posttoday

เดินหน้าสู่เลือกตั้ง กลีบกุหลาบและขวากหนาม

01 มิถุนายน 2561

หลังศาลรธน.มีมติเอกฉันท์ ว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส.ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การเลือกตั้งที่หลายฝ่ายก่อนหน้านี้ต่างมองว่าไม่มีความแน่นอน กลับมามีความแน่นอนอีกครั้ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การเลือกตั้งที่หลายฝ่ายก่อนหน้านี้ต่างมองว่าไม่มีความแน่นอน กลับมามีความแน่นอนอีกครั้ง

เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้การเลือกตั้งจะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ ซึ่งเวลานี้ได้ประกาศใช้และมีผลใช้บังคับไปแล้ว 2 ฉบับ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ พรรคการเมือง

ส่วนอีก 2 ฉบับ ได้แก่ การได้มาซึ่ง สว. และการเลือกตั้ง สส. แม้จะยังไม่ได้ประกาศใช้ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่าเป็นร่างกฎหมายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็จะเข้าสู่กระบวนการเพื่อให้กฎหมายมีผลใช้บังคับต่อไป ดังนี้

1.ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยเต็มภายใน 30 วัน เป็นขั้นตอนทางธุรการที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องเปิดเผยอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะต้องส่งทั้งร่างกฎหมายที่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยให้กับนายกรัฐมนตรี

2.นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ มาตรา 145 ของรัฐธรรมนูญวางกรอบเวลาไว้ให้กับนายกฯ และต้องนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน นับแต่ได้รับร่างกฎหมายมาจากประธาน สนช. จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้ให้เป็นกฎหมายอีก 90 วัน

3.กำหนดวันเลือกตั้ง นับเป็นขั้นตอนที่มีความยุ่งยากมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะแม้กฎหมายเลือกตั้งจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่บทบัญญัติของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ระบุว่าให้กฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นระยะเวลา 90 วัน นับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นถึงจะนับไปอีก 150 วัน เพื่อเป็นวันลงคะแนนเลือกตั้ง

เท่ากับว่าการนับวันเลือกตั้งจะต้องเป็นสูตร 90+150 วัน ซึ่งรวมเวลาทั้งหมดตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วกว่าที่คนไทยจะได้เลือกตั้งต้องใช้เวลาอีกประมาณ 380 วัน หรือราว 1 ปีกันเลยทีเดียว เว้นแต่รัฐบาลจะเร่งรัดขั้นตอนบางอย่าง โดยไม่จำเป็นต้องใช้เวลาตามที่กำหนดเต็มที่ เพื่อให้การเลือกตั้งยังสามารถร่นเข้ามาได้เร็วขึ้น

ดังนั้น จะเห็นว่าในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งค่อนข้างแน่นอน เพียงแต่อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2562 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคสำคัญที่อาจมีผลให้เกิดอุบัติเหตุให้การเลือกตั้งต้องถูกเลื่อนอีก ซึ่งมีอย่างน้อย 2 ประการ

1.การแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยต้องรอดูผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ในสัปดาห์หน้า เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้คำสั่งดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่าคำสั่งนั้นจะต้องสิ้นผลไป

แน่นอนว่า คสช.ย่อมไม่ให้กฎหมายพรรคการเมืองใช้ไปโดยไม่มีเงื่อนไขที่ คสช.วางเอาไว้ ดังนั้น อาจมีความเป็นไปได้ที่จะต้องมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับเพื่อแก้ไขเข้าสู่ สนช. เพื่อให้กติกาของพรรคการเมืองจะเดินตามแนวทางที่ คสช.ได้ออกแบบ และเมื่อเกิดการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองจริง ย่อมส่งผลให้การเลือกตั้งต้องสะดุดลงชั่วคราวด้วย

2.การสรรหา กกต. ปัจจุบันประเทศไทยมี กกต.ปฏิบัติหน้าที่อยู่ 4 คน ซึ่งมีอำนาจเต็มตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ส่วนกระบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่จำนวน 7 คน ก็อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ สนช.

กรณีนี้ด้านหนึ่งดูเหมือนจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากถึงการสรรหา กกต.จะยังไม่เสร็จสิ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งอย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และกติกาที่ออกแบบไว้ใหม่แตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง

ดังนั้น คสช.ย่อมต้องการให้ได้ กกต.ชุดใหม่ที่มาจากสภาที่ตัวเองเป็นคนแต่งตั้ง ซึ่งขณะนี้แนวโน้มของการสรรหา กกต.อาจจะล่มอีกครั้งก็มีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อย ภายหลังผู้ที่ผ่านการสรรหาจำนวนหนึ่งจากทั้งหมด 7 คน มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การสรรหา กกต.อาจไปไม่ถึงฝั่งอีกครั้ง

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าอุปสรรคที่จะเข้ามาขัดขวางการเลือกตั้งมีอยู่อย่างจำกัดเมื่อเทียบกับตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมา อีกทั้งข้อจำกัดต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะสร้างเงื่อนไขดังกล่าวขึ้นมาหรือไม่เพื่อเลื่อนการเลือกตั้ง

ที่สุดแล้ว การเลือกตั้งที่คนไทยรอคอยมากว่า 4 ปีนั้นอยู่แค่เอื้อม เหลือเพียงแต่ คสช.จะยอมให้คนไทยเอื้อมไปถึงการเลือกตั้งที่ว่านั้นหรือไม่