posttoday

อัดงบประชารัฐแสนล้าน ชิงจังหวะหาเสียง

26 มีนาคม 2561

ประชานิยมอาจเป็นสิ่งที่่รัฐบาลชุดนี้รังเกียจ แต่เมื่อเป็นหนทางเดียวที่ช่วยให้ชนะเลือกตั้งได้ ก็ต้องกินไข่ของมัน แม้จะเกลียดตัวของมันแค่ไหนก็ตาม

ประชานิยมอาจเป็นสิ่งที่่รัฐบาลชุดนี้รังเกียจ แต่เมื่อเป็นหนทางเดียวที่ช่วยให้ชนะเลือกตั้งได้ ก็ต้องกินไข่ของมัน แม้จะเกลียดตัวของมันแค่ไหนก็ตาม

***************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

แม้ผู้สันทัดกรณีบางสำนักออกมาแสดงความคิดเห็นว่าการเลือกตั้งน่าจะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเดือน ก.พ. 2562 เพราะมองว่าอาจมีเหตุให้กติกาการเลือกตั้งต้องเป็นหมันและกลับไปเริ่มต้นกันใหม่ แต่หากมองไปที่ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นได้ว่าสัญญาณของการเลือกตั้งเริ่มขึ้นแล้ว

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ว่านั้น คือ การลงพื้นที่พบประชาชนหลายภูมิภาคในระยะหลัง ทั้งในรูปแบบการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร หรือติดตามการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งในบางครั้งจะมีการสื่อสารกับประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งเข้าไปด้วย ดังจะเห็นได้จากการกล่าวระหว่างลงพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา

“สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องหลักคิดที่ถูกต้องและดูแลทุกคน สส.ที่มาจากทุกพื้นที่ทุกจังหวัดมาจากหลายพรรคการเมือง ฝ่ายไหนเป็นรัฐบาลก็ลงพื้นที่ของเขา ต้องนึกถึงคนอื่นด้วย ต้องมีรัฐบาลที่ลงมาทุกพื้นที่ทุกจังหวัด ประชาธิปไตยต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ แต่ต้องไม่ทิ้งเสียงส่วนน้อย

ใครเป็นรัฐบาลต้องไม่ทิ้งฝ่ายค้านเพราะเขามีประชาชนที่จะต้องดูแลเหมือนกัน รัฐบาลนี้คิดแบบนี้จะได้มั่นคงเสียที ไม่ต้องไปกลัวใครฝ่ายไหนจะได้ไม่เป็นบุญคุณกันตลอดไป ไม่ได้อะไรขึ้นมาใหม่ ก็ได้เหมือนเดิม วันหน้าจะดีขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

อากัปกิริยาของ “บิ๊กตู่” แบบนี้ย่อมเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นในระดับหนึ่งแล้วว่าประชาชนกำลังจะได้เลือกตั้งตามโรดแมป ถึงในใจลึกๆ เหล่าผู้มีอำนาจใน คสช.ยังไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะมองว่ายังคุมเกมแบบเบ็ดเสร็จไม่ได้ แต่มาถึงจุดนี้สถานการณ์เดินมาถึงสุดทางแล้ว และคงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปล่อยให้ประชาชนเลือกตั้ง

ต้องยอมรับว่ามาถึงเวลานี้ คสช.อยู่ในอำนาจมาเป็นเวลา 4 ปี เทียบได้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหนึ่งสมัย หากอยู่ไปนานมากกว่านี้โดยไม่มีความชอบธรรมมากพอ ย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นโทษมากกว่าจะเป็นคุณกับรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อ คสช.หวังกลับมาเป็นรัฐบาลภายใต้กติกาที่ตัวเองได้ออกแบบไว้

พอการเลือกตั้งเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ ทำให้ในเวลานี้ คสช.ต้องอาศัยความได้เปรียบเก็บแต้มคะแนนความนิยมจากประชาชนให้มากที่สุด

โดยหมากล่าสุดที่รัฐบาลเดินออกมา คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท

กฎหมายงบกลางปีฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นที่เรียบร้อยไปเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา

งบประมาณก้อนนี้แบ่งออกเป็น 3 ก้อนภายใต้หลักการสำคัญ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันประเทศจำนวน 24,300,694,500 บาท 2.ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายในจำนวน 76,057,382,500 บาท 3.รายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 49,641,923,000 บาท เพื่อเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง

นอกจากนี้ ภายในงบประมาณยังได้มีการแบ่งเงินสำหรับมาตั้งเป็นกองทุนอีกจำนวน 3 กองทุน ประกอบด้วย 1.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จำนวน 20,000,000,000 บาท 2.กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 13,872,513,200 บาท และ 3.เงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตและขยายพันธุ์พืช จำนวน 150,000,000 บาท

งบประมาณจำนวน 3 ก้อนนี้จะเห็นได้ว่าเป็นงบประมาณที่เน้นการทำพื้นที่เป็นหลัก อันเป็นแนวทางคล้ายกับกองทุนหมู่บ้านที่ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งมาแล้วหลายสมัย

ดังนั้น หากจะบอกว่ารัฐบาลชุดนี้จะเดินตามรอยสู่ชัยชนะในสนามเลือกตั้งแบบพรรคเพื่อไทยคงไม่ผิดนัก เพียงแต่เปลี่ยนชื่อจาก “ประชานิยม” มาเป็น “ไทยนิยม” และ “ประชารัฐ”

การเน้นอัดงบประมาณลงให้ตามพื้นที่โดยตรง จากเดิมที่ต้องผ่านกระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ นั้น เป็นมาตรการเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตนเองสามารถเข้าถึงทรัพยากรของรัฐได้เต็มที่ ไม่ต้องผ่านขั้นตอนทางราชการที่ยุ่งยากเหมือนในอดีต หนำซ้ำสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนอีกว่ารัฐบาลที่ใช้นโยบายนี้ได้ช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจัง

ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่าประชาชนในกลุ่มมีรายได้ปานกลางหรือรายได้น้อย เป็นฐานเสียงสำคัญของการเลือกตั้งของไทยมาหลายสมัย ดังเห็นได้จากแนวทางของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมาที่ทำให้ตัวเองชนะเลือกตั้งได้หลายสมัยก็ล้วนมาจากการอัดนโยบายช่วยคนจนเป็นหลัก เพราะมองว่าถ้าซื้อใจคนกลุ่มนี้ได้ โอกาสที่จะชนะเลือกตั้งก็มีมากขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.มองเห็นกลยุทธ์นี้เช่นกัน แม้ที่ผ่านมาปากจะบอกว่าไม่ใช่นโยบายประชานิยม แต่มาตรการที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ต่อให้ไม่ได้ชื่อว่าประชานิยม ทว่าแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลก็แนบสนิทใกล้เคียงกับประชานิยมเป็นอย่างยิ่ง

แต่ละก้าวของรัฐบาลในเวลานี้ล้วนมีความสำคัญ เนื่องจากการเลือกตั้งเริ่มใกล้เข้ามาทุกที จึงต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อลบภาพของความเป็นรัฐบาลทหารให้ออกมาให้มากที่สุด เพื่อปูทางให้ตัวเองสลัดเสื้อลายพรางทหารออกไปและใส่เสื้อสูทแทน

ประชานิยมอาจเป็นสิ่งที่่รัฐบาลชุดนี้รังเกียจ แต่เมื่อเป็นหนทางเดียวที่ช่วยให้ชนะเลือกตั้งได้ ก็ต้องกินไข่ของมัน แม้จะเกลียดตัวของมันแค่ไหนก็ตาม