posttoday

เอาไม่เอา "ทักษิณ-บิิ๊กตู่" ปัจจัยชี้ขาดเลือกตั้ง

13 มีนาคม 2561

สุดท้ายเลือกตั้งรอบนี้จึงยังเป็นการแข่งขันกันระหว่าง ฝั่งที่ไม่เอา “ทักษิณ” กับฝั่งที่ไม่เอา “ประยุทธ์”

สุดท้ายเลือกตั้งรอบนี้จึงยังเป็นการแข่งขันกันระหว่าง ฝั่งที่ไม่เอา “ทักษิณ” กับฝั่งที่ไม่เอา “ประยุทธ์”

************************ 

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทางสู่การเลือกตั้งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. อันเป็นกฎหมายลูก 2 ฉบับ สุดท้ายซึ่งเมื่อมีผลบังคับใช้จะต้องเริ่มต้นนับหนึ่งจัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน  

สอดรับกับการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดให้กลุ่มต่างๆ เข้ามาจดแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งล่าสุดผ่านมา 7 วัน มีกลุ่มที่มาจดแจ้งแล้ว 56 กลุ่ม รวมทั้งยังมีกลุ่มที่แสดงความจำนง แต่ยังไม่ได้เดินทางมาแจ้งกับทาง กกต.อีกหลายกลุ่ม

เบื้องหลังฝุ่นที่กำลังตลบอบอวลในขณะนี้ หากวิเคราะห์ถึงแนวทางและทิศทางการขยับของแต่ละพรรคจะเห็นว่าสุดท้ายเลือกตั้งรอบนี้ย่อมหนีไม่พ้นเป็นการแข่งขันกันระหว่างสองกลุ่มใหญ่ คือ ฝั่งที่ไม่เอา “ทักษิณ” และ ฝั่งไม่เอา “ประยุทธ์”    

แน่นอนว่าจากหลายๆ ฝ่ายที่ประกาศเปิดหน้าออกมาเตรียมตั้งพรรคการเมืองนั้น ส่วนใหญ่ยังเป็นหน้าใหม่ที่เป็นไปได้ยากที่ลำพังจะมีศักยภาพเพียงพอจะกวาดเก้าอี้ สส.เป็นกอบเป็นกำจนสามารถรวมเสียงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยตัวเอง

สุดท้ายพรรคที่จะมีศักยภาพเพียงพอจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจึงหนีไม่พ้นพรรคใหญ่คือเพื่อไทย และ ประชาธิปัตย์ ซึ่งมีโครงสร้าง ระบบการจัดการ ประสบการณ์ และฐานเสียงชัดเจน

ปัญหาอยู่ที่เวลานี้การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการแข่งขันกันระหว่าง “เพื่อไทย” และ “ประชาธิปัตย์” หรือ ฝั่งที่เอาระบอบทักษิณกับฝั่งไม่เอาระบอบทักษิณ เหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว

เมื่อเสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือเป็นอีกกลุ่มก้อนทางการเมืองที่มีแนวร่วมออกมาสนับสนุนอยู่ไม่น้อย แถมยังเป็นการเปิดหน้าประกาศตัวเป็นพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง

จนกลุ่มนี้กำลังจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดทิศทางการเมือง ไปจนถึงชี้ขาดการเลือกนายกรัฐมนตรี และยังหมายรวมถึงการชี้ทิศชี้ทางการหาเสียงที่จะต้องแสดงความชัดเจนกันตั้งแต่เริ่มต้น

สังเกตได้จากทั้งหมด 56 พรรค ที่เข้ามาจดแจ้งเตรียมตั้งพรรคกับ กกต. จะเห็นว่ามีกลุ่มที่ประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีชัดเจน ไล่มาตั้งแต่ 1.พรรคประชาชนปฏิรูป นำโดย “ไพบูลย์ นิติตะวัน” อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  2.พรรคพลังชาติไทย ของ “พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์” อดีตคณะทำงาน คสช. 3.พรรคมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่ง ธานี เทือกสุบรรณ เตรียมยื่นต่อ กกต.เร็วๆ นี้

รวมถึง “พรรคพลังประชารัฐ” ที่จดจองโดย ชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม ซึ่งมีรายงานข่าวว่าจะเป็นพรรคที่จะดึง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นที่ปรึกษาพรรคและสานต่อนโยบายประชารัฐของรัฐบาลที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ และจะเป็นกำลังหลักที่จะเดินหน้าลงสนามเลือกตั้งที่จะถึง

อีกด้านหนึ่งกลุ่มที่ประกาศไม่สนับสนุนทหารก็มีอยู่ไม่น้อย ได้แก่ กลุ่มของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหาร ไทยซัมมิท คนรุ่นใหม่ ไฟแรงมีแนวความคิดทางการเมืองที่ชัดเจน ซึ่งเตรียมจับมือกับ ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการจากฝั่งนิติราษฎร์ รวมทั้งกลุ่มกิตติชัย งามชัยพิสิฐ เป็นอีกหนึ่งในคณะ เตรียมตั้งพรรคสามัญชน และกลุ่มของ บก.ลายจุด สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่กำลังเตรียมจดแจ้งตั้ง “พรรคเกรียน” ซึ่งแต่ละกลุ่มล้วนมีจุดยืนชัดเจน

มุมน่าสนใจอยู่ที่ทางฝั่ง กปปส.และประชาธิปัตย์ ซึ่งมีพื้นที่ฐานเสียงทับซ้อนกันอยู่นั้น จุดยืนร่วมกันที่ชัดเจนคือไม่เอาระบอบทักษิณ ดังจะเห็นจากการเคลื่อนไหวยืนคนละฝั่งชัดเจนมานานหลายปี

แต่จุดต่างรอบนี้อยู่ตรงที่พรรคของ กปปส.ประกาศตัวหันไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย สวนทางกับจุดยืนประชาธิปัตย์ที่ยืนยันเสนอชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

อันเป็นชนวนขยายรอยร้าวระหว่าง กปปส.และประชาธิปัตย์ ให้ลุกลามขยายวงรุนแรงมากขึ้น ยิ่งในช่วงหาเสียง ที่ทั้งสองฝั่งจะต้องชูจุดยืนของตัวเอง นำเสนอตัวเป็นทางเลือกของประชาชน

เพราะในพื้นที่ภาคใต้เอง แม้ส่วนใหญ่จะเคยเป็นแนวร่วม กปปส. ที่เหนียวแน่นในช่วงเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ แต่ด้วยการบริหารงานของ คสช.ที่ผ่านมาไม่ได้สร้างผลงานอันประทับใจกับชาวบ้านมากนัก

โดยเฉพาะปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำจนกลุ่มเกษตรกรสวนยางออกมาเคลื่อนไหวหลายรอบ ยังไม่รวมกับเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และปัญหาพิพาทอื่นๆ ที่ฉุดคะแนนนิยม คสช.ให้ลดน้อยลงไป

แม้สุดท้ายจะถูกมองว่าเป็นยุทธศาสตร์แยกกันเดินร่วมกันตีของ กปปส.และประชาธิปัตย์ ที่สุดท้ายก็ต้องกลับมาจับมือร่วมกันตั้งรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้านในอนาคตอยู่ดี

ทั้งหมดจึงตอกย้ำว่าสุดท้ายเลือกตั้งรอบนี้จึงยังเป็นการแข่งขันกันระหว่าง ฝั่งที่ไม่เอา “ทักษิณ” กับฝั่งที่ไม่เอา “ประยุทธ์” อยู่ที่ว่ากลุ่มไหนจะมีแนวร่วมมากกว่ากัน