posttoday

ทุจริตล้อมรัฐบาล สืบทอดอำนาจสะดุด

14 มีนาคม 2561

จากนาฬิกาหรูในวันนั้น มาถึงวันนี้ปัญหาความไม่โปร่งใสของรัฐบาลกำลังเป็นไฟลามทุ่ง

จากนาฬิกาหรูในวันนั้น มาถึงวันนี้ปัญหาความไม่โปร่งใสของรัฐบาลกำลังเป็นไฟลามทุ่ง

************************** 

โดย....ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ใกล้ครบ 4 ปีของการรัฐประหารดูเหมือนว่าอะไรต่อมิอะไรยังไม่ค่อยเป็นใจกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เท่าใดนัก หลังจากคะแนนความนิยมของ คสช.กำลังเผชิญกับการท้าทายครั้งสำคัญ

หากจะบอกว่าสาเหตุที่ คสช.อยู่ในช่วงขาลง ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากการเปลี่ยนจุดยืนไปมาของ คสช.เอง โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ตอนแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ประกาศจะให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งในปี 2561 แต่ทำไปทำมาพล.อ.ประยุทธ์ ก็งัดมุขส่งคำถามถึงประชาชนจำนวน 10 ข้อ ซึ่งเนื้อหาล้วนเป็นการชี้นำให้ประชาชนเห็นผลร้ายของการเลือกตั้งท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้

พอ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง มีผลใช้บังคับ แรงกดดันได้พุ่งเข้ามายัง คสช.มากขึ้น เพราะต้องการให้ คสช.ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้ แต่ คสช.เล่นแง่พร้อมกับใช้มาตรา 44 แก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง เพื่อให้สมาชิกพรรคการเมืองมารายงานตัวต่อหัวหน้าพรรค ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการสร้างภาระให้กับพรรคการเมืองโดยไม่จำเป็นและไร้ซึ่งประโยชน์

ต่อมาก็มีการเปลี่ยนตัวละครจากคสช.มาเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แทน ดังจะเห็นได้จากการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ซึ่งกำหนดให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง สส. ส่งผลให้การเลือกตั้งต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างน้อยอีก 3 เดือน แม้นายกฯ จะยืนยันหนักแน่นว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในต้นปี 2562 แต่ใครจะไปรู้อารมณ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ ของนายกฯ ว่าที่สุดแล้วจะเปลี่ยนใจอีกหรือไม่

เมื่อการคืนอำนาจให้กับประชาชนไม่มีความแน่นอน จึงไม่แปลกที่เวลามีเรื่องใดมากระทบรัฐบาล จะถูกนำมาโยงเกี่ยวกันไปเสียทั้งหมด โดยเฉพาะกับปัญหาความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นภายในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

ก่อนหน้านี้รัฐบาลเป็นหมู่บ้านกระสุนตกจากกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีนาฬิกาหรู แต่ไม่ได้แจ้งไว้ในรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

จากนาฬิกาหรูในวันนั้น มาถึงวันนี้ปัญหาความไม่โปร่งใสของรัฐบาลกำลังเป็นไฟลามทุ่งพอสมควร แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะยืนยันว่าไม่มีการทุจริต แต่เมื่อมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยออกมาเปิดเผยถึงสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยว่าเริ่มมีสัญญาณดิ่งลงเรื่อยๆ หลังปี 2558 หลังเริ่มมีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และพบว่าอัตราการจ่ายใต้โต๊ะในปี 2560 อยู่ที่ 5-15% ถือว่าสูงสุดในรอบ 3 ปี

มาเวลานี้ ปัญหาการทุจริตเริ่มปรากฏออกมาให้เห็นอีกครั้ง ได้แก่

1.กรณีงบประมาณช่วยเหลือของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งเป็นอยู่ในกำกับของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

รัฐบาลพยายามตัดไฟตั้งแต่ต้นลมด้วยการใช้มาตรา 44 โยกย้ายปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เข้ามาที่สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้ามาตรวจสอบ เบื้องต้นพบความผิดปกติทั้งหมด 44 จังหวัด จากทั้งหมด 76 จังหวัด มีงบประมาณทั้งหมด 123 ล้านบาท ซึ่ง 44 ศูนย์ฯ ที่พบทุจริตมีงบประมาณ 97.8 ล้านบาท หรือประมาณ
80%

2.กองทุนเสมาพัฒนาชีวิตของกระทรวงศึกษาธิการ

โดยกระทรวงศึกษาธิการตรวจพบว่ามีการโอนเงินทุนการศึกษาของนักเรียนในโครงการเข้าบัญชีของบุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2551-2561 เป็นจำนวนกว่า 88 ล้านบาท เฉพาะปี 2560 เป็นเงินกว่า 12 ล้านบาท นอกจากนี้ มีข้าราชการฝ่ายปฏิบัติเกี่ยวข้อง 5 ราย ซึ่งเป็นข้าราชการระดับ 8 ที่รับผิดชอบเรื่องนี้มาโดยตลอด พร้อมกับให้ ป.ป.ท.และ ป.ป.ช.ตรวจสอบ

เรียกได้ว่าสถานการณ์ของรัฐบาลสาหัสพอสมควร เพราะเพียงแค่ลำพังเรื่องการเมืองก็แทบจะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอกับการทุจริตในภาคราชการ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่อาจปราบปรามการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะเทือนมาถึงภาพลักษณ์ใหญ่ของรัฐบาลที่น่าจะได้รับผลกระทบไปอีกพอสมควร

ภาวะขาลงของรัฐบาลที่เผชิญทุกวันนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้ารัฐบาลสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องตั้งแต่แรก เพราะเคยมีการเปิดโปงว่ามีคนในรัฐบาลบางคนมีพฤติกรรมในลักษณะการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่ผู้นำรัฐบาลกลับออกมาอุ้มคนของตัวเองว่าไม่มีความผิดและไม่ได้สั่งโยกย้ายให้ออกจากตำแหน่งไปก่อน

สวนทางกับการดำเนินการข้าราชการ ปรากฏว่าได้ใช้มาตรา 44 โยกย้ายออกจากตำแหน่งทั้งๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดหรือไม่ และเมื่อผลสรุปออกมาว่าข้าราชการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรา 44 ไม่มีความผิด รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการเยียวยาเท่าที่ควร ปล่อยให้ข้าราชการหลายคนเกษียณไปตามกาลเวลา

ที่สุดแล้ว ถ้าจะบอกว่ารัฐบาลเดินมาถึงจุดตกต่ำนี้ได้เพราะตัวของรัฐบาลเอง เพียงแค่นี้คงพอจะเห็นได้แล้วว่าเส้นทางการสืบทอดอำนาจของ คสช.น่าจะลำบากและมีความเป็นไปได้น้อยพอสมควร เพราะความศรัทธาที่ประชาชนเคยมีให้นั้นอาจไม่เหมือนในอดีต