posttoday

สนช.ยื่นตีความ เสี่ยงทายยื้อเลือกตั้ง

15 มีนาคม 2561

การยื่นเสี่ยงทายไปยังศาลรัฐธรรมนูญย่อมเป็นประโยชน์แก่ สนช.และ คสช.ทุกด้าน

การยื่นเสี่ยงทายไปยังศาลรัฐธรรมนูญย่อมเป็นประโยชน์แก่ สนช.และ คสช.ทุกด้าน

*****************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

พลิกไปพลิกมาจริงๆ สำหรับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกี่ยวกับเรื่องร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.

เมื่อครั้ง สนช.ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายทั้งสองฉบับด้วยคะแนนท่วมท้น สมาชิก สนช.หลายคนต่างออกมายืนยันและมั่นใจว่าไม่จำเป็นต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ เพราะสิ่งที่ สนช.ได้ให้ความเห็นชอบไปนั้นถูกต้องแล้ว

แต่เวลาผ่านมาอีกสักระยะ ท่าทีที่เคยแข็งกร้าวกลับอ่อนลงอีกครั้ง หลังจาก “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาเตือนเสียงดังๆ อีกครั้งว่าร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ

“จะทำความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับให้ประธาน สนช.พิจารณา เนื่องจากมีข้อกังวลกรณี 1.ห้ามคนไม่ไปเลือกตั้งเป็นข้าราชการการเมือง 2.การให้เจ้าหน้าที่ช่วยผู้พิการลงคะแนน และ 3.การแยกผู้สมัคร สว.เป็นสองประเภท แบบอิสระและองค์กรจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

สนช.ดำเนินการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตอนนี้ จะไม่กระทบกับโรดแมป แต่หากปล่อยไปจนถึงเลือกตั้ง สว.ไปแล้วมีคนไปยื่นร้องและศาลบอกไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จะกระทบต่อโรดแมปทันที กระบวนการที่อยากให้เร็วมันจะล้มทั้งยืน ทุกอย่างต้องเริ่มใหม่หมด ต้องเริ่มนับหนึ่ง เขียนกฎหมายกันใหม่” เสียงเตือนจากประธาน กรธ.

ทันทีที่มีชัยประกาศกร้าวออกมา ส่งผลให้ สนช.แสดงอาการรับลูกขึ้นมาทันที ถึงขั้นที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) จะนำเรื่องดังกล่าวมาคุยกันในที่ประชุม สนช.วันที่ 15 มี.ค.กันเลยทีเดียว

หากจะหาเหตุผลถึงการเปลี่ยนใจของ สนช.น่าจะมีอยู่ภายใต้เหตุผล 2 ประการดังนี้

1.เหตุผลทางกฎหมาย

การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เฉพาะว่าผู้มีสิทธิเสนอคดีต่อศาลได้มีเพียง สนช.และนายกรัฐมนตรีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญเองยังมีบทบัญญัติในทำนองให้ประชาชนสามารถยื่นเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงด้วยตามมาตรา 213

“บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคําวินิจฉัยว่าการกระทํานั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ” มาตรา 213 ระบุ

ขณะเดียวกัน พอไปดู พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่ามาตรา 7 (11) มาตรา 46 และมาตรา 48 ได้บัญญัติรับรองในทางปฏิบัติให้กับประชาชนเช่นกัน กล่าวคือ ประชาชนต้องไปใช้สิทธิยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน หากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่เห็นด้วยและไม่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนจะกลายเป็นผู้มีสิทธิเสนอคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

เรียกได้ว่าถ้า สนช.ไม่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเอง คดีนี้ย่อมไปถึงศาลอยู่ดี เพราะกฎหมายเปิดช่องให้ประชาชนยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่อาจต้องรอให้กฎหมายเลือกตั้ง สส.และ สว.ประกาศใช้ก่อนเป็นสำคัญ

ที่สำคัญการชิงยื่นศาลรัฐธรรมนูญไปก่อนในเวลานี้ ย่อมเป็นผลดีต่อองคาพยพแม่น้ำ 5 สาย เพราะหากกฎหมายดังกล่าวต้องล้มไปภายหลังกฎหมายประกาศใช้ไปแล้ว จะมีปัญหาตามมาอีกมาก โดยเฉพาะการกำหนดวันเลือกตั้ง ดังนั้นการยื่นศาลรัฐธรรมนูญโดย สนช.เป็นวิธีการที่ดีที่สุด

2.เหตุผลทางการเมือง

ต้องไม่ลืมว่าสมาชิก สนช.ชุดปัจจุบันมีจำนวนไม่น้อยที่หวังจะกลับมามีตำแหน่งอีกครั้งผ่านการสวมสูทเป็นสว.ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็นผู้เลือกในอนาคต

แต่ก็มีสมาชิก สนช.อีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องการให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นตามโรดแมปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ประกาศไว้ เนื่องจากมองว่าจะทำให้กลุ่มอำนาจเก่ากลับมาเรืองอำนาจอีก จึงเห็นว่าควรจัดการกับปัญหาทุกอย่างให้เบ็ดเสร็จก่อนจากนั้นค่อยกำหนดวันเลือกตั้ง

การจะทำเช่นนั้นโดยได้รับกระแสต่อต้านมากที่สุด คือ การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายเลือกตั้ง สส.และการได้มาซึ่ง สว.

ประเด็นที่เป็นข้อพิพาทว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่เวลานี้ล้วนเป็นสาระสำคัญของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวทั้งสิ้น โดยเฉพาะกระบวนในการเข้าสู่ตำแหน่งของ สว. ที่ สนช.ไปปรับแก้ไขให้การสมัคร สว.ทำได้ 2 วิธี ได้แก่ 1.การสมัครโดยอิสระ และ 2.การสมัครผ่านองค์กรนิติบุคคล นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการยกเลิกระบบการเลือก สว.ข้ามกลุ่มด้วย

ข้อพิพาทเหล่านี้เป็นปัญหาที่ทั้ง สนช.และ กรธ.ได้ให้คำตอบและชี้แจงกันไปคนละทาง จึงเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งในการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้เด็ดขาด

ดังนั้น หากท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ย่อมจะมีผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องตกไปทั้งฉบับ จะมีผลให้ต้องกลับไปทำกฎหมายกันใหม่และการเลือกตั้งต้องถูกเลื่อนออกไปและ สนช.ก็ต้องทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติไปอีกนาน

เป็นอันว่าการยื่นเสี่ยงทายไปยังศาลรัฐธรรมนูญย่อมเป็นประโยชน์แก่ สนช.และ คสช.ทุกด้านนั่นเอง