posttoday

เลือกตั้งท้องถิ่น เปิดตลาดซื้อ สส.

13 กรกฎาคม 2561

หากการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นก่อนเลือกตั้งใหญ่ คนที่แพ้เลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่ใดย่อมจะเป็นบุคคลที่ถูกหมายตาให้มาลงสมัคร สส.ด้วย

หากการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นก่อนเลือกตั้งใหญ่ คนที่แพ้เลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่ใดย่อมจะเป็นบุคคลที่ถูกหมายตาให้มาลงสมัคร สส.ด้วย

******************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญ 2 ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

อย่างแรกเป็น “การเลือกตั้งทั่วไป” หลายฝ่ายรวมไปถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คาดว่าจะมีขึ้นได้ในช่วงกลางปี 2562 ตอนนี้เหลือรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษาของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง อย่างเป็นทางการก่อน

แม้ความชัดเจนเกี่ยวกับกรอบเวลาของการเลือกตั้งทั่วไปเริ่มจะมีความชัดเจนขึ้นแล้ว แต่รายละเอียดปลีกย่อยที่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการแพ้ชนะเลือกตั้ง กลับยังไม่ได้รับความชัดเจนมากนัก โดยเฉพาะกระบวนการการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และระบบบัญชีรายชื่อ หรือไพรมารีโหวต

พรรคการเมืองแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ต้องการจะใช้ระบบไพรมารีโหวตเต็มรูปแบบในการเลือกตั้งครั้งแรกที่จะมีขึ้น โดยให้เหตุผลว่าติดปัญหาติดล็อกการเมืองของ คสช. ทำให้การทำไพรมารีโหวตอาจจะดำเนินการไม่ได้สมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

แต่อย่างไรก็ดี คสช.ยังคงสงวนท่าทีต่อข้อเรียกร้องตรงนี้อยู่พอสมควร เนื่องจากตัวเองก็กำลังจะลงสนามเลือกตั้ง ดังนั้น การตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งในเรื่องนี้ของ คสช. ย่อมมีผลต่อการเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกเหนือไปจากการเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นที่น่าสนใจของหลายฝ่ายแล้วนั้น “การเลือกตั้งท้องถิ่น” เป็นอีกสนามหนึ่งที่ถูกจับตามองไม่แพ้กัน

แรกเริ่มเดิมที คสช.เคยมีแนวทางว่าต้องการให้เกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้ง โดยเล็งไว้เป็นกลางหรือปลายปี 2561 เพื่อต้องการทดสอบหลายอย่าง เช่น ความเคลื่อนไหว และกติกาที่ออกมาใหม่นั้นสามารถควบคุมการเลือกตั้งให้เกิดความโปร่งใสตามที่ต้องการได้หรือไม่ เป็นต้น

แต่มาถึงเวลานี้ คสช.ก็ยังไม่เคยให้ความชัดเจนแต่อย่างใด มีเพียงแต่การส่งสัญญาณเป็นนัยว่ากฎหมายจะเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วงปลายปีนี้

สำหรับภาพรวมของกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น จะมีลักษณะสอดคล้องกับกฎหมายเลือกตั้ง สส.พอสมควร เช่น การไม่ให้บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เพราะการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตลงสมัครเลือกตั้ง

เช่นเดียวกับกรณีห้ามผู้บริหารท้องถิ่นอนุมัติโครงการที่เข้าข่ายจูงใจผู้ใช้สิทธิ ภายใน 90 วัน ก่อนวันครบวาระการดำรงตำแหน่ง หรือก่อนการลาออกจากตำแหน่ง เว้นแต่เป็นการบรรเทาทุกข์จากภัยธรรมชาติหรือเป็นโครงการหรือกิจกรรมต่อเนื่อง หรือเป็นโครงการที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของเนื้อหากฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ยังไม่น่าสนใจเท่ากับการกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่น

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยบอกตรงกันว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง สส.จะต้องมีเวลาห่างกัน 3 เดือนเป็นอย่างน้อย แต่ยังไม่กำหนดว่าการเลือกตั้งใดจะเกิดขึ้นก่อนกัน

ทั้งนี้ ถ้ามองถึงความเป็นไปได้และท่าทีของ คสช.อาจพอจะคาดการณ์ได้ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นน่าจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง สส. โดยมีช่องว่างห่างกัน 3 เดือนเป็นอย่างน้อยด้วยเหตุผล 2 ประการสำคัญ

1.วัดกำลังของพรรคการเมือง แน่นอนว่าการเมืองท้องถิ่นจะเป็นอีกสมรภูมิหนึ่งที่พรรคการเมืองจะเข้ามาร่วมด้วย เพราะในมิติของพรรคการเมืองนั้น การเลือกตั้งสนามเล็กจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสู่ความสำเร็จของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งสนามใหญ่

เมื่อพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งสนามเล็ก คสช.ในฐานะผู้ที่เตรียมลงเลือกตั้งสนามใหญ่ ก็จะได้มีโอกาสเช็กกระแสของพรรคการเมือง เพื่อปรับกลยุทธ์ต่อสู้กับพรรคการเมืองในระยะยาว เรียกได้ว่า คสช.จะได้เห็นไพ่ในมือของพรรคการเมืองก่อน ขณะที่พรรคการเมืองจะยังไม่เห็นพลังของ คสช.ที่จะใช้สำหรับการเลือกตั้ง

2.เปิดโอกาสเลือกผู้สมัคร สส.ให้เข้าเป้า การเลือกตั้ง สส.ใหม่ “จัดสรรปันส่วนผสม” ทำให้ทุกคะแนนแม้แต่คะแนนของคนแพ้เลือกตั้ง สส.ยังมีความหมาย เพราะจะเอาไปใช้สำหรับการคำนวณหาจำนวน สส.บัญชีรายชื่อด้วย

ด้วยเหตุนี้ หากการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งใหญ่ คนที่แพ้การเลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่ใดย่อมจะเป็นบุคคลที่ถูกหมายตาให้มาลงสมัคร สส.ด้วย เนื่องจากจะเป็นคนที่มีฐานเสียงของตัวเอง เรียกได้ว่าเป็นตัวจริงเสียงจริง ไม่ได้ถูกหลอกว่าเสียงดี แต่ไม่มีคะแนน

ดังนั้น ถ้าในมุมนี้ คสช.ย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบพรรคการเมืองพอสมควรในหลายด้าน ในทางกลับกัน หากปล่อยให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งใหญ่ อาจมีผลให้ คสช.ไม่ได้คุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ เนื่องจาก คสช.เองก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะชนะการเลือกตั้งหรือไม่

ทางที่ดีที่สุด คือ การเร่งจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งเป็นจังหวะที่ คสช.ได้เปรียบเหนือคู่แข่งทุกประตู ดีกว่าจะไปหวังพึ่งน้ำบ่อหน้าที่ไม่มีความแน่นอน