posttoday

สนช.ผ่านกฎหมายลูก แต่เลือกตั้งยังสะดุด

08 มีนาคม 2561

การเมืองไทยเดินทางมาถึงหัวโค้งสำคัญที่สุดก็ว่าได้ เนื่องจากวันนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)จะลงมติให้ความเห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเมืองไทยเดินทางมาถึงหัวโค้งสำคัญที่สุดก็ว่าได้ เนื่องจากวันนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงมติให้ความเห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ภายหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่ายได้พิจารณาเสร็จแล้ว

ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับต้องผ่านเส้นทางแห่งความขัดแย้งมาพอสมควร โดยเฉพาะการไม่ลงรอยกันในทางความคิดระหว่าง สนช.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จนนำมาซึ่งการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยิ่งไปกว่านั้นตลอดระยะเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดการปล่อยข่าวว่า สนช.อาจลงมติไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายเพื่อให้กลับไปพิจารณากันใหม่อีกครั้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. เรียกได้ว่าสิ่งที่ กรธ.เสนอเข้าสนช.ไปนั้นกลับถูก สนช.เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น การกำหนดให้ สว.มาจากกลุ่มวิชาชีพจำนวน 10 กลุ่ม จากเดิมที่ กรธ.กำหนดไว้ 20 กลุ่ม หรือเปลี่ยนระบบการเลือกกันเองของผู้สมัคร สว.จากระบบการเลือกไขว้ข้ามกลุ่มมาเป็นการเลือกในกลุ่มเดียวกันโดยตรง เป็นต้น

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกฎหมาย สว.กลายเป็นเรื่องที่ สนช.ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะวุฒิสภาชุดแรกในอนาคตจะมาจากการเลือกของ คสช. ซึ่งการสรรหาของ คสช.นั้นนอกจากจะเลือกโดยตรงตามอำเภอใจของ คสช.แล้ว สว.อีกส่วนหนึ่ง คสช.ต้องเลือกจากกลุ่มบุคคลที่ผ่านการเลือกตามร่างกฎหมาย สว.อีก จำนวน 50 คนด้วย จึงจำเป็นต้องหาวิธีการคัดเลือกคนที่ปลอดจากการเมืองให้ คสช.

ทว่าการกลับหัวกลับหางของ สนช.ได้สร้างความไม่พอใจให้กับ กรธ.อยู่ไม่น้อย ถึงขั้นที่ กรธ.ต้องออกมาท้วงติงว่าการทำเช่นนี้อาจมีผลให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ถึงที่สุดแล้ว สนช.ก็หาทางออกแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น ด้วยการพบกันครึ่งทางระหว่าง กรธ.และ สนช.

กล่าวคือการกำหนดในบทเฉพาะกาลให้นำวิธีการได้มาซึ่ง สว.ที่ สนช.ได้เสนอทั้งเรื่องการให้ สว.มาจากกลุ่มวิชาชีพ 10 กลุ่ม การให้บุคคลสมัคร สว.ในนามอิสระและผ่านองค์กรนิติบุคคล และการยกเลิกระบบการเลือกไขว้มาใช้กับการเลือก สว.ใน 5 ปีแรก แต่หลังจากเมื่อพ้นเวลา 5 ปี จะกลับไปใช้ระบบการได้มาซึ่ง สว.ตามที่ กรธ.บัญญัติมาใช้ ทั้งการให้ สว.มาจากกลุ่มวิชาชีพ 20 กลุ่ม การสมัคร สว.ในนามอิสระเท่านั้น และการเลือกด้วยวิธีการเลือกไขว้

เมื่อออกรูปแบบนี้ ทำให้กระแสข่าวที่ว่า สนช.จะลงมติฉีกกฎหมายเลือกตั้งทิ้งกลางสภาจบลง และนำมาซึ่งการประกาศกรอบเวลาการเลือกตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 2562

สถานการณ์ด้านหนึ่งดูเหมือนว่าประเทศกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แต่ทำไปทำมาเวลานี้อาจจะไม่เป็นอย่างนั้นเสียแล้ว เมื่อ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. ออกมาเสนอให้ สนช.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สว.

“เป็นห่วงในร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. เรื่องการสมัคร สว. 2 ประเภท แม้ปรับให้ไปอยู่ในบทเฉพาะกาลแล้ว แต่อดกังวลไม่ได้ว่าจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

หวังว่าเมื่อ สนช.ให้ความเห็นชอบแล้ว จะทำให้เกิดความชัดเจนด้วยการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะหากปล่อยไปวันหน้ามีคนยกขึ้นมามันจะเกิดปัญหาได้ ซึ่งการส่งให้ศาลตีความไม่กระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง ยังคงอยู่ในกรอบเดือน ก.พ. 2562 ที่เป็นการคำนวณแบบเต็มเหยียด” มีชัย ระบุเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา

คล้อยหลังมีชัยได้เรียกร้องไปไม่นาน ปรากฏว่า “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. ออกมารับลูกเช่นกัน เพราะ สนช.เองก็ไม่อยากให้เกิดปัญหาใหญ่เกินกว่าความรับผิดชอบของสภาในภายหลัง จึงมีความเป็นไปได้พอสมควรที่ สนช.จะเข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ภายหลัง สนช.ลงมติผ่านกฎหมายไปแล้ว

แน่นอนว่าการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาและหากในบั้นปลายศาลวินิจฉัยว่ากฎหมายไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างก็จบและเดินหน้าตามโรดแมป แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น คือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่างกฎหมายสว.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมมีผลต่อโรดแมปเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รัฐธรรมนูญมาตรา 148 ระบุว่าหากข้อความของร่าง พ.ร.บ.ที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นสาระสำคัญ จะมีผลให้ร่าง พ.ร.บ.นั้นเป็นอันตกไป แต่ถ้าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ จะมีผลเพียงแค่ให้เฉพาะข้อความนั้นตกไป

ทั้งนี้ เมื่อดูจากประเด็นที่ประธาน กรธ.เป็นห่วงและต้องการให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการให้สมัคร สว.ผ่านองค์กรนิติบุคคล เป็นสาระสำคัญของร่างกฎหมาย สว. เนื่องจากเป็นการ
เข้าสู่ตำแหน่งของบุคคล

ดังนั้น เท่ากับว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าข้อความดังกล่าวขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ตกไปและต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ และโรดแมปต้องเลื่อนไปโดยปริยาย เนื่องจากการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลใช้บังคับ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีร่างกฎหมาย สว.

บรรยากาศทางการเมืองที่กำลังเดินไปด้วยดีกำลังจะมาสะดุดอีกครั้ง โดยเงื่อนไขแห่งปัญหาทั้งหมดล้วนมาจากการเล่นแร่แปรธาตุของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง