posttoday

พรรคเก่าระส่ำ ก่อนเส้นตายย้ายพรรค

23 มีนาคม 2561

เข้าสู่สภาวะ “ฝุ่นตลบ” ที่อดีตสส.จะต้องรีบสร้างความชัดเจนว่าจะสวมเสื้อพรรคไหนลงสมัครรับเลือกตั้งกับระบบใหม่ ในสถานการณ์การเมืองที่ยังไร้ทิศทาง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เข้าสู่สภาวะ “ฝุ่นตลบ” ที่อดีตสส.จะต้องรีบสร้างความชัดเจนว่าจะสวมเสื้อพรรคไหนลงสมัครรับเลือกตั้งกับระบบใหม่ ในสถานการณ์การเมืองที่ยังไร้ทิศทาง

เมื่อคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 53/2560 ขีดเส้นให้ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2561 แต่ละพรรคการเมืองต้องยืนยันสถานะสมาชิกพรรค ​โดยให้สมาชิกพรรคทำหนังสือยืนยันสถานะต่อหัวหน้าพรรค พร้อมจ่ายค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน หากไม่ทันกรอบเวลาให้ถือว่า “สิ้นสภาพสมาชิกพรรคการเมือง”

เส้นตายวันที่ 30 เม.ย. จึง​เป็นโอกาสสุดท้ายที่ สส.แต่ละคนจะสามารถย้ายพรรคได้ ก่อนที่จะเริ่มต้นเดินหน้าตามกระบวนการที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

ไล่มาตั้งแต่ เรื่องทุนประเดิม พรรคละ 1 ล้านบาท การหาสมาชิกพร้อมค่าบำรุงพรรคไม่น้อยกว่า 500 คน ภายใน 180 วัน และนับจาก 1 เม.ย. 2561 ภายใน 1 ปี ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คนพร้อมค่าบำรุง ภายใน 4 ปี ต้องมีสมาชิกและค่าบำรุงไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน

อีกทั้งภายใน 90 วัน จะต้องจัดการประชุมใหญ่ ปรับโครงสร้างบุคคลและข้อบังคับ จัดตั้งสาขาและตัวแทน ประจำจังหวัด ภาคละ 1 สาขา โดยสามารถขอขยายเวลาได้ 1 เท่า หากไม่ทันตามกำหนด

รวมทั้งจัดข้อกำหนดให้การเลือกตั้งครั้งแรก​ ต้องให้พรรคการเมืองจัดตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรค 4 คน และหัวหน้าสาขาเลือกกันเอง 7 คน หากพรรคใดหัวหน้าสาขาไม่พอ ก็ให้พรรคการเมืองหาสมาชิกให้ได้จนครบ 7 คน​

กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ทำให้พรรคการเมืองเก่าต้องรีบเร่งเช็กยอดอดีต สส.ของตัวเองก่อนที่จะเริ่มต้นกระบวนการเตรียมความพร้อม ควบคู่ไปกับการจัดทำยุทธศาสตร์และการหาเสียงต่อไป

เริ่มตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเวลานี้กำลังระส่ำระสายเมื่อฝั่ง กปปส.ประกาศตัวเตรียมตั้งพรรคการเมืองลงสนามแข่งกันเอง ด้วยจุดยืนที่แตกต่างกัน เมื่อฝั่ง สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ​ทำให้ ประชาธิปัตย์ ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรี ​ไม่อาจร่วมทางเดินเดียวกันได้

ปัญหาอยู่ที่อดีต สส.​ ซึ่งเป็นทั้งสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. ต้องตัดสินใจว่าจะลงสมัครในนามฝั่งใด โดยทั้งหมดจะต้องมีความชัดเจนเร็วๆ นี้

เพื่อความชัดเจน นิพิฏฐ์​ อินทรสมบั​ติ รองหัวหน้าดูแลพื้นที่ภาคใต้ได้สั่งเช็กแถวให้อดีต สส.แต่ละคนมาแสดงความชัดเจนว่าใครจะอยู่ใครจะไปเพื่อจะได้เตรียมความ​พร้อมแต่เนิ่นๆ

เบื้องต้นนอกจาก ธานี เทือกสุบรรณ และเชน เทือกสุบรรณ ที่จะย้ายไปสังกัดพรรค กปปส.แล้ว แกนนำคนอื่นๆ ยังยืนยันที่จะอยู่กับประชาธิปัตย์ซึ่งมีฐานเสียงเหนียวแน่นในพื้นที่ภาคใต้

ซึ่งไม่เพียงแค่อดีต สส.​เท่านั้นที่จะต้องเร่งสร้างความชัดเจน ​เพราะส่วนอื่นๆ ทั้ง สมาชิกพรรค คนที่จะมาทำหน้าที่ในสาขาพรรค ตลอดจนกลไกอื่นๆ แต่ละพรรคล้วนแต่ต้องสรรหาคนที่ดีที่สุด ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมาแย่งกันเอง ไม่รวมถึงคะแนนเสียงในอนาคต

อันเป็นโจทย์ที่ทั้ง กปปส.และประชาธิปัตย์ ต้องคิดหนัก เพื่อไม่ให้รอยร้าวบานปลายจนยากจะกลับ

มาสมานฉันท์ ยิ่งเวลานี้ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เริ่มมีการเคลื่อนไหวที่ปลุกให้สถานการณ์การเมืองร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ต่างจากพรรคเพื่อไทยซึ่งเวลานี้ หัวขบวนอย่าง ยิ่งลักษณ์​ ชินวัตร ต้องระหกระเหินหนีคดีอยู่ต่างประเทศ​ สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายภายในพรรค ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะถือธงนำลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ กระทั่งเริ่มเห็นปรากฏการณ์ออกมาเตะตัดขากันเอง

อีกด้านหนึ่งยังเห็นอดีต สส.ที่เคยอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทยประกาศตัวตั้งพรรคใหม่ ทั้ง พรรคพลังพลเมือง นำโดย สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ซึ่งมี อดีต สส. และรัฐมนตรี เข้าร่วมกับทางพรรคครั้งนี้หลายสิบคน

ยังไม่รวมกับกลุ่มก๊วนหรือมุ้งต่างๆ ​ที่เคยหลอมรวมเป็นเพื่อไทยในอดีต เวลานี้หลายกลุ่มก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะยังเหนียวแน่น ยืนหยัดอยู่กับพรรคเพื่อไทยต่อไปหรือไม่

เมื่อเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการแข่งขันที่มี คสช.กระโดดเข้ามาร่วมวงด้วย จึงเป็นไปได้ที่​เลือกตั้งครั้งนี้​จะเป็นการแข่งกันระหว่างฝั่งที่เอา คสช. กับฝั่งที่ไม่เอา คสช. ดังนั้นการจะสวมเสื้อเพื่อไทยลงสนามจึงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายในอดีต

โดยเฉพาะตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา ฝั่งพรรคเพื่อไทยต้องเผชิญกับมรสุมรุมเร้าอย่างหนัก แกนนำหลายคนต้องสะบักสะบอมจาก​คดีความที่พันตัวจนยากจะขยับเขยื้อน ทำให้การเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้งดูจะไร้พลังต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มา​

ยิ่งระบบเลือกตั้งรอบนี้ถูกมองว่าเอื้อให้พรรคเล็กๆ สามารถแจ้งเกิดได้หากได้ผู้สมัครที่มีความเข้มแข็งในพื้นที่ และยังสามารถนำคะแนนที่ได้จากทั้ง 350 เขต มาคำนวณเป็นคะแนน สส.บัญชีรายชื่อด้วย​

การ​แตกออกไปสวมเสื้อพรรคอื่นอาจเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่าในสถานการณ์แบบนี้ แถมยังเปิดช่องให้กลับมารวมตัวจัดตั้งรัฐบาลได้ในอนาคต พรรคเพื่อไทยจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความชัดเจนในช่วงฝุ่นตลบนี้ ส่วนจะสามารถสร้างเอกภาพหรือผนึกกำลังได้มากน้อยแค่ไหน ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป

ทั้งหลายทั้งปวงถือเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายสำหรับพรรคการเมืองเก่าที่กำลังจะลงสนามเลือกตั้งในระบบใหม่