posttoday

ระบบใหม่-แยกเบอร์ พรรคเล็กเกิดยาก

16 มีนาคม 2561

นับจากวันที่ 2 มี.ค. ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดให้กลุ่มที่สนใจเข้ามาจดแจ้งเตรียมตั้งพรรคการเมือง

โดย..ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับจากวันที่ 2 มี.ค. ซึ่งทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดให้กลุ่มที่สนใจเข้ามาจดแจ้งเตรียมตั้งพรรคการเมือง จนถึงขณะนี้ผู้ให้ความสนใจมาแจ้งกับ กกต. แล้ว 58 กลุ่ม สะท้อนให้เห็นบรรยากาศการตื่นตัวทางการเมืองที่มีผู้สนใจเตรียมพร้อมลงสู่สนามเลือกตั้งจำนวนมาก

ขั้นตอนจากนี้นายทะเบียนพรรคการเมืองตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารหลักฐานคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม รวมถึงชื่อ ชื่อย่อ และภาพเครื่องหมายพรรคการเมือง

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่การจดแจ้งไม่ถูกต้องนายทะเบียนพรรคการเมืองจะให้เวลาผู้ยื่นขอแก้ไข ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากแก้ไขได้ถูกต้องนายทะเบียนพรรคการเมืองจะออกหนังสือรับแจ้ง และหากไม่แก้ไขตามเวลาที่กำหนดคำขอนั้นถือว่าสิ้นผล

ทว่า ปรากฏการณ์การตื่นตัวของกลุ่มที่สนใจจะตั้งพรรคการเมืองนั้น อาจไม่สามารถสะท้อนภาพการเมืองในอนาคตที่มุ่งหวังว่าจะดึงดูดให้กลุ่มคนหน้าใหม่ชักก้าวเข้าสู่ถนนการเมือง อันจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบการเมืองในอดีตอย่างที่มุ่งหวังได้

​เนื่องจากกฎกติกาใหม่ที่ออกมานั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม รวมไปถึงกลไกการจัดตั้งพรรคการเมือง ที่มีขั้นตอนรายละเอียดที่ไม่เอื้อกับพรรคการเมืองที่จะเกิดขึ้นใหม่ หรือพรรคการเมืองขนาดเล็ก

เริ่มตั้งแต่ด่านแรก ขั้นตอนการจัดตั้งพรรค ซึ่งภายหลังผู้ที่เตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองจะแจ้งต่อทาง กกต.แล้ว จากนั้นจะต้อง​หาผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 500 คน พร้อมประชุมผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 250 คน และดำเนินการรวบรวมเงินทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ภายใต้กรอบเวลา 180 วัน

กระบวนการเริ่มต้นที่ผู้ออกแบบกติกา ทั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องการแก้ปัญหาหมักหมมจากในอดีต ด้วยการปลดแอก “พรรคการเมือง” ให้มีความอิสระ ปราศจากการครอบงำจากกลุ่มทุน หรือผูกขาดโดยผู้มีบารมีในพรรค ด้วยการกำหนดกรอบการมีส่วนร่วมของประชาชนรวมถึงเงินทุนด้วยนั้น

แต่ในทางปฏิบัติย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับกลุ่มที่ต้องการจะตั้งพรรคการเมืองที่จะต้องระดมสมาชิก 500 คน กับหาเงินประเดิม 1 ล้านบาท ​จนต้องรอดูว่าจาก 58 กลุ่ม ที่จดแจ้งกับ กตต.​ สุดท้ายจะสามารถทำตามขั้นตอนได้ครบถ้วนถูกต้องกี่พรรค

ยังไม่รวมไปถึงขั้นตอนกำหนดวางนโยบาย การคัดเลือกตัวผู้สมัคร (ไพรมารีโหวต) ที่จะมีรายละเอียดปลีกย่อย และสร้างความยุ่งยากสำหรับคนหน้าใหม่ที่ไม่เคยทำงานการเมืองมาก่อน ​

ด่านที่สอง ระบบเลือกตั้งแบบบัตรเดียวนับคะแนนสองระบบคือ ชี้ขาด​ที่นั่ง สส.เขต และนำคะแนนทั่วทั้งประเทศมาคำนวณเฉลี่ยหาเก้าอี้ สส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ​ซึ่งในหลักการมีจุดดีตรงที่ทุกคะแนนมีความหมายไม่ถูกทิ้งขว้าง แม้ สส.​จะแพ้ในระบบเขตก็ตาม

เบื้องต้นจึงคล้ายเป็นโอกาสของพรรคการเมืองเกิดใหม่ต้องไปแข่งกับพรรคการเมืองเก่าที่ทำพื้นที่มายาวนานต่อเนื่องมีฐานเสียงชัดเจน ​ดังนั้น แม้พรรคเล็กจะแพ้เลือกตั้ง แต่ก็ยังมีคะแนนนำไปคำนวณเป็น สส.ระบบบัญชีรายชื่อ ​

คล้ายกับสูตรเลือกตั้งในอดีตของบางพรรคการเมืองที่ไม่เน้น สส.ระบบเขต แต่หวังอาศัยความนิยมในตัวหัวหน้าพรรคหรือผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ ​ที่เมื่อนำคะแนนมารวมกันก็จะได้ สส.ตามสัดส่วนประมาณ 7-8 หมื่นเสียงต่อ สส. 1 คน

ปัญหาอยู่ตรงที่ความแตกต่างระบบเลือกตั้งรอบนี้ไม่ได้ใช้ระบบ 2 บัตรเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งระบบเดิมจะทำให้สามารถเลือกพรรคที่ชอบได้สะดวก เพราะใช้เบอร์เดียวกันทุกเขตเลือกตั้งทั่วทั้งประเทศ ง่ายต่อการหาเสียงในภาพกว้างที่ไม่ต้องเจาะแยกหาเสียงเป็นรายพื้นที่

แต่ระบบใหม่ที่​ผู้สมัคร สส.ระบบเขตของแต่ละพรรคใช้เบอร์แตกต่างในแต่ละพื้นที่ ย่อมเป็นอุปสรรคในการหาเสียงภาพรวม ซึ่งจะทำให้พรรคเล็กที่ไม่เป็นที่รู้จักมาก่อนได้รับผลกระทบมากกว่าพรรคเก่า

รวมทั้งการที่ตัดบัตรเลือกตั้งแบบระบบบัญชีรายชื่อออกไปเหลือแค่ระบบเขตอย่างเดียวนั่นย่อมหมายความว่า พรรคที่หวังจะได้คะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อมากๆ ย่อมต้องส่งผู้สมัคร สส.เขตให้มากที่สุด หรือครบ 350 เขต เพื่อจะได้กวาดคะแนนบัญชีรายชื่อจากทุกพื้นที่

ซึ่งหมายถึงการต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการทำพื้นที่ต่างจากเดิมที่สามารถเลือกส่ง สส.เขตเฉพาะพื้นที่ที่คาดหวัง โดยไม่ต้องสนคะแนนบัญชีรายชื่อ ​​

สุดท้ายจึงกลายเป็นข้อเสียเปรียบที่วนกลับมายังกระบวนการหาผู้สมัคร​ของพรรคใหม่ หากส่งผู้สมัครหน้าใหม่ไปลงระบบเขตย่อมเสียเปรียบพรรคที่มีอดีต สส.หัวคะแนน คุ้นเคยกับชาวบ้านในพื้นที่มาต่อเนื่อง

แม้แกนนำหรือหัวหน้าพรรคเกิดใหม่จะเป็นที่ยอมรับมีเสียงสนับสนุนที่เหนียวแน่น แต่ไม่อาจหวังใช้ต้นทุนดังกล่าวไปดึงคะแนนจากทั่วประเทศ หากผู้สมัครในพื้นที่ไม่เป็นที่ยอมรับหรือเป็นที่รู้จักเพียงพอ สุดท้ายโอกาสที่พรรคใหม่จะได้รับคะแนนเสียงก็ยากตามไปด้วย

โอกาสของพรรคเล็กที่จะแจ้งเกิดในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นไปได้ยากกว่าที่เคยคาดหวังกันว่าระบบเลือกตั้งใหม่จะเปิดให้คนหน้าใหม่เข้าสู่ระบบการเมือง