posttoday

เปิดเลือกตั้งท้องถิ่น เช็กกำลัง-วัดกระแส

27 กุมภาพันธ์ 2561

นาทีนี้คงยังไม่มีใครบอกได้แน่ชัดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่ภายหลังสนช.เพิ่งลงมติไม่เห็นชอบให้บุคคลที่ผ่านการสรรหาจำนวน 7 คน ไปดำรงตำแหน่ง กกต.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นาทีนี้คงยังไม่มีใครบอกได้แน่ชัดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่งลงมติไม่เห็นชอบให้บุคคลที่ผ่านการสรรหาจำนวน 7 คน ไปดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

แม้การลงมติฉีกหน้าคณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ ศาลฎีกาของ สนช. จะไม่มีผลกระทบ ต่อโรดแมปการเลือกตั้งโดยตรง เนื่องจาก กกต.ชุดปัจจุบันยังสามาร ทำหน้าที่ได้ตามปกติภายใต้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. พ.ศ. 2560 กำหนด แต่ในอนาคตจะมีใครรู้ว่าจะมีการสร้างเงื่อนไขอะไรขึ้นมาอีก เพื่อเลื่อนการเลือกตั้ง ดังที่ สนช.ได้เคยทำมาแล้วผ่านการให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) และ สนช.พยายามยื้อการเลือกตั้ง ส่งผลให้เริ่มเกิดกระแสต่อต้านนอกสภาเป็นระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งเริ่มเกาะกลุ่มรวมตัวกันได้หนาแน่นมากขึ้น

ขณะที่ คสช.เองก็ไม่สามารถสร้างแรงกดดันต่อกลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้มากนัก เนื่องจากต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันประเทศไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไม่ใช่คำสั่งของ คสช.เหมือนเมื่อก่อน เท่ากับการชุมนุมของประชาชนย่อมได้รับการคุ้มครองตราบเท่าที่การชุมนุมนั้นยังไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เองทำให้รัฐบาลเริ่มส่งสัญญาณเกี่ยวกับการเลือกตั้งออกมาบ้าง อย่างน้อยเพื่อลดกระแสกดดัน นั่นหมายถึงการประกาศจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในปีนี้

"คาดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีขึ้นในบางระดับก่อนในปีนี้ การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผมยังไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้นได้ ส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ถ้าจำนวนสมาชิกและเขตพื้นที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะจัดการเลือกตั้งได้ ไม่ยุ่งยากอะไร แต่ถ้าเขตเลือกตั้งเปลี่ยนทำให้รายชื่อประชาชนมีการเคลื่อนย้ายจะยุ่งยาก ต้องให้กกต. ชุดใหม่เป็นคนแบ่ง" คำกล่าวจาก "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ก.พ.

ถ้าพิจารณาจากคำพูดของ รองนายกฯ พอจะทำให้เห็นการ เลือกตั้งท้องถิ่นจะมีขึ้นอย่างแน่นอน เพียงแต่จะเป็นพื้นที่เท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะได้ใช้อำนาจของตัวเอง เพื่อเลือกผู้แทนประชาชนอย่างเป็นทางการ ภายหลังถูก คสช.ริบเอาไว้ มาเป็นเวลา 3 ปี

ฝ่าย กกต.ออกมารับลูกว่ากติกาสำหรับการควบคุมการเลือกตั้งท้องถิ่นพร้อมหมดแล้ว โดยรอเวลาส่งให้ สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบ

สำหรับร่างกฎหมายเลือกตั้ง ท้องถิ่นที่ กกต.จัดทำนั้นมีสาระสำคัญที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ กกต.แต่ละคนมีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง ยกเลิกการเลือกตั้ง หรือสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่ หากพบการกระทำความผิดในกรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นลาออกก่อนครบวาระ หากมีการอนุมัติโครงการที่ใช้งบประมาณท้องถิ่นภายใน 90 วันก่อนวันลาออก ให้ถือว่าผู้บริหารท้องถิ่นกระทำการฝ่าฝืน เว้นแต่โครงการดังกล่าวเป็นการบรรเทาทุกข์จากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติสาธารณะ เป็นต้น

กระบวนการของการพิจารณากฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น เริ่มมีการประมาณกันว่าน่าจะเสร็จขั้นตอนทางนิติบัญญัติช่วงเดือน ส.ค. ก่อนจะกำหนดให้ช่วงเดือน ต.ค.เป็นวัน หย่อนบัตรเลือกตั้ง

สถานการณ์มาถึงตอนนี้ คสช. มีทางเลือกไม่มาก ด้วยเหตุที่กำลังเผชิญกับกระแสกดดันรอบด้าน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถแก้ไขเพื่อตอบโจทย์กับประชาชน เช่นเดียวกับปัญหาการเมืองซึ่งกำลังพายเรืออยู่ในอ่างที่ไม่สามารถสร้างหลักประกันแห่งความโปร่งใสได้ หลังจากรัฐบาลถูกตีตราว่า "ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง" เพราะเคยบอกว่านักการเมืองทุจริต แต่เมื่อรัฐบาลเจอกับตัวเองกลับเสียงดังและอำนาจเพื่อเขี่ยปัญหาไปซุกไว้ใต้พรม

การส่งสัญญาณเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อให้สังคมเห็นว่ารัฐบาล ไม่ได้หวงอำนาจ จึงเป็นเครื่องมือ ที่สำคัญของรัฐบาลเพื่อลดกระแส ต่อต้านในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้ง ท้องถิ่นที่จะมีขึ้นนั้น คสช.ไม่ได้หวังใช้เป็นรูระบายลดอุณหภูมิการเมืองเท่านั้น แต่ คสช.ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบกำลังและฐานเสียงของพรรคการเมืองไปในตัวด้วย

โดยทั่วไปแล้วการหาเสียง เลือกตั้งท้องถิ่น พรรคการเมืองจะให้ความสำคัญพอสมควร เพราะการเมืองท้องถิ่นเป็นรากฐานสำคัญของฐานเสียงเลือกตั้งในระดับประเทศ หากพรรคการเมืองไหนมีฐานท้องถิ่นแข็งแรง โอกาสที่จะได้รับชัยชนะในการเมืองระดับชาติย่อมมีสูงขึ้น

ตัวอย่างมีให้เห็นอย่างการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นภายใต้ยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่พรรครัฐบาลกลับแพ้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน โดยปัจจัยที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งในสนามเมืองหลวงมาจากความเข้มแข็ง ของฐานเสียงของพรรคที่สร้างเอาไว้มาเป็นเวลานานตั้งแต่ระดับสมาชิกสภาเขตจนมาถึงระดับสมาชิกสภา กทม.

แน่นอนว่าเมื่อปี่กลองการเมืองเลือกตั้งท้องถิ่นดังขึ้น พรรคการเมืองต่างๆ ต้องการส่งคนลงสนาม เพื่อวัดกระแสความนิยมของตัวเองว่ายัง เข้มแข็งเหมือนเดิมหรือไม่ ก่อนจะไป สู่สนามเลือกตั้งใหญ่

เช่นเดียวกับ คสช.แม้อาจ จะยังไม่ปรากฏพรรคนอมินีเพื่อลงสนามเล็ก แต่ คสช.ย่อมต้องการจะดูฐานกำลังของพรรคการเมืองและอารมณ์ของประชาชนด้วยว่ายังให้การต้อนรับนักการเมืองหรือไม่

ทันทีที่ คสช.เห็นไพ่ของพรรคการเมือง ย่อมจะเป็นโอกาสสำคัญที่ คสช.จะมาประเมินตัวเองว่าจะดีพอสำหรับการเข้าสู่อำนาจเพื่อสืบทอดอำนาจหรือไม่ต่อไป