posttoday

ปลุกกระแส"ชวน"ชิงนายกฯ ลดแรงเสียดทาน เพิ่มทางเลือก

17 พฤษภาคม 2561

ชัยชนะในการเลือกตั้งของมหาเธร์ โมฮัมหมัด กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียอีกครั้งในวัย 92 ปี ปลุกให้กระแสผลักดัน ชวน หลีกภัย กลับมาเป็นนายกฯ ท่ามกลางเสียงขานรับจากหลายฝ่าย

ชัยชนะในการเลือกตั้งของมหาเธร์ โมฮัมหมัด ปลุกกระแสผลักดัน "ชวน หลีกภัย" กลับมาเป็นนายกฯ ท่ามกลางเสียงขานรับจากหลายฝ่าย

**********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ชัยชนะในการเลือกตั้งของมหาเธร์ โมฮัมหมัด กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียอีกครั้งในวัย 92 ปี ปลุกให้กระแสผลักดัน ชวน หลีกภัย กลับมาเป็นนายกฯ ท่ามกลางเสียงขานรับจากหลายฝ่าย

“เชื่อว่ามีคนไม่น้อยสนับสนุน​ท่าน แต่ที่ผ่านมาทานแสดงออกว่าท่านไม่รับ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องของอนาคต เพราะยังไม่รู้ว่าใครจะได้รับการเสนอ ให้เป็น 3 รายชื่อ ที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพรรค ต้องรอให้มีการปลดล็อกและต้องมีการตราข้อบังคับพรรคใหม่และเลือกกรรมการบริหารใหม่ก่อน”

ท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สะท้อนให้เห็นว่ายังไม่ได้ปิดประตูตายกับข้อเสนอนี้เสียทีเดียวแต่โยนให้เป็นเรื่องของอนาคต ที่สมาชิกพรรคจะไปคิดอื่นก่อนตัดสินจะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไป

จะว่าไปแนวคิดเรื่องการปลุกกระแส ชวน หลีกภัย กลับมาเป็นจุดขายของพรรคไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก

ก่อนหน้านี้ช่วงชุลมุนมีแรงเคลื่อนไหวจากภายในพรรคประชาธิปัตย์เตรียมเสนอชื่อนายหัวชวนกลับมาเป็นหัวหน้าพรรค หลังเห็นว่าภาพลักษณ์ของอภิสิทธิ์สะบักสะบอมอย่างหนัก เกินกว่าจะเข็นขึ้นไปเป็นแม่ทัพลุยศึกเลือกตั้งรอบใหม่

ร้อนจน​ นายหัวชวน ผู้ปลุกปั้นอภิสิทธิ์ มากับมือต้องสยบความเคลื่อนไหวด้วยการประกาศสนับสนุนอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค และยืนยันไม่รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคหากใครเสนอชื่อก็จะขอถอนตัว ทำให้กระแสนี้เงียบไปในที่สุด

จนกระทั่งกระแสมหาเธร์ร้อนแรงขึ้น ปลุกให้แนวคิดเรื่องผลักดัน ชวน ขึ้นมาเป็นกระแสอีกรอบ แต่รอบนี้เปลี่ยนจากสถานะหัวหน้าพรรค เป็นตำแหน่งนายกฯ ซึ่งมีช่องทางตามรัฐธรรมนูญเปิดไว้รองรับ

เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องเสนอรายชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯ ไม่เกิน 3 รายชื่อ ​สำหรับประชาธิปัตย์แน่นอนว่ารายชื่อแรกย่อมเป็นของอภิสิทธิ์ตามที่ประกาศไว้เป็นจุดยืน แต่สำหรับรายชื่อที่ 2 หลายเสียงเห็นพ้องต้องกันว่าจะเสนอ นายหัวชวน ขึ้นเป็นอีกทางเลือก

ที่สำคัญทางเลือกนี้ยังเป็นการลดแรงเสียดทานและปลดล็อกไปสู่การจับมือทางการเมืองในอนาคต

โดยเฉพาะกับสถานะปัจจุบันของประชาธิปัตย์ ซึ่งส่อแววกำลังถูก โดดเดี่ยวจากฝ่ายต่างๆ ด้านหนึ่งจากจุดยืนที่เคยประกาศว่าจะไม่เลือกคนนอกเป็นนายกฯ ปิดประตูตายโอกาสที่จะไปร่วมกับพรรคทหารในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

หากจำได้อภิสิทธิ์เคยประกาศในวันแรกที่เปิดให้สมาชิกพรรคการเมืองยืนยันความเป็นสมาชิกตามกฎหมายใหม่ว่า ใครที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ให้ไปอยู่พรรคอื่น นอกจากจะเป็นการสกัดบรรดาคลื่นใต้น้ำที่สร้างแรงกระเพื่อมภายในพรรค โดยเฉพาะกับกลุ่ม กปปส.ที่ตบเท้าเข้าพรรค ท่ามกลางความเคลือบแคลงว่าเตรียมดัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ สอดรับกับท่าทีจุดยืนของ กปปส.ก่อนหน้านี้

การประกาศจุดยืนของอภิสิทธิ์ ด้านหนึ่งเหมือนจะเป็นการสร้างเอกภาพภายในพรรค แต่อีกด้านก็ตีกรอบเส้นทางในอนาคตของตัวเอง ​

อีกด้านหนึ่งท่าทีไม้เบื่อไม้เมาระหว่างประชาธิปัตย์และเพื่อไทย สะท้อนผ่านเกิดเปิดวิวาทะอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อจนยากจะมาจูบปากจับมือร่วมกันเป็นรัฐบาลได้ในอนาคต
เส้นทางการเมืองของประชาธิปัตย์ในอนาคต จึงมีให้เลือกเดินไม่กี่ทาง ยิ่งหากพิจารณาความเป็นไปได้ของจำนวนเก้าอี้ สส.​ที่ประชาธิปัตย์จะได้ในการเลือกตั้ง ซึ่งไม่เพียงพอจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยแล้ว

การปลุกกระแส​ชวนมาเป็นอีกทางเลือกในการชิงตำแหน่งนายกฯ จึงถือเป็นยุทธศาสตร์เปิดทางเลือกให้ประชาธิปัตย์ได้มีทางเดินเพิ่มมากขึ้น

ชัดเจนว่าด้วยภาพลักษณ์และบุคลิกของอภิสิทธิ์ ช่วงที่ผ่านมาดูจะเรียกแขกมากกว่าจะเชิญชวนกลุ่มต่างๆ มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้น ตราบเท่าที่อภิสิทธิ์ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ โอกาสที่ประชาธิปัตย์จะได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคอื่นๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต่างจากชวนที่​มีต้นทุนเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ยอมรับจากฝักฝ่ายต่างๆ มากกว่า

สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ออกมาขานรับกระแสดังกล่าวระบุว่า “เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ทางพรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนชวนกลับมาเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่าจะเลือกเป็น นายกฯ รอบที่ 3 หรือไม่ โดยนำภาพแห่งความซื่อสัตย์สุจริต อาวุโสมากด้วยบารมี ดุจเดียวกับมหาเธร์มาสู่กระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยและประสบชัยชนะ”​

เช่นเดียวกับ ​อลงกรณ์ พลบุตร อดีตศิษย์ก้นกุฏิประชาธิปัตย์ ที่เห็นด้วยว่า ชวนอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ หากประชาธิปัตย์มีการปฏิรูปตัวเองสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ก็อาจสร้างปรากฏการณ์แบบมหาเธร์ได้ ​

ยิ่งในบรรยากาศการเมืองที่เริ่มมีการพูดถึงทางเลือกอื่นๆ ทั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือการผนึกกำลังของ สส. เพื่อสกัดการเข้ามาของพรรคทหาร ที่ต้องการคนที่มีบุคลิกเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ชื่อของชวน อาจเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางเลือกหนึ่ง