posttoday

ยุทธศาสตร์ชาติ เตะตัดขาทุกพรรค

14 มิถุนายน 2561

"ยุทธศาสตร์ชาติ"ที่กำลังจะมีขึ้น ถูกมองได้ว่า เป็นการประกาศนโยบายหาเสียงของพรรค คสช.สำหรับการเลือกตั้งในอนาคต พร้อมกับเตะตัดขาพรรคการเมืองอื่น

"ยุทธศาสตร์ชาติ"ที่กำลังจะมีขึ้น ถูกมองได้ว่า เป็นการประกาศนโยบายหาเสียงของพรรค คสช.สำหรับการเลือกตั้งในอนาคต พร้อมกับเตะตัดขาพรรคการเมืองอื่น

****************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 15 มิ.ย. เป็นจังหวะก้าวสำคัญทางการเมืองอีกครั้ง เพราะจะมีการพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ

ตามขั้นตอน เมื่อ สนช.ลงมติรับหลักการเอาไว้ จะดำเนินการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณา แต่ไม่สามารถแก้ไขเนื้อหาได้ เพียงแค่เสนอความคิดเห็นแนบท้ายไปได้เท่านั้น

อย่างที่ทราบกันดี “ยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นหนึ่งในความหวังของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการฝากไว้เป็นผลงานชิ้นโบแดง เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกครหาในวันที่ลงจากตำแหน่งว่าการรัฐประหารล้มรัฐบาลเลือกตั้งเป็นการกระทำที่เสียของ

สำหรับร่างยุทธศาสตร์ชาติ มีสาระสำคัญที่แบ่งออกเป็น 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง 2.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อ
สิ่งแวดล้อม และ 6.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ทั้งนี้ หากจะบอกว่าหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ชาตินั้น ไม่ได้อยู่ตรงตัวร่างยุทธศาสตร์ชาติที่คณะรัฐมนตรีเสนอ สนช. แต่กลับเป็นกระบวนการบังคับใช้ยุทธศาสตร์ชาติที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายสำคัญของ 2 ฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560

มาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ครม.ที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนํามาใช้จ่ายในการดําเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ

ส่วนกฎหมายจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ก็ได้ปรากฏเนื้อหาหลายส่วนที่เป็นการชี้ให้เห็นว่าทุกภาคส่วนห้ามออกนอกแถวที่ยุทธศาสตร์ชาติบัญญัติเอาไว้

มาตรา 25 และมาตรา 26 ของ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดเป็นหลักการว่าในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาพิจารณาว่าเป็นความผิดหรือไม่ ซึ่งจะมีผลให้หัวหน้าส่วนราชการนั้นพ้นจากตำแหน่งด้วย

จากที่ปรากฏออกมาเห็นได้ว่ามีการคุมเข้มเอาไว้หลายชั้นทั้งในกฎหมายสูงสุดและกฎหมายระดับนิติบัญญัติ แน่นอนว่าการกำหนดไว้แบบนี้มีทั้งส่วนได้และส่วนเสีย

สำหรับประโยชน์ที่ได้รับนั้น คือการทำให้เกิดทิศทางและการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน เดิมต้องยอมรับว่าแผนการพัฒนาประเทศมักจะไปผูกโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นเพียงแผนแม่บทที่ไม่ได้สภาพของการใช้บังคับอย่างแท้จริง อีกทั้งยังไม่มีบทลงโทษในกรณีที่ไม่ได้ดำเนินการตามแผนดังกล่าว

เมื่อไม่มีมาตรการในการลงโทษ ย่อมส่งผลให้เกิดการเดินตามแผนพัฒนาประเทศแบบกระท่อนกระแท่น ขาดความเป็นเอกภาพและไร้ทิศทางในการทำงานที่ชัดเจน ประกอบกับการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลในแต่ละยุคส่วนใหญ่จะมาจากพรรคการเมืองแตกต่างกัน ทำให้พรรคการเมืองที่ได้อำนาจใหม่มักจะคำนึงถึงศักดิ์ศรี จึงไม่ยอมเดินตามนโยบายของรัฐบาลพรรคเก่า

ดังนั้น การมียุทธศาสตร์ชาติที่มีบทลงโทษอาจจะช่วยให้การขับเคลื่อนมีความต่อเนื่องมากขึ้น ไม่ต้องชะงักไปตามการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ประโยชน์ในเรื่องความต่อเนื่องนั้นก็มีหลายฝ่าย
ท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมในบางประการ โดยเฉพาะการให้มีผลบังคับใช้ถึง 20 ปี และการมีบทลงโทษทางอาญาตามที่ปรากฏในกฎหมายจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

แม้ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ จะเปิดช่องให้สามารถทบทวนยุทธศาสตร์ชาติได้ทุก 5 ปี โดยเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบในการแก้ไข แต่มีคำถามว่าในทางปฏิบัติจะสามารถแก้ไขได้สมดังเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ ต้องไม่ลืมว่าการแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติย่อมมาซึ่งแรงต่อต้านจากวุฒิสภา ซึ่งเป็นสภาสูงที่มาจากการเลือกของ คสช.ใน 5 ปีแรก

เมื่อเทียบผลเสียและผลดีที่จะได้รับแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลเสียย่อมมีมากกว่า แต่จากผลเสียที่เกิดขึ้น ทว่ากลับเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยต่อ คสช.ในระยะยาว

คสช.กำลังตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงเลือกตั้งในอนาคต การทำนโยบายหาเสียงจึงสามารถออกนโยบายภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติได้ไม่ยากมากนัก เนื่องจากถึงอย่างไรเสียยุทธศาสตร์ชาติก็เป็นนโยบายที่ตัวเองสร้างขึ้นมา

ผิดกับพรรคการเมืองที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แต่ต้องมาปั้นนโยบายพรรคการเมืองให้อยู่ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าฝ่าฝืนจะมีผลกระทบทางกฎหมายตามมา

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ชาติที่กำลังจะมีขึ้นอย่างเป็นทางการ จึงไม่ต่างอะไรกับการประกาศนโยบายหาเสียงของพรรค คสช.สำหรับการเลือกตั้งในอนาคต พร้อมกับเตะตัดขาพรรคการเมืองอื่นไปในตัว