posttoday

รื้อระบบลากตั้งสว. ช่วยคสช.เลือกทายาท

06 กุมภาพันธ์ 2561

สถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้ไม่ได้มีเพียงประเด็นอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประวิตร เท่านั้น เพราะการต่อสู้ทางการเมืองเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้ไม่ได้มีเพียงประเด็นอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เท่านั้น เพราะการต่อสู้ทางการเมืองเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่งมีมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวไปเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ตามขั้นตอนต้องส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาว่าจะเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่ายหรือไม่ ซึ่งจะสิ้นสุดใน วันที่ 9 ก.พ.

โดยหากดูแนวโน้มและท่าทีของ กรธ.ในเวลานี้ ต้องยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่ กรธ.จะเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่าย ไม่ปล่อยผ่านเหมือนกับร่างกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรอิสระเหมือนที่ผ่านมา

"เจตนาของ กรธ.ต้องการให้ สว.เป็นสภาของประชาชนมากกว่าสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวเลข 20 กลุ่มอาชีพ ก็ไม่ได้มาลอยๆ กรธ.นำฐานมาจากการรับฟังความเห็น และยิ่งแบ่งประเภทการสมัคร เท่ากับว่าผู้ที่ลงสมัครในนามองค์กรที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองจากองค์กรนั้นก็ได้ และยิ่งกำหนดให้มาจากอิสระ 100 คน มาจากองค์กร 100 คน อาจทำให้ สว.ไม่ได้เป็นตัวแทนของทุกกลุ่มอาชีพ ดังนั้นประเด็นเหล่านี้อาจ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ" ท่าทีจาก มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.

นับเป็นเรื่องเป็นราวที่น่าสนใจ เพราะย้อนกลับไปเมื่อครั้งการประชุม สนช. วันที่ 26 ม.ค. ปรากฏว่า สนช. ได้แก้ไขประเด็นสำคัญอันเป็นหลักการ ใหญ่ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การให้ สว.มาจากกลุ่มวิชาชีพจำนวน 10 กลุ่ม จากเดิม 20 กลุ่ม และ 2.การเปิดโอกาสให้องค์กรนิติบุคคลเสนอชื่อบุคคลเข้ามาเป็น สว.ได้ จากเดิมกำหนดให้มีเพียงการสมัครในนามอิสระเท่านั้น

การแก้ไขของ สนช. ส่งผลให้การเข้าสู่ตำแหน่งของ สว.กลับหัวกลับหางมากขึ้น ถึงขนาดที่การประชุมในวันนั้นได้มีสมาชิก สนช.คนหนึ่งพูดว่า "สนช.จะเขียนร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่กลางห้องประชุมอย่างนั้นเหรอ"

แน่นอนว่าการรื้อระบบที่มา สว.เช่นนี้ สนช.หวังผลทางการเมืองเป็นสำคัญ

ที่ผ่านมานับตั้งแต่ร่างกฎหมาย สว.เข้าสู่ สนช. ในวาระที่ 1 ปรากฏว่าสมาชิก สนช.หลายคนทั้งอดีต สว.และนายทหารต่างเห็นตรงกันว่าต้นร่างของกฎหมายที่ กรธ.เสนอมานั้นเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองส่งคนเข้ามาบล็อกโหวตได้โดยง่าย แม้ในบั้นปลายที่สุดแล้ว คสช.จะเป็นผู้เลือก สว.จำนวน 50 คนก็ตาม แต่หากต้นทางเต็มไปด้วยคนของฝ่ายการเมืองแล้ว ย่อมมีผลให้ คสช.ต้องเลือกบุคคล ที่มีจริตไม่ตรงกับ คสช.เข้ามาเป็น สว. โดยปริยาย

ทางที่ดีจึงต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เพราะหากปล่อยไว้จะเป็นปัญหาในอนาคต

อย่างเช่น การให้องค์กรนิติบุคคลสามารถเสนอชื่อได้นั้น เพื่อต้องการ ให้ คสช.สามารถรู้ที่มาที่ไปของคนเหล่านั้นว่ามีหัวนอนปลายเท้าอย่างไร เพราะถ้าปล่อยให้มีแค่การสมัครในอิสระ จะส่งผลให้ คสช.ตัดสินใจเลือกคนมาเป็น สว.ได้ยากมากขึ้น เช่นเดียวกับการให้มีกลุ่มวิชาชีพเพียง 10 กลุ่ม ก็เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ

หากจะบอกว่าสาเหตุใดที่ทำให้ สนช.ต้องลงมือผ่าตัดวุฒิสภาจากหน้ามือเป็นหลังมือแบบนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความสำคัญของวุฒิสภาในอีก 5 ปี นับจากนี้

รัฐธรรมนูญกำหนดให้วุฒิสภามี หน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลว่าได้เดินตามแผนการปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ ซึ่งการที่ฝ่ายบริหารไม่ได้เดินตามแผนที่ คสช.เขียนไว้ย่อมส่งผลให้มีความผิดตามกฎหมายได้

ยิ่งไปกว่านั้นวุฒิสภาจำนวน 250 คน ที่ คสช.เลือกเข้ามาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญจะเข้ามากุมทิศทางในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย เปรียบเป็นพรรควุฒิสภาที่ไม่ว่าเทเสียงไปทางใดก็จะได้เป็นฝ่ายบริหารและจัดตั้งรัฐบาลทันที

ด้วยเหตุนี้เอง สนช.จึงต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับกติกาในการเลือก สว.เป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอย เหมือนกับ "สว.ระบบสรรหา" ในอดีต

วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ถูกฉีกทิ้งไปในปี 2557 บัญญัติให้ สว.มาจากระบบเลือกตั้งและสรรหา อย่างละครึ่ง โดยรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ต้องการ สว.สรรหาปราศจากการเมือง จึงเปิดทางให้องค์กรอิสระ เข้ามาทำหน้าที่คัดเลือกคนมาเป็น สว.

แต่นานวันผ่านไปไม่ต่างอะไรกับขึ้นลำเป็นไม้ไผ่เหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา เพราะ สว.สรรหาที่รัฐธรรมนูญต้องการทำหน้าที่ดุจพระอรหันต์ถูกกลืนด้วยอำนาจทางการเมือง จนเป็นที่มาของการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มา สว

คสช.และ สนช.เองคงมองว่า ไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย จึงจำเป็นต้องให้ คสช.และ สนช.ล้วงลึกเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือก สว. ทั้งในระดับกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลำดับรอง

สถานการณ์การเมืองในเวลานี้ ที่จากมิตรได้กลายเป็นศัตรู ย่อมทำให้ คสช.เกิดความหวาดระแวงมากขึ้นโดยที่ไม่รู้ว่าบุคคลที่ คสช.ให้ความไว้วางใจในฐานะทายาทผู้สืบทอดอำนาจการเมืองจะแว้งกัด คสช.หรือไม่ โดยเฉพาะการเลือกนายกรัฐมนตรีที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นเดิมพัน

ดังนั้น ทางที่ดี คสช.และ สนช. จึงต้องชิงลงมือตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อหาเพื่อนแท้และไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยดังที่มีบทเรียนมาให้เห็นแล้ว