posttoday

วังวนปฏิรูป   ฉุดเชื่อมั่นคสช. 

12 เมษายน 2561

กระบวนการปฏิรูปประเทศของคสช. เดินหน้ามาจนถึงจุดหมายปลายทางเป็นที่เรียบร้อยหลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กระบวนการปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินหน้ามาจนถึงจุดหมายปลายทางเป็นที่เรียบร้อย หลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ

ถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งที่แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำข้อเสนอปฏิรูป 11 ด้าน ทั้งด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสังคม ด้านพลังงาน และด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้ 

ต้องยอมรับว่า "ปฏิรูป"  ถือเป็นหนึ่งในความพยายามสำคัญของ คสช. ตามที่ได้ประกาศชัดตั้งแต่หลังรัฐประหารว่าจะดำเนินการปฏิรูปประเทศอันจะเป็นเส้นทางพาสังคมก้าวพ้นวังวนความขัดแย้งที่เป็นมาในอดีต

ทว่าผลการดำเนินการที่ผ่านมาร่วม 4 ปี นับจากจุดเริ่มต้นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรื่อยมาจนถึงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ดูจะเลื่อนลอยจนยากจะจับต้องได้ถึงความเปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นที่รับรู้กันมาตลอดว่าปฏิรูปต้องใช้เวลานาน แต่บางเรื่องก็สามารถทำได้ทันที

เสียงวิพากษ์วิจารณ์เริ่มรุนแรงมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านมาเนิ่นนาน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ยังเป็นเพียงรายงานข้อเสนอ จากทั้ง สปช. และ สปท.เล่มโตที่กองอยู่บนโต๊ะทำงานนายกรัฐมนตรีโดยไม่ถูกหยิบยกนำไปใช้งาน 

แรงกดดันจากสังคม ทำให้ คสช.ดำเนินการตั้งกรรมการปฏิรูปแห่งชาติ ที่รับหน้าที่ขมวดปม สรุปเป็นแผนปฏิรูปประเทศตามที่ได้ประกาศออกมาล่าสุด ซึ่งมีรายละเอียดชัดเจน ทั้งที่มางบประมาณ ระยะเวลาการดำเนินการ ดัชนีชี้วัด เรื่อยมาจนถึงหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบนำไปดำเนินการ 

ท่ามกลางความหวังว่ารายละเอียดทั้งหลายเหล่านี้จะล็อกให้การปฏิรูปต้องเดินหน้าไปจนเห็นผลสามารถจับต้องได้ แต่ทำไปทำมาทุกอย่างดูจะไม่เป็นไปตามนั้น เพราะแผนปฏิรูปที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ยังเป็นเพียงแค่ข้อเสนอที่ต้องถูกนำไปศึกษาและปรับเปลี่ยนได้อีก ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำหนด

ทำให้เส้นทางปฏิรูปส่อเค้าจะวนกลับไปสู่จุดเดิม ไร้ทิศทางเดินหน้าสู่เป้าหมายแท้จริง  

ชัดเจนจากกรณีแผนปฏิรูปด้านสังคมที่กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาถึงการยืดการเกษียณอายุราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี ที่จะส่งผลผูกพันถึงข้าราชการทั่วประเทศ   

แต่ทุกอย่างดูจะไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ โดยเมื่อประกาศใช้แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปศึกษาถึงความเป็นไปได้

ที่สำคัญตรงนี้ไม่มีกำหนดเวลาว่าจะต้องใช้เวลาศึกษานานเพียงใด และกรอบเวลาที่กำหนดในแผนปฏิรูปนั้นก็สามารถพิจารณาทบทวนได้ ซึ่งการศึกษานั้นสามารถเปลี่ยนแปลงและยืดหยุ่นได้ โดยในแผนการปฏิรูปมุ่งเน้นให้พิจารณาในตำแหน่งที่มีความสำคัญก่อน

ไม่ต่างจากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ออกมาอธิบายว่า ไม่ใช่ขยายอายุเกษียณ ใช้คำว่าให้คนที่มีสมรรถนะในการทำงานได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น หมอผ่าตัดที่มีประสบการณ์สูงๆ ที่เป็นข้าราชการอยู่ บางทีต้องจ้างต่อเรียกว่าจ้างพิเศษ

"ถ้าไปขยายอายุ วันนี้อธิบดี ปลัดกระทรวงที่อยู่ก็นานพอสมควร พอไป 63 ปี ข้างล่างบอกแก่ตายพอดีไม่ได้ขึ้นกัน รัฐบาลต้องดูอย่างนี้ แยกแยะให้ออก นี่คือเรื่องจริง ไม่ใช่ข้อแก้ตัวอะไรทั้งสิ้น" 

เช่นเดียวกับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าแผนปฏิรูปเป็นโครงกว้างๆ รัฐบาลไหนเห็นว่าดีกว่าก็เปลี่ยนได้ บางเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ถ้าไม่พอใจก็แก้กฎหมาย

หากเป็นเช่นนั้นแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้านที่ประกาศออกมาย่อมไม่ต่างจากข้อเสนอของ สปท. และ สปช. ที่จะทำตามหรือไม่ทำตามก็ได้ หากไม่ดำเนินการก็ไม่ถือเป็นความผิดที่มีบทลงโทษแต่อย่างไร

ต่างจากแผนยุทธศาสตร์ชาติที่หากหน่วยงานใดไม่ดำเนินการตามจะถูกส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. เอาผิด หรือให้ผู้บังคับบัญชาสั่งพักงาน หรือให้ออกจากราชการได้ 

ท้ั้งหมดย่อมส่งผลให้เส้นทางปฏิรูปวนกลับมาสู่จุดเดิมที่เชื่อว่ายากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่เช่นนั้นคงจะเกิดขึ้นมานานแล้ว ยิ่งในช่วงที่ คสช.ยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและมีกลไกอย่างแม่น้ำ 5 สาย ที่จะคอยช่วยเหลือเคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการต่างๆ

ทั้งหมดมีแต่จะย้อนกลับมาฉุดความเชื่อมั่น คสช.ที่กำลังสะบักสะบอมในเวลานี้