posttoday

รื้อกม.ครั้งใหญ่ ฟื้นธุรกิจ-ลดเหลื่อมล้ำ

03 กุมภาพันธ์ 2561

คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน (คปก.) จัดโครงการ "Thai Law Reform II : มุมมองสื่อมวลชนต่อการปฏิรูปกฎหมาย" เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการปฏิรูปกฎหมายของประเทศ

โดย ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน (คปก.) จัดโครงการ "Thai Law Reform II : มุมมองสื่อมวลชนต่อการปฏิรูปกฎหมาย" เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการปฏิรูปกฎหมายของประเทศ ณ ห้องหลานหลวง โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส ถนนหลานหลวง

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในฐานะประธาน คปก. และประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมาย อธิบายภาพรวมของแผนปฏิรูปประเทศและร่างกฎหมายที่สำคัญตามแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อการปฏิรูปกฎหมายรองรับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ : ยุทธศาสตร์โลกาภิวัตน์พัฒนา ยกตัวอย่างร่างกฎหมายที่สำคัญ อาทิ การทำเรกูเลเตอร์ กิโยติน (Regulatory Guillotine) คือการปรับปรุงและยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ

การปฏิรูปกฎหมายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสร้างความเป็นธรรม : ยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โดยยกร่างกฎหมายปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ การดำเนินธุรกิจของประชาชน ตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ครั้งที่ 1/2560

"เราจะดำเนินการปฏิรูปกฎหมาย 2 ทาง ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมาแล้ว 12 ฉบับ ฉบับที่ 1-7 ทำให้ไทยพัฒนาเป็นโลกาภิวัตน์ถือว่าประสบความสำเร็จน่าพอใจ แต่วันนี้ความสำเร็จเริ่มลดลง เป็นขาลง ดังนั้น ยุทธศาสตร์แรกที่เรียกว่ายุทธศาสตร์โลกาภิวัตน์พัฒนาก็ต้อง ส่งเสริมให้แข่งขันกับโลกข้างนอกได้ แต่อีกด้านหนึ่งเราพบว่าประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำ

โดยไทยขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากรัสเซียและอินเดีย ถ้าเราไม่แก้ ไปไม่ได้ และแก้ด้วยปากไม่ได้ ต้องแก้ด้วยกฎหมาย ถ้ากฎหมายยังจัดสรรผลประโยชน์ แบบเดิม ไม่มีทางแก้เหลื่อมล้ำได้ ซึ่งคณะกรรมการทั้งสองคณะจะใช้หลักทวิยุทธศาสตร์ หรือยุทธศาสตร์ 2 ทาง เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในระดับโลกและอุ้มชูคนที่ไปแข่งขันไม่ได้"

กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพหรือการดำเนินธุรกิจของประชาชน กล่าวว่า ในต่างประเทศจะใช้วิธีการแก้ไขกฎหมายเพื่อลดปัญหาและอุปสรรคต่อประชาชน โดยเฉพาะกฎเกณฑ์ที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ เพราะบางฉบับใช้มาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน หรือเปรียบได้กับยาหมดอายุ ดังนั้น ต้องดำเนินการ 5 ส สะสางกฎหมายที่เป็นปัญหาต่อประชาชน

อย่างไรก็ดี การปฏิรูปกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศ ซึ่งคณะอนุกรรมการจะดำเนินการแก้ไข 2 ระยะ ในระยะแรก แก้ไขกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของประชาชน โดยใช้อันดับ Ease of Doing Business จัดทำโดยธนาคารโลก (The World Bank) เป็นตัวชี้วัด มีวัตถุประสงค์เพื่อให้อันดับของประเทศไทยขยับขึ้นสู่ 15 อันดับแรกของโลกในการจัดอันดับปี 2562

ระยะที่ 2 ทบทวนกฎหมายที่กำหนดให้ประชาชนและภาคธุรกิจจะต้องขออนุญาตจากรัฐก่อนจะประกอบธุรกิจหรืออาชีพใดๆ โดยคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการฯ จะทบทวนใบอนุญาตที่มีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน และที่ตรงกับยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 1,500 ฉบับ จากทั้งหมด 6,000 ฉบับ โดยมี เป้าหมายยกเลิกไม่อนุญาตที่ไม่จำเป็น ไม่เหมาะสมแก่สภาพการณ์ หรือไม่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจให้มากที่สุด และลดความยุ่งยากในการขออนุญาตสำหรับใบอนุญาตที่จะใช้บังคับต่อไป

ด้าน คำนูณ สิทธิสมาน ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามกฎหมายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า ได้ทำร่างกฎหมายหลักๆ 3 เรื่อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะกฎหมายขายฝาก เพราะ 40 ปีที่ผ่านมามีชาวนาต้องสูญเสียที่ดินถูกต้องตามกฎหมายไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงจัดทำร่างกฎหมายขึ้นใหม่และจะเร่งเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน เม.ย. หรือเร็วที่สุดเดือน มี.ค. เพราะกฎหมายดังกล่าวอยู่ผิดที่

"สรุปได้ว่าจากการประชุมหลายครั้ง เรื่องนี้ควรยกเลิก การขายฝากอสังหาริมทรัพย์ แต่สิ่งที่กลัวจาก การรับฟังความเห็น ประชาชนมองว่าถ้าเลิกและต้องการเงินกะทันหันจะ ทำอย่างไร ดังนั้น จะปรับปรุงกฎหมาย นี้ 3 ทาง และต้องมีมาตรการให้ประชาชนมีโอกาสได้เงินทันทีเร่งด่วน โดยไม่ เสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดิน รวมถึง ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปใหญ่ในรอบหลายสิบปี" คำนูณ กล่าว