posttoday

ภารกิจหิน "กกต." บทพิสูจน์ความอิสระ

16 กรกฎาคม 2561

กกต.ชุดใหม่ที่ถูกตั้งขึ้นในยุคคสช. มีขวากหนามรออยู่ในการทำงานไม่น้อย โดยเฉพาะการพิสูจน์ตัวเองเรื่องความเป็นอิสระ

กกต.ชุดใหม่ที่ถูกตั้งขึ้นในยุคคสช. มีขวากหนามรออยู่ในการทำงานไม่น้อย โดยเฉพาะการพิสูจน์ตัวเองเรื่องความเป็นอิสระ

*****************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเลือกตั้งใกล้ความจริงเข้าไปอีกหนึ่งขยัก ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้ความเห็นชอบบุคคลผ่านการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ิ จำนวน 5 คน จากทั้งหมด 7 คน

สำหรับบุคคล 5 คน ที่ สนช.ให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย 1.สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2.อิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย 3.ธวัชชัย เทิดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 4.ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และ 5.ปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

ส่วน 2 คนที่ไม่ผ่านความเห็นชอบ คือ “สมชาย ชาญณรงค์กุล” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และ “พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า” อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด

แม้จะไม่ได้ครบ กกต. 7 คนตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังถือว่าการได้ กกต.มา 5 คนเป็นประเดิมก่อนนั้นช่วยให้การเลือกตั้งเดินหน้าได้อย่างเต็มตัว

กล่าวคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. พ.ศ. 2560 กำหนดให้ กกต.ชุดใหม่ ถึงจะยังได้ไม่ครบ 7 คน แต่หากได้เพียง 5 คน ก็สามารถทำหน้าที่เป็นองค์ประชุมได้ เท่ากับว่าเมื่อว่าที่ กกต.ทั้ง 5 คน ได้ทำการลาออกจากตำแหน่งในงานประจำหมด จากนั้นจะดำเนินการประชุมร่วมกันเพื่อเลือกประธาน กกต.และนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป
ถึงเวลานั้นก็เป็นอันสิ้นสุดการทำหน้าที่ของ กกต.ชุดปัจจุบัน

การอุบัติขึ้นของ กกต.ชุดใหม่ 5 คน นับว่ามีนัยทางการเมืองไม่น้อย เนื่องจากเป็นการเข้าสู่ตำแหน่งในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ส่งผลให้ กกต.ป้ายแดงมีงานหินรออยู่มากและหนักยิ่งกว่า กกต.ในอดีตมากพอสมควร

1.พิสูจน์ความเป็นอิสระของ กกต. ขณะนี้กำลังเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านขององค์กรอิสระจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาสู่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กรรมการองค์กรอิสระที่เข้ามาทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กำลังจะสิ้นสุดลง ภายใต้เงื่อนไขของการเซตซีโร่ ซึ่ง กกต.ก็เป็นหนึ่งในนั้น

กกต.ชุดปัจจุบันที่มาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่ถูกเซตซีโร่ด้วยผลของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.และเข้าสู่กระบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่

การสรรหา กกต.ก่อนหน้านี้ต้องล้มลงไม่เป็นท่า เมื่อ สนช.ลงมติไม่เห็นชอบกับผู้ที่ผ่านการสรรหาทั้ง 7 คน
ไม่เว้นแม้แต่บุคคลที่มาจากการสรรหาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ กกต.ชุดใหม่จะต้องเป็นคนที่ถูกใจ คสช.เท่านั้น

ดังนั้น ภายใต้ความกดดันที่เกิดขึ้น กกต.ทั้ง 5 คน ที่ สนช.เพิ่งให้การอนุมัตินั้นต้องเผชิญกับแรงเสียดทานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะย่อมต้องถูกกังขาเรื่องความเป็นอิสระ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

2.การเลือกตั้ง สส. เป็นงานใหญ่และงานสำคัญที่รอ กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ เพราะอำนาจใหม่ของ กกต.ต่อการเลือกตั้งนั้นมีมากขึ้นพอสมควร โดยเฉพาะการให้ กกต.เพียงคนเดียวมีอำนาจยุติการเลือกตั้งบางเขตได้ตามมาตรา 26 (3) ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.

มาตรา 26 (3) มีสาระสำคัญว่า “เมื่อพบการกระทําหรือการงดเว้นการกระทําใดอันอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย...หรือในกรณีจําเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จะสั่งให้ระงับหรือยับยั้งการดําเนินการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยในเขตเลือกตั้งที่พบเห็นการกระทําหรือการงดเว้นการกระทํานั้นก็ได้”

การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นนั้นมีความสำคัญมากกว่าทุกครั้ง เพราะเป็นการเลือกตั้งของประเทศไทยในรอบ 5 ปี อีกทั้ง คสช.เองก็มีความประสงค์ในการเข้ามาสืบทอดงานของตัวเองต่อผ่านการลงสมัครเลือกตั้ง ยิ่งทำให้ กกต.ถูกเพ่งเล็งมากขึ้นไปอีก โทษฐานที่ กกต.ชุดนี้เกิดขึ้นมาในยุคของ คสช.

3.การสรรหา สว. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ยังมีอำนาจมากพอสมควร เช่น การติดตามการปฏิรูปประเทศ และการควบคุมรัฐบาลให้เดินตามยุทธศาสตร์ รวมไปถึงการร่วมลงมติให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระแรกเริ่ม

กระบวนการการได้มาซึ่ง สว.ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในบทเฉพาะกาลกำหนดให้มีจำนวน 250 คน มาจาก 2 ทางคือ 1.คสช.สรรหาเองให้ได้ 200 คน และ 2.กกต.จัดให้มีการเลือกกันเองของผู้สมัคร โดยให้ผู้สมัครเลือกกันให้ได้ 200 คน และส่งให้ คสช.เลือกให้เหลือ 50 คน

หน้าที่ของ กกต.ในการสรรหา สว.นั้นคล้ายกับการควบคุมการเลือกตั้ง สส. แต่มีความสำคัญตรงที่ต้องช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับ คสช.ก่อนจะให้ คสช.มาเลือก สว.ในขั้นตอนสุดท้าย จึงไม่แปลกที่ กกต.ชุดนี้จะต้องได้รับความไว้วางใจจาก คสช.ระดับหนึ่ง เพราะมิเช่นนั้น คสช.อาจถูกมัดมือชกให้เลือก สว.ที่มีกลุ่มการเมืองหนุนหลังแบบเลี่ยงไม่ได้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ภารกิจสำคัญเบื้องต้นของ กกต.ชุดใหม่ ยังไม่นับขวากหนามที่รออยู่ระหว่างอีกไม่น้อย ถ้า กกต.สามารถพิสูจน์ความเป็นอิสระได้ ก็น่าจะช่วยให้ผ่านสถานการณ์ลำบากได้ไม่ยากนัก แต่หากทำไม่ได้ การเมืองไทยก็คงหนีไม่พ้นความขัดแย้งอีกครั้ง