posttoday

สนช.สร้างปมยืดเลือกตั้ง "บิ๊กตู่"รับหนัก"ตำบลกระสุนตก"

13 สิงหาคม 2561

หมากเกมนี้ของ สนช. ที่ค่อนข้างแรงอาจจะไม่เป็นประโยชน์กับ คสช.ในระยะยาวเท่าใด

หมากเกมนี้ของ สนช. ที่ค่อนข้างแรงอาจจะไม่เป็นประโยชน์กับ คสช.ในระยะยาวเท่าใด

******************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองแล้วสำหรับการเสนอร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ. 2560 เพื่อเซตซีโร่กระบวนการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้ง ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งสัญญาณการแก้ไขกฎหมาย กกต.ครั้งนี้ อาจมีผลให้การเลือกตั้งไม่ทันต้นปี 2562 ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางเอาไว้

“ยอมรับว่าการแก้ไขกฎหมายลูก กกต.ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ทั้งการรับฟังความเห็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 การให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และยังต้องส่งให้รัฐบาลพิจารณาให้ความเห็น

รัฐบาลคงส่งให้ กกต.ไปพิจารณา และส่งร่างของ กกต.เข้ามาประกบกับร่างของ 36 สนช. ที่เข้าชื่อเสนอแก้ไข สุดท้ายต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สนช.อีก ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ดูแนวโน้มคงแก้ไข เสร็จไม่ทันการเลือกตั้งเดือน ก.พ. 2562” วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช.ระบุ

แม้บางฝ่ายอาจจะบอกว่าไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง แต่ถ้ามองเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญแล้วจะพบว่าก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่การเลือกตั้งอาจต้องเลื่อนออกไปอีกพอสมควร

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้มีสิทธิเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญได้นั้นมี 3 ฝ่าย โดยหนึ่งในนั้น คือ สส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่อยู่ของสภาผู้แทนราษฎร แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีสภา จึงเป็นอำนาจของสมาชิก สนช.ที่จะเข้าชื่อเพื่อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญได้

ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็มีขั้นตอนและเวลามากพอสมควร โดยกำหนดให้มีเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน จากนั้นภายใน 15 วันนับแต่ที่สภาให้ความเห็นชอบ จะต้องส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปเพื่อให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทำความคิดเห็นกลับมาภายใน 10 วัน และหากองค์กรอิสระไม่เห็นด้วยกับสภา สภาต้องดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันต่อไป

ขณะเดียวกัน หากเกิดกรณีที่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว แน่นอนว่าการเลือกตั้งต้องถูกทอดเวลาออกไปอีกพอสมควร

เรียกได้ว่าถ้า สนช.เอาจริงเอาจังกับการแก้ไขกฎหมาย กกต.ครั้งนี้ อาจใช้เวลาร่วมปีกันเลยทีเดียว และในระยะยาวจะนำมาซึ่งปัญหาทางการเมืองอีกมากมาย

ปัญหาแรกเห็นจะเป็น “การล้ำเส้นเข้าไปในพรมแดน กกต.” กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ชื่อก็บอกอยู่แล้วเป็นกฎหมายที่เป็นเครื่องมือและกลไกในการทำงานให้กับ กกต. โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและยุติธรรม ผิดกับ สนช.ที่มีหน้าที่เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติตรากฎหมาย โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งแต่อย่างใด

แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้ฝ่ายนิติบัญญัติเสนอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ แต่ในทางปฏิบัติและตามหลักการแล้วควรปล่อยให้เป็นเรื่องขององค์กรอิสระที่เมื่อเห็นว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใดมีปัญหาในการบังคับใช้ ก็ควรให้เป็นเรื่องขององค์กรอิสระดำเนินการแทน ซึ่งในที่นี้หมายถึงควรให้ กกต.ดำเนินการผ่านคณะรัฐมนตรีและให้รัฐบาลส่งร่างกฎหมายเข้า สนช. หาก กกต.เห็นว่ากฎหมาย กกต.มีปัญหาในทางปฏิบัติ

การที่ สนช.เข้ามาดำเนินการเอง ทั้งๆ ที่ กกต.ยังไม่ได้แสดงท่าทีว่ากฎหมายที่ตัวเองใช้นั้นมีปัญหา จึงไม่ต่างอะไรกับการพยายามล้ำเส้นการทำงานของ กกต.

ไม่เพียงแต่จะสร้างในเชิงหลักการเท่านั้น เพราะการล้ำเส้นของ สนช.ย่อมสร้างผลกระทบเชื่อมโยงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สนช.และ คสช.นั้นมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น จริงอยู่ในทางหลักการ “คสช.-ครม.-สนช.” จะต่างมีอำนาจหน้าที่แยกออกจากนั้นในแง่อำนาจบริหารและนิติบัญญัติ แต่ในทางปฏิบัติแล้วต่างทราบดีว่า สนช.ชุดปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งของ คสช.

สนช.มีสถานะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยด้วยผลทางกฎหมายเท่านั้นไม่ได้มีสถานะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยที่ผ่านการเลือกของประชาชนทั้งทางตรงหรือทางอ้อมแต่อย่างใด

ไม่ว่า สนช.จะเดินไปในทิศทางใด ย่อมเชื่อมโยงไปถึง คสช.ไม่มากก็น้อย

กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน การกระทำของ สนช.แบบนี้มีเป้าหมายเพื่อต้องการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ด้วยเหตุผลที่ คสช.ยังไม่พร้อมจะเข้าสู่การเลือกตั้ง เพราะตัวเองยังไม่อยู่ในฐานะได้เปรียบคู่แข่งแบบ 100% ดังจะเห็นได้จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนหลายสำนักเริ่มมีผลสรุปออกมาว่าประชาชนไม่ค่อยประทับใจผลงานด้านการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนของ คสช.มากนัก

ดังนั้น หมากเกมนี้ที่ สนช.ออกค่อนข้างแรงอาจจะไม่เป็นประโยชน์กับ คสช.ในระยะยาวเท่าใด เสมือนหนึ่งเป็นการเขี่ยลูกให้เข้าเท้าฝ่ายตรงข้ามแทน

ที่สุดแล้ว คสช.มีแต่เสียกับเสีย เกมนี้คงจะมีทางแก้ทางเดียว คือ การยอมถอยไม่ดันกฎหมายฉบับนี้เข้าสภา มิฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ คงต้องอยู่ในสภาพของการเป็นหมู่บ้านกระสุนตกไม่รู้จบ