posttoday

4 ปี คสช.งานใหญ่ไม่เดิน แค่ขายฝันให้คนไทย

18 พฤษภาคม 2561

หากเปรียบ 4 ปีของ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเส้นกราฟ ต้องยอมรับว่ามีทั้งช่วงที่สูงสุดและ ช่วงต่ำสุด

หากเปรียบ 4 ปีของ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเส้นกราฟ ต้องยอมรับว่ามีทั้งช่วงที่สูงสุดและ ช่วงต่ำสุด

ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ถ้าเปรียบตอนนี้เป็นการเมืองในระบอบรัฐสภาตามปกติ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) น่าจะกำลังสวมหมวกสองใบ คือ ในฐานะนายกฯ และนักการเมือง ซึ่งบริหารราชการแผ่นดินในช่วงเวลาราชการ พอหมดเวลาราชการก็น่าจะลงพื้นที่ หาเสียงเพื่อให้ได้รับชัยชนะและกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง

แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และตลอด 4 ปีกำลังจะครบ ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ก็ไม่ได้เป็นอายุของ สภาผู้แทนราษฎรตามปกติ ดังนั้น ใน วาระ 4 ปีของ คสช.จึงแตกต่างกับ 4 ปีของระบบรัฐสภาปกติอย่างสิ้นเชิง

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังจะเป็น นายกฯ คนที่สองต่อจาก "ทักษิณ ชินวัตร" ที่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ครบ 4 ปี แต่กระนั้น 4 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ กลับไม่ได้รับการสรรเสริญยินดีเท่าใดนัก
หากเปรียบ 4 ปีของ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเส้นกราฟ ต้องยอมรับว่ามีทั้งช่วงที่สูงสุดและ ช่วงต่ำสุด

ช่วงสูงสุด แน่นอนว่าต้องเป็นครึ่งแรกของการเข้ามาทำหน้าที่ ภายหลังบ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ซึ่ง คสช.สามารถเข้ามาจัดการให้ฝ่ายการเมือง หรือกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่เป็นที่เป็นทางได้ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อการเมืองภายใต้ทหารเริ่มนิ่งมากขึ้น คสช.ก็เริ่มแก้ไขปัญหา ของประชาชนที่ไม่เคยมีรัฐบาลจากนักการเมืองใส่ใจทำมาก่อน

ไม่ว่าจะเป็นการจัดระเบียบรถตู้โดยสาร การแก้ไขปัญหาราคาสลาก กินแบ่งรัฐบาล ถึงแม้ระยะหลังความ เข้มงวดของการจัดระเบียบจะลดลง แต่อีกด้านหนึ่งก็ดูเป็นระเบียบกว่าสมัยก่อน พอสมควร

คสช.พยายามเอาบทเรียนจากความล้มเหลวของการรัฐประหารเมื่อปี 2549 มาเป็นโจทย์ของ คสช. เพื่อไม่ต้องการให้ คสช.ถูกตีตราว่ารัฐประหารเสียของ จึงนำมาซึ่งนโยบายการคืนความสุขให้กับประชาชน โดยเน้นไปที่การปฏิรูปประเทศ

จะว่าไปแล้ว กระบวนการปฏิรูปประเทศที่ คสช.ออกแบบนั้นก็เรียกว่าได้ทำการคิดใหม่ทำใหม่เช่นกัน กล่าวคือ ตั้งต้นการปฏิรูปประเทศโดยใช้กำหนดเป็นแม่บทในรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพื่อที่ไม่ว่ารัฐบาลในอนาคตจะมาจากพรรคการเมืองใดก็ต้องเดินตามนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาแนวทางการบริหารประเทศจะเปลี่ยน ไปตลอด สุดแล้วแต่พรรคการเมืองใด จะเข้ามาเป็นรัฐบาล จึงทำให้ขาด ความต่อเนื่อง

เมื่อ คสช.พยายามทำในสิ่งที่ไม่มีรัฐบาลใดทำ และลงมือสร้างรากฐาน ของการปฏิรูปประเทศ จึงไม่แปลกใจ ที่ช่วงนั้น คสช.จะได้รับเสียงชื่นชม ค่อนข้างมาก

แต่จากจุดสูงสุดของ คสช. ปรากฏว่าสัญญาณแห่งความขาลงเริ่มเผยให้เห็นนับตั้งแต่การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกถูกคว่ำด้วยมือของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อปี 2558

การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นเป็นปฐมบทที่ คสช.ถูกมองว่ากำลังคิดจะอยู่ยาวมากกว่ารัฐบาลในอดีต

รัฐธรรมนูญฉบับต่อมาที่ร่างขึ้นโดย "มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แม้เนื้อหาโดยรวมยังคงเป็นการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่เมื่อมองลึกเข้าไปจะพบว่าเนื้อหาส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ คสช.สืบทอดอำนาจอยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งวุฒิสภาชุดใหม่ชุดแรกตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะมาจากการ คัดเลือกของ คสช. ซึ่งวุฒิสภาภายใต้กติกาใหม่นั้นมีอำนาจค่อนข้างมาก เช่น การให้สิทธิลงมติเลือกบุคคลเข้ามาเป็นนายกฯ ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งมีหน้าที่ติดตามรัฐบาลแต่ละชุดเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ เป็นต้น

ไม่เพียงแต่เรื่องการสืบทอด อำนาจผ่านรัฐธรรมนูญจะทำให้ คสช. เจอกับกระแสต้านเท่านั้น เพราะยิ่งนานวันความไม่โปร่งใสของรัฐบาลก็เป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลและ คสช.ยังไม่ได้ทำการชำระให้สังคมหายข้องใจเท่าใดนัก ดังจะเห็นได้จากปมปัญหานาฬิกาหรู ที่ไม่มีการแจ้งไว้ในรายการบัญชีทรัพย์สินหรือหนี้สิน ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งคนในรัฐบาลก็พยายามเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับความไม่ชัดเจน ในเรื่องนี้

แต่ที่เป็นปัญหาที่สุด คือ การปฏิรูปประเทศ ถ้าเปรียบเป็นการสร้างหมู่บ้านจัดสรร คสช.ในฐานะผู้จัดการโครงการ ได้ลงมือทำมาแล้ว 3 เฟส ไล่มาตั้งแต่การตั้ง สปช. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน

การปฏิรูปประเทศที่ คสช.พูดมาตลอด 4 ปีมานี้มีเพียงแค่แผนและนโยบายเท่านั้น โดยยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง แม้จะมีบางเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วแต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับสิ่งที่ คสช.พยายามขายฝันให้กับคนไทย

คสช.เองก็รู้ตัวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงไม่แปลกที่ระยะหลังจะออกมาย้ำถึงโรดแมปการเลือกตั้งในปี 2562 เพราะยิ่งอยู่ในอำนาจจากปลายกระบอกปืนนานเท่าใด กระแสต่อต้านยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

ทางที่ดีการปล่อยให้ประเทศเดิน ไปสู่การเลือกตั้ง น่าจะเป็นทางลงของ ตัวเองที่ดีที่สุด แม้จะไม่ได้รับดอกไม้ในวันจากลาก็ตาม

หากเปรียบ 4 ปีของ คสช.และ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเส้นกราฟ ต้องยอมรับว่ามีทั้งช่วงที่สูงสุดและช่วงต่ำสุด แต่จากจุดสูงสุดของ คสช. ปรากฏว่าสัญญาณแห่งความขาลงเริ่มเผยให้เห็นนับตั้งแต่การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกถูกคว่ำด้วยมือของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อปี 2558