posttoday

ม็อบต้านแรงไม่พอ รอกระแสก่อนพุ่งชน

02 กุมภาพันธ์ 2561

ณ เวลานี้ หากจะบอกว่าเป็นช่วงเวลาขาลงของรัฐบาลแลคสช. คงจะไม่ผิดเท่าใดนัก โดยต้องยอมรับว่าสาเหตุของขาลงนั้นล้วนมาจากฝีมือของรัฐบาลเองแทบทั้งสิ้น

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ณ เวลานี้ หากจะบอกว่าเป็นช่วงเวลาขาลงของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คงจะไม่ผิดเท่าใดนัก โดยต้องยอมรับว่าสาเหตุของขาลงนั้นล้วนมาจากฝีมือของรัฐบาลเองแทบทั้งสิ้น

1.การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ ไม่เข้าตา ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ปรับคณะรัฐมนตรีแล้ว 5 ครั้ง โดยแต่ละครั้งก็มีการปรับรัฐมนตรีในส่วนการบริหารราชการเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานยังไม่ค่อยสร้างความประทับใจให้กับสังคมเท่าใดนัก

ดังจะเห็นได้จากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากแต่ละสำนักต่างมีผลลัพธ์ตรงกันว่า "ปัญหาเศรษฐกิจ" เป็นข้อเรียกร้องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขเป็นการด่วน

2.การพยายามจะสืบทอดอำนาจ เดิมที พล.อ.ประยุทธ์ เคยแสดงเจตนาชัดแจ้งแล้วว่าไม่ต้องการกลับมาเป็นนายกฯ อีก แต่เมื่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งทยอยเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปรากฏว่าท่าทีของผู้มีอำนาจก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งคำถามเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองในลักษณะของการชี้นำทำนองว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้อาจจะยังไม่มีความเหมาะสม เพราะยังเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แต่เรื่องมาแดงตรงที่ สนช.แก้ไขให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด เวลา 90 วันนับแต่วันที่ประกาศ ราชกิจจานุเบกษา

จึงเป็นผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก 90 วันทันที ซึ่งต่างอ้างว่าที่ต้องแก้ไขแบบนั้นเพราะต้องการให้สอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ที่มีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

การแก้ไขกฎหมายที่มีผลกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง ประจวบเหมาะกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่งออกมาระบุว่า ไม่เคยสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ยิ่งเป็นผลให้หลายฝ่ายมองว่า คสช.กำลังหาทางให้ตัวเองอยู่ในอำนาจ ต่อไปให้นานที่สุด เพื่อสร้างความ ได้เปรียบทางการเมืองจนกว่าตัวเองจะพร้อมลงเลือกตั้งเพื่อกลับเข้าสู่อำนาจ

3.ความไม่โปร่งใส ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลานี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ตกเป็นเป้าใหญ่ในทางการเมือง ภายหลังสลัดปมนาฬิกาหรูไม่พ้นตัวเท่าใดนัก

แม้ พล.อ.ประวิตร จะชี้แจงว่ายืมเพื่อนมาใส่ ไม่ได้เป็นของตัวเอง แต่การชี้แจงดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะเกิดประเด็นทางกฎหมายให้หลายฝ่ายออกมาวิจารณ์ว่าการยืมทรัพย์สินมาครอบครอง เป็นภาระของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องชี้แจงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่

ยิ่งนานวันเข้า จึงนำมาซึ่งกระแสเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ให้สมกับที่รัฐบาลเคยประกาศจะเป็นรัฐบาลที่มีมาตรฐานความโปร่งใสสูงกว่ารัฐบาลของนักการเมือง แต่จนถึงวันนี้ทั้ง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังไม่ได้นำพาแต่อย่างใด

จากปัจจัยดังกล่าวทั้งหมดจึงมีส่วนช่วยให้เวลานี้เริ่มเกิดการรวมตัวต่อต้าน คสช.อย่างเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

แรงต้านเริ่มปรากฏให้เห็นผ่านการชุมนุมของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กลางที่สี่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา นำโดย รังสิมันต์ โรม สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้เพียงแค่กลุ่มนี้เท่านั้นที่มีการเคลื่อนไหว เพราะ นักวิชาการจากค่ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เริ่มออกอาการไม่พอใจ คสช.เช่นกัน ภายหลังเข้าชื่อไปยัง คสช.เรียกร้องให้พิจารณาทบทวนการดำเนินคดีกับผู้จัดกิจกรรม เพราะการ กระทำของ คสช.เช่นนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างชัดเจน

"ประเทศไทยกำลังเดินหน้าตามโรดแมปกลับสู่สภาวะปกติ คสช.จึงควรเปิดกว้างมากขึ้น และให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพภายในขอบเขตของกฎหมายและภายใต้รัฐธรรมนูญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของพลเมือง" ส่วนหนึ่งจากข้อเรียกร้องของนักวิชาการธรรมศาสตร์

แต่ถึงกระนั้น ต้องยอมรับว่าแรงต้านที่ออกมาในเวลานี้จะมีแรงยืนระยะต่อสู้กับ คสช.ไปได้นานเท่าใด โดยเฉพาะกับกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยที่ประกาศว่าจะรบกับ คสช.อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยหนึ่งที่เป็นคำถามของเรื่อง คือ กระแสสังคมจะเห็นด้วยกับการต่อสู้บนท้องถนนเพื่อขับไล่ คสช. หรือไม่

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีมานี้ ประเทศไทยต้องตกอยู่ในบรรยากาศของการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง แต่ละครั้งนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และตัวเลขทางเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าประเทศไทยน่วมไปทั้งตัวกับการก่อม็อบในช่วงทศวรรษนี้

ดังนั้น กระแสของม็อบที่เกิดขึ้นในเวลานี้อาจเป็นเพียงแค่ลมวูบใหญ่ๆ เพียงไม่กี่วูบ และจากนั้นก็จะหายไป เพราะกระแสสังคมส่วนใหญ่อาจยัง ไม่พร้อมรับสภาพของการมีม็อบเหมือน ในอดีต

แต่ถึงที่สุดแล้ว ม็อบในครั้งนี้อาจไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ ทว่าจะเป็นการจุดไฟครั้งสำคัญที่เตือนคนในรัฐบาลว่าจะใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ได้อีกแล้ว เพราะถึงเวลานั้นบทเรียนเดือน ต.ค. หรือเดือน พ.ค.อาจกลับมาให้เห็นได้ ในยุค 4.0 n