posttoday

เสียงคนรุ่นใหม่ ปัจจัยชี้ขาดเลือกตั้ง

10 กรกฎาคม 2561

ปี่กลองการเมืองส่งสัญญาณเตรียมเดินหน้าสู่โหมดเลือกตั้ง ขณะที่ปัจจัยที่จะชี้ขาดผลในครั้งนี้อาจอยู่ที่ 4.5 ล้านเสียงของคนรุ่นใหม่

ปี่กลองการเมืองส่งสัญญาณเตรียมเดินหน้าสู่โหมดเลือกตั้ง ขณะที่ปัจจัยที่จะชี้ขาดผลในครั้งนี้อาจอยู่ที่ 4.5 ล้านเสียงของคนรุ่นใหม่

**************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ปี่กลองการเมืองส่งสัญญาณเตรียมเดินหน้าสู่โหมดเลือกตั้ง ท่ามกลางบรรยากาศฝุ่นตลบจากการย้ายเข้าย้ายออกของบรรดาอดีต สส. ที่ใกล้จะต้องตัดสินใจแสดงความชัดเจนในช่วงเดดไลน์สุดท้าย

รูปแบบการทำการเมืองแบบเก่าๆ ยังวนเวียนมาให้เห็น ทั้งการดูด การต่อรอง การปั่นราคา และการย้ายพรรค

สวนทางกับการปฏิรูปการเมืองที่หลายฝ่ายตั้งตารอว่า 4 ปีที่ผ่านมา แม่น้ำ 5 สาย น่าจะช่วยวางทิศทางปฏิรูประบบการเมืองให้ก้าวพ้นจากวังวนปัญหาที่ผ่านมาในอดีตและเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่คาดหวัง

สมรภูมิเลือกตั้งส่อเค้าดุเดือดกับเดิมพันที่จะชี้ชะตาอนาคตการเมืองของตัวเอง ระหว่างฝั่งที่ “สนับสนุน” และ “ต่อต้าน” คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ประเมินแล้วจุดชี้ขาดที่สำคัญสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะอยู่ที่เสียงของ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งไม่เคยเลือกตั้งมาก่อน อันจะเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการเลือกตั้งอยู่ที่น้ำหนักของเสียงกลุ่มนี้จะเทไปทางฝั่งไหน

เบื้องต้นข้อมูลจากสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สรุปจำนวนรวมผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศปีการเลือกตั้ง 2562 (คือเกิดก่อนวันที่ 3 ม.ค. 2544) มีทั้งสิ้น 51,564,284 คน เป็นชาย 24,886,213 คน หญิง 26,678,071 คน

ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ยังไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้ง (โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุดคือการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557) คือบุคคลที่เกิดระหว่างวันที่ 3 ม.ค. 2539-2 ม.ค. 2544 มีทั้งสิ้น 4,510,052 คน เป็นชาย 2,301,535 คน เป็นหญิง 2,208,517 คน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ค. 2561

ความสำคัญของตัวเลขดังกล่าวอยู่ตรง 4.5 ล้านคน ซึ่งไม่เคยลงคะแนนเสียงนี้ ถือเป็นกลุ่มพลเมืองที่มีน้ำหนักพอสมควรอันจะชี้ทิศทางการเมือง และยากจะคาดเดาได้ในเวลานี้ว่าจะเทไปทางฝั่งไหน

หากจับทิศทางการเมืองเวลานี้ การแข่งขันระหว่าง 2 ขั้วใหญ่ คือกลุ่มที่สนับสนุน คสช. และต่อต้าน คสช. เริ่มจะพอเห็นเค้าลางและประเมินคะแนนเสียงที่จะออกมาได้คร่าวๆ ล่วงหน้า

แม้ระบบเลือกตั้งจะแตกต่างจากในอดีต แต่หากเทียบเคียงฐานเสียงและผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ในแต่ละพื้นที่ย่อมจะสามารถคำนวณออกมาได้คร่าวๆ ยังไม่รวมกับเรื่องคะแนนนิยมของแต่ละพรรค ก็พอจะเห็นเค้าลางที่แม้จะไม่ชัดเจนแต่ก็เห็นทิศทางความน่าจะเป็น

นำมาสู่การปรับกลยุทธ์ที่จะช่วงชิงฐานเสียงของแต่ละฝั่ง ดังจะเห็นจากการดูดอดีต สส.ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในหลายพื้นที่ และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงง่ายๆ

ล่าสุดการรุกคืบของ “พลังประชารัฐ” ที่ได้มือประสานอย่าง “กลุ่มสามมิตร” เป็นกลไกขับเคลื่อน กำลังสั่นคลอนเสถียรภาพของ “เพื่อไทย” หนักขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยจุดเด่นตรงความได้เปรียบเรื่องอำนาจรัฐ อำนาจทุน ที่มีแรงดึงดูดให้ทุกฝ่ายหันมาสนใจ “พลังประชารัฐ” ยังไม่รวมกับตัวช่วย 250 เสียงของ สว.เฉพาะกาล อันจะมีส่วนสำคัญต่อการเลือกนายกฯ

ในส่วนของ “ประชาธิปัตย์” เวลานี้เริ่มเกิดอาการสั่นคลอนจากการรุกหนักของ “รวมพลังประชาชาติไทย” เมื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศเอาจริงส่งผู้สมัครครบทุกเขต ไม่หลบให้พรรคไหน

ฐานเสียงอันเหนียวแน่นของประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้ จึงส่อเค้าจะต้องถูกแบ่งไปให้กับรวมพลังประชาชาติไทยไม่น้อย โดยเฉพาะกับระบบบัญชีรายชื่อที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง

ไม่แปลกที่เวลานี้หลายพรรคจะเริ่มเบนเข็มหันมาให้ความสนใจจับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ 4.5 ล้านคน ที่จะแปรเป็นคะแนนเสียงได้หลายสิบเก้าอี้ หากพรรคไหนสามารถดึงกลุ่มนี้ให้มาลงคะแนนให้ตัวเองได้ โอกาสจะชนะเลือกตั้งย่อมเป็นไปได้สูง

จะเห็นว่าหลังสัญญาณเลือกตั้งชัดเจน หลายพรรคการเมืองเริ่มขยับเปิดหน้าว่าที่ผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่ให้เป็นอีกทางเลือกของประชาชน ไม่ใช่มีเพียงแค่ผู้สมัครหน้าเก่าที่ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในอดีต

การวางตัวคนรุ่นใหม่ลงสนามเลือกตั้งจึงน่าจะเป็นอีกกลยุทธ์สำคัญของแต่ละพรรคกับการคาดหวังดึงคะแนนจากกลุ่มโหวตเตอร์หน้าใหม่ให้

ยังไม่รวมกับเนื้อหา รูปแบบ ช่องทางการสื่อสาร ที่แต่ละพรรคจะต้องคิดค้นกันเพื่อดึงคะแนนตรงนี้ให้ได้มากที่สุด เพิ่มเติมจากระบบสื่อสารเดิมๆ

เมื่อปัจจัยชี้ขาดเลือกตั้งอาจอยู่ที่ 4.5 ล้านเสียงของคนรุ่นใหม่