posttoday

ล้มผู้ตรวจเลือกตั้ง รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ

08 สิงหาคม 2561

เหตุผลที่หลายฝ่ายพูดถึงความจำเป็นในการเซตซีโร่ผู้ตรวจการเลือกตั้งคงหนีไม่พ้นความไม่ไว้วางใจบรรดาผู้ที่ผ่านการคัดเลือก

เหตุผลที่หลายฝ่ายพูดถึงความจำเป็นในการเซตซีโร่ผู้ตรวจการเลือกตั้งคงหนีไม่พ้นความไม่ไว้วางใจบรรดาผู้ที่ผ่านการคัดเลือก

******************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

แม้จะเป็นความเคลื่อนไหวเล็กๆ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ก็มีผลทางการเมืองไม่น้อย สำหรับกรณีการพยายามเสนอร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การแก้ไขระบบการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด

กระบวนการในการได้มาซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้งแบบใหม่นั้นในร่างกฎหมายฉบับใหม่ได้กำหนดให้มี “คณะกรรมการสรรหา” ในแต่ละจังหวัด รวมไปถึง กทม.

ในส่วนของ กทม.จะมีคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วย 1.ปลัด กทม. เป็นประธานกรรมการ 2.ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา 3.ผู้แทนอัยการสูงสุด 4.ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 5.ผู้แทนหอการค้าไทย 6.ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 7.ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย

ขณะที่จังหวัดอื่นจะมีคณะกรรมการสรรหาที่ประกอบด้วย 1.ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน 2.ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด 3.อัยการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานอัยการจังหวัด 4.ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด 5.ประธานหอการค้าจังหวัด และ 6.ประธานอุตสาหกรรมจังหวัด

ทั้งนี้ จะว่าไปแล้วกระบวนการได้มาซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันก็ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากกระบวนการที่ สนช.กำลังจะแก้ไขมากนัก เพียงในกฎหมาย กกต.ฉบับกำหนดให้ กกต.ไปออกระเบียบ เพื่อดำเนินการในทางปฏิบัติอีกชั้นหนึ่ง

ระเบียบที่ว่านั้นคือ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 โดยระเบียบดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และปลัด กทม.เป็นประธานกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งในส่วนของจังหวัดและ กทม.เหมือนกัน

เมื่อในภาพรวมของร่างกฎหมายใหม่และกฎหมายปัจจุบันที่ใช้อยู่แทบไม่ต่างกัน การที่ สนช.ลงทุนเข้าชื่อถึง 36 คน เพื่อแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญย่อมมีเหตุผลทางการเมืองอย่างแน่นอน ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำในตัวร่างกฎหมายดังกล่าวที่ระบุถึงการล้มกระบวนการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ กกต.ชุดปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้ว

“บรรดาการดําเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกและการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งได้ดําเนินการอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับให้เป็นอันสิ้นผลไปนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ” เนื้อหาในมาตรา 9

จากเนื้อหาของมาตรา 9 เป็นการแสดงให้เห็นเป้าหมายของ สนช.ในครั้งนี้ ต้องการให้กลับมาเริ่มการเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ถ้าไม่ได้ไฟเขียวจากบรรดาบิ๊กๆ ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างแน่นอน เพราะต้องไม่ลืมว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ สนช.ทำการลงมีดตัดต่อมากับมือ

ทั้งนี้ เหตุผลที่หลายฝ่ายพูดถึงความจำเป็นที่ต้องเซตซีโร่ผู้ตรวจการเลือกตั้งคงหนีไม่พ้นความไม่ไว้วางใจบรรดาผู้ที่ผ่านการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านไป เนื่องจากมีการเช็กประวัติแล้วพบว่ามีหลายคนที่มีความสนิทสนมกับนักการเมืองท้องถิ่นและพรรคการเมือง

อีกทั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งตามกฎหมาย มีอำนาจตรวจสอบการกระทําความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทําใดที่จะเป็นเหตุทําให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม เรียกได้ว่าเป็น “กกต.น้อย” กันเลยทีเดียว จึงไม่ควรปล่อยให้คนที่มีสายใยโยงถึงพรรคการเมืองเข้ามามีอำนาจ

อย่างไรก็ตาม บางทีการเสนอตัวร่างกฎหมายฉบับนี้อาจเป็นเพียงแค่การสับขาหลอกในเบื้องต้นเท่านั้น เพราะในท้ายที่สุดแล้ว เมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่กระบวนการของสภาอาจมีการเล่นแร่แปรธาตุให้ทหารเข้ามามีส่วนร่วมกับการเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง เหมือนกับที่ สนช.เคยแก้ไข พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้ รมว.กลาโหม เข้ามาเป็นคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ดังนั้น หมากเกมนี้จึงเต็มไปด้วยหมากของผู้มีอำนาจที่ต้องการสกัดพรรคการเมืองทุกวิถีทาง