posttoday

สนช.-กรธ.ซัดกันอีกยก มวยล้มเลื่อนเลือกตั้ง

13 กุมภาพันธ์ 2561

ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ที่สนช. แก้ไขให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเวลา 90 วันนับแต่วันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

โดย..ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเวลา 90 วันนับแต่วันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

ถึงกระนั้น เวลานี้เริ่มมีหลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตแล้วว่าการเลือกตั้งอาจถูกเลื่อนออกไปแบบไม่มีกำหนดด้วยเหตุผลและเทคนิคทางกฎหมายและการเมือง ภายหลังคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่ายระหว่าง “กรธ.-สนช.-กกต.” เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. เพราะเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับของ สนช.ทำให้กฎหมายดังกล่าวขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

กรธ.ตั้งข้อสังเกตออกเป็น 7 ประเด็น แบ่งออกดังนี้

ร่างกฎหมายเลือกตั้ง 4 ประเด็น 1.ตัดสิทธิคนไม่ไปเลือกตั้ง ห้ามเป็นข้าราชการการเมือง 2.จัดมหรสพ เพราะจะเป็นปัญหาด้านกำหนดค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร 3.เวลาลงคะแนนที่ สนช.แก้เป็นเวลา 07.00-17.00 น. และ 4.การลงคะแนนแทนผู้พิการทางสายตา ซึ่งจะกระทบต่อหลักการที่ว่าด้วยการเลือกตั้งต้องเป็นการลงคะแนนลับ

ร่างกฎหมายการได้มาซึ่ง สว. 3 ประเด็น ประกอบด้วย

1.การเปลี่ยนแปลงจำนวนกลุ่มการสมัครจาก 20 กลุ่มเหลือเพียง 10 กลุ่ม ไม่มีหลักประกันว่าการเลือกกันเองภายในแต่ละกลุ่มนั้นผู้สมัครจะได้รับเลือกในลักษณะเฉลี่ยกันอย่างทั่วถึง

2.การแบ่งผู้สมัครในแต่ละกลุ่มออกเป็น 2 ประเภทและการให้ผู้สมัครในแต่ละประเภทเลือกกันเอง การให้มีองค์กรเป็นผู้เสนอ หรือรับรองผู้สมัครเข้ารับเลือกเป็น สว. ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถรับเลือกในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้อย่างเสรี

3.การยกเลิกการเลือกไขว้ กรธ.เห็นว่าการตัดมาตรการเลือกไขว้ออกโดยไม่มีมาตรการที่เท่าเทียม หรือเข้มข้นกว่าในการลดความเป็นไปได้ในการสมยอมกันในการเลือกมาแทน เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการสมยอมกันโดยไม่สุจริตในการเลือก สว.

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า กรธ.ค่อนข้างจะไม่ค่อยพอใจกับการทำงานของสนช.ไม่น้อย เพราะการแก้ไขของ สนช.ไม่ต่างอะไรกับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้ร่างกฎหมายของ กรธ.ที่กำหนดขึ้นมาถูกกลับหัวกลับหางไปพอสมควร จึงเป็นเรื่องที่ กรธ.ไม่อาจยอมให้ปล่อยผ่านไปได้ง่ายๆ เหมือนกับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปยัง สนช.แล้วปฏิเสธไม่ได้ว่า สนช.เองก็ไม่ยอม กรธ.ง่ายๆ เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับร่างกฎหมายการได้มาซึ่ง สว.

อย่างที่ทราบกันดีว่าวุฒิสภาชุดใหม่ใน 5 ปีแรกจำนวน 250 คน จะมาจากการเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 จำนวน 6 คน มาจากผู้บัญชาการเหล่าทัพและปลัดกระทรวงกลาโหมโดยตำแหน่ง กลุ่มที่ 2 จำนวน 194 คน มาจากการเลือกโดยตรงของ คสช. และกลุ่มที่ 3 จำนวน 50 คน โดยมาจากการเลือกตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 200 คน ก่อนที่ คสช.จะเลือกให้เหลือ 50 คนเพื่อเป็น สว.

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาชิก สนช.ชุดปัจจุบันหรือบรรดาอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวนไม่น้อยต่างหวังว่าตัวเองจะมีโอกาสได้กลับเข้ามาเป็น สว.อีกครั้ง โดยสามารถเลือกได้สองทางระหว่างใช้ทางลัด 194 คน กับทางอ้อม 50 คนผ่านกฎหมาย สว.

คนที่จะผ่านทางลัดได้ต้องเป็นระดับเส้นใหญ่และคนในดวงใจของ คสช.เท่านั้น ส่วนคนที่ผ่านทางอ้อมนั้นอาจจะไม่ใช่คนในใจ คสช.อย่างแท้จริง เพราะเดิมที คสช.ต้องการให้ กรธ.เขียนในบทเฉพาะกาลตั้งแต่แรกว่าให้ สว.ชุดแรกมาจากการเลือกของคสช.ทั้งหมด แต่หากคนหน้าเก่าๆ ไม่ว่าเป็น สนช. สปช. หรือ สปท.เข้ามาปนกับคนหน้าใหม่ๆ ที่เล็ดรอดมาได้ โอกาสของคนหน้าเก่าย่อมมีมากกว่าคนหน้าใหม่อย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้เอง สนช.จำนวนไม่น้อยถึงต้องออกมาโจมตีตั้งแต่กฎหมาย สว.เข้าสู่วาระแรกในที่ประชุม สนช.ว่าระบบการเลือก สว.ของ กรธ.จะส่งผลให้ประเทศไทยได้ สว.ไม่ต่างจากอดีต โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นระบบที่เอื้อให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้ง่ายมากขึ้น

ถึงกระนั้น กรธ.เองคงไม่ยอมให้ สนช.ปู้ยี่ปู้ยำกฎหมาย สว.อย่างแน่นอน เพราะ กรธ.หวังจะสร้างผลงานก่อนอำลาตำแหน่งเช่นกัน

เมื่อแรงปะทะของช้างใหญ่ทั้งสองตัวมาเจอกัน โอกาสที่หญ้าแพรกจะแหลกลาญก็มีสูง ซึ่งนั่นหมายถึงการที่ สนช.ลงมติฉีกกฎหมาย สว.ทิ้ง เพื่อให้ทุกอย่างกลับไปเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด

แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดว่าการมีมติฉีกกฎหมาย สว.ทิ้งต้องใช้เสียงถึง 2 ใน 3 หรือ 165 เสียงจาก สนช. 248 คน จะดูเหมือนสูง แต่ภายใต้ สนช.ที่มาจากการเป่านกหวีดของคนไม่กี่คน การสั่งซ้ายหันหรือขวาหันจึงไม่ใช่เรื่องยากแต่ประการใด