของการทำไพรมารีโหวต

ที่ผ่านมาเริ่มมีเสียงสะท้อนว่าการทำไพรมารีโหวตอาจเป็นอุปสรรคต่อการดูดอดีต สส.จากสังกัดต่างๆ เข้ามาร่วมงานกับบางพรรคการเมือง ยิ่งหากเป็นคนที่มีชื่อเสียงแต่ประวัติไม่ดีและห่างพื้นที่หรือไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนด้วยแล้วโอกาสที่จะได้รับฉันทามติเบื้องต้นให้มาลงสมัครอาจไม่ง่ายนัก

ดังนั้น หากเบื้องหน้าเบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงกรอบการจัดทำไพรมารีโหวตให้มาเป็นระบบภาคด้วยเหตุผลเพียงเพื่อจะเอื้ออำนวยความสะดวกให้พรรคใดพรรคหนึ่งด้วยแล้ว อาจยิ่งทำให้กระบวนการจัดทำไพรมารีโหวตเสียหายอย่างรุนแรงและพานกระทบไปถึงสิ่งที่ คสช.พยายามทำมาทั้งหมด

ไล่มาตั้งแต่ระบบการเลือกตั้งไปจนถึงเรื่องการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ ที่เชื่อว่าทั้งหมดจะเป็นแนวทางที่พาประเทศก้าวพ้นวังวนความขัดแย้งจากในอดีต

ประเด็นสำคัญคือท่าทีการกลับไปกลับมายอมกลืนน้ำลายจากก่อนหน้านี้ที่เคยแข็งขันยืนกรานว่าต้องทำไพรมารีโหวตให้ได้ แต่ต่อมาเริ่มตั้งท่าจะเปลี่ยนเงื่อนไขเป็นรายจังหวัด และสุดท้ายจะเป็นรายภาคที่ไม่สามารถสะท้อนอะไรได้จริง ย่อมบั่นทอนความเชื่อมั่นของ คสช.อย่างรุนแรง

ซ้ำเติมกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พยายามเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อปรับเปลี่ยนการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้ง ทั้งที่กฎหมายเพิ่งบังคับใช้ได้ไม่นาน

สะท้อนให้เห็นถึงทั้งความไม่รอบคอบและเหตุผลเบื้องหน้าเบื้องหลังที่​จะยิ่งฉุดความเชื่อมั่น คสช.​ให้ลดลงไปเรื่อยๆ ในช่วงที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกที การตัดสินใจเรื่องไพรมารีโหวตนับจากนี้จึงต้องระมัดระวังและมีเหตุผลที่สามารถอธิบายได้