posttoday

กอดคอกันแน่น นักการเมืองจัดทัพรบ ‘คสช.’

05 เมษายน 2561

แม้เวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่กิจกรรมทางการเมืองก็ได้เริ่มดำเนินไปตามกระบวนการให้เห็นบ้างแล้วอย่างน้อย 2 เรื่อง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

แม้เวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่กิจกรรมทางการเมืองก็ได้เริ่มดำเนินไปตามกระบวนการให้เห็นบ้างแล้วอย่างน้อย 2 เรื่อง

1.การให้จดแจ้งชื่อพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยได้ปรากฏภาพของกลุ่มบุคคลหน้าใหม่ป้ายแดงและหน้าเก่า แสดงเจตนาขอตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นจำนวนไม่น้อย 

บางพรรคออกตัวประกาศสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งชัดเจน บางพรรคประกาศชัดเจนเช่นกันว่าไม่เอานายกฯ ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมกับประกาศจุดยืนว่านายกฯ จะต้องมาจากคนที่พรรคการเมืองเสนอเท่านั้น

2.การให้สมาชิกพรรคการเมืองปัจจุบันแสดงตนเพื่อยืนยันความเป็นสมาชิกพรรค กระบวนการนี้ได้เริ่มขึ้นมาแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา มีกำหนดเวลาดำเนินการ 30 วัน

ตามขั้นตอนหากพ้นกำหนดเวลา 30 วัน สมาชิกคนใดไม่แจ้งยืนยันการเป็นสมาชิก จะต้องพ้นจากความเป็นสมาชิกทันที นอกเหนือไปจากการจัดการเรื่องสมาชิกพรรคแล้ว พรรคการเมืองปัจจุบันต้องปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 อีกบางประการด้วย

(1) จัดให้มีทุนประเดิมจำนวน 1 ล้านบาท และแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ 1 เม.ย.

(2) จัดให้สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองสำหรับปี พ.ศ. 2561 ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ 1 เม.ย.

(3) จัดให้สมาชิกให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คน ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 1 เม.ย.และให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน ภายใน 4 ปี นับแต่วันที่ 1 เม.ย.

กระบวนการที่ คสช.ออกแบบให้พรรคการเมืองได้เดินตามนั้น ด้านหนึ่งถึงจะสร้างปัญหาจุกจิกกวนใจแก่พรรคการเมือง แต่ก็ทำให้พรรคการเมืองสามารถเช็กกำลังภายในพรรคไปในตัวด้วย

พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองแรกๆ ที่เร่งดำเนินการจัดการให้สมาชิกพรรคมายืนยันสถานะ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกประมาณ 2 ล้านคน ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์เกิดกระแสข่าวมาตลอดว่าบรรดาขุนพลภาคใต้ของพรรคจะสละเรือประชาธิปัตย์เพื่อไปอยู่กับพรรคของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แกนนำ กปปส.

แต่พอมาถึงเวลากลับเป็นสุเทพที่ถูกทิ้งไว้กลางทาง เพราะอดีต สส.ภาคใต้กลัวว่าถ้าออกจากประชาธิปัตย์แล้วตัวเองจะสอบตก โดยอดีตมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วหลายคนว่าหากไม่ลงสมัคร สส.ภาคใต้ในนามพรรคประชาธิปัตย์ โอกาสสอบตกมีสูง แม้ว่าตัวเองจะทำพื้นที่มานานแค่ไหนก็ตาม

ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้ได้เห็นอดีต สส.จำนวนมากตบเท้าเข้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค ให้การต้อนรับเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

ส่วน “พรรคเพื่อไทย” ก็มีความคึกคักไม่แพ้กัน ภายหลังเพิ่งจัดพิธีรดน้ำดำหัวเนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์  พร้อมกับการเปิดให้ยืนยันสมาชิกพรรคเมื่อวันที่ 4 เม.ย.

ตอนแรกหลายฝ่ายอาจจะคิดว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะแตก แต่เอาเข้าจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะบรรดาขุนพลข้างกาย “ทักษิณ ชินวัตร” ยังคงอยู่กับพรรคเพื่อไทยเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งในอนาคต

“ดีใจที่สมาชิกมาพร้อมเพรียง และมายืนยันความเป็นสมาชิกพรรค สื่อสารถึงความร่วมมือกัน และสืบสานการเมืองพรรคนี้ต่อไป และตนเต็มใจที่จะยืนยันเป็นสาชิกพรรคนี้ต่อไป และเชิญชวนสมาชิกเก่าที่ตั้งใจและยึดแนวทางประชาธิปไตยเพื่อดำเนินการทางการเมืองดูแลประชาชน” ท่าทีและถ้อยคำจาก “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกฯ ที่ยังคงอยู่กับพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ “พรรคชาติไทยพัฒนา” เป็นพรรคที่เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างแท้จริง เนื่องจากแกนนำที่ผู้ใหญ่ระดับสูงที่เคยนำพรรคสู้สนามการเลือกตั้ง ต่างแพ้สังขารไปตามกาลเวลา จึงเป็นจังหวะที่คนหนุ่มรุ่นใหม่ของพรรคต้องก้าวขึ้นมาเป็นแถวหน้าของพรรคแทนผู้อาวุโสที่ยอมหลบอยู่เบื้องหลัง

ด้วยสภาพที่เป็นอยู่ของพรรค เท่ากับว่า “วราวุธ ศิลปอาชา” ได้กลายเป็นผู้นำพรรคไปโดยปริยาย

โดยการเปิดให้สมาชิกพรรคมาแสดงตนตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่เพิ่งเริ่มต้นไปเมื่อเร็วๆ นี้ บรรดาแกนนำรุ่นใหญ่และทายาทการเมืองยังอยู่ในบ้านชาติไทยพัฒนาด้วยกันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาอดีต สส.ในกลุ่มพื้นที่ภาคกลาง

“การดำเนินการของพรรคใน
ขณะนี้เป็นการขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ ควบคู่ไปกับบุุคคลที่มีประสบการณ์ในทางการเมือง ซึ่งส่วนตัวได้รับการติดต่อจากผู้ใหญ่ในพรรคหลายท่าน”

ภาพรวมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองในเวลานี้ จะเห็นได้ว่าบรรดาพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยต่างเล่นเกมตามกติกา พร้อมๆ กับปรับตัวให้กับกฎหมายที่ คสช.ได้ออกแบบเอาไว้ ซึ่งสามารถทำตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะฝ่ายการเมืองเองประสงค์ที่อยากจะกลับเข้าสู่สนามเลือกตั้ง จึงต้องพยายามไม่สร้างเงื่อนไข และจัดทัพเพื่อให้พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง 

มา ณ ตอนนี้ น่าจะเหลือเพียงแต่ คสช.ว่าจะปรับตัวเองให้เข้ากับกติกาและยอมรับให้มีการเลือกตั้งได้หรือไม่ หรือว่าจะใช้กลไกหรือสร้างอภินิหารทางกฎหมายเพื่อเป็นเงื่อนไขในการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจนกว่าตัวเองจะพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง