posttoday

ล้มกฎหมาย "สว." เกมไม่ลับเลื่อนเลือกตั้ง

31 มกราคม 2561

สถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้กำลังเกิดคำถามผุดขึ้นมาเต็มไปหมดว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้กำลังเกิดคำถามผุดขึ้นมาเต็มไปหมดว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ แม้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะผ่านความเห็นชอบกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ทั้งกฎหมายเลือกตั้ง สส. การได้มาซึ่ง สว. พรรคการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ตาม

ปัจจัยแรกนั้นมาจากเงื่อนไขที่ สนช.ได้แก้ไขจากหน้ามือที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดไว้ไปเป็นหลังมือตามความปรารถนาของ สนช. ผ่านการกำหนดให้ร่างกฎหมายเลือกตั้ง สส.มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเวลา 90 วันนับตั้งแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษา

การกำหนดเช่นนี้มีผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก 90 วัน จากเดิมที่จะเริ่มนับถอยหลัง 150 วันสู่วันเลือกตั้งทันทีที่กฎหมายเลือกตั้ง สส.มีผลใช้บังคับ แต่กลับติดล็อกตรงที่การจะได้นับถอยสู่วันเลือกตั้งได้ก็ต่อเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 90 วันตามที่ สนช.ได้แก้ไขก่อนเท่านั้น

สนช.พยายามชักแม่น้ำทั้ง 5 เพื่อรองรับว่าการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปอีก 90 วันเพื่อให้สอดรับกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่องการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไรนัก เพราะส่วนใหญ่มองว่าต้นเหตุมาจาก คสช.เองที่ไม่ยอมปล่อยให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ ทั้งๆ ที่กฎหมายพรรคการเมืองจะมีผลใช้บังคับแล้ว

ปัจจัยต่อมาเกิดจากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ออกมาระบุว่าไม่เคยให้สัญญาว่าจะมีการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา

"ผมไม่ได้สัญญา ผมสัญญาว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และเป็นไปตามโรดแมป ผมสัญญาเหมือนเดิม ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่ยังมีปัญหาที่คนบางกลุ่มบางฝ่ายพยายามจะให้ทุกอย่างกลับมาเป็นแบบเก่า ให้เลือกเอาแล้วกันว่าจะเอาแบบผม หรือจะให้กลับมาที่เดิม"

เป็นการเล่นกับกระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่พยายามต้องการชี้นำให้สังคมเห็นว่าจะเลือกเอาประชาธิปไตยแบบนักการเมืองที่ไม่มีความสงบแบบในอดีต หรือจะให้ตนเองอยู่ต่อไปอีกสักระยะแต่ต้องแลกกับไม่มีประชาธิปไตยเต็มใบ

ยิ่งนานวันแต่ละฝ่ายเริ่มเปิดไพ่ออกมาให้เห็นว่าผู้มีอำนาจในบ้านเมืองยังไม่ต้องการปล่อยให้ประเทศมีประชาธิปไตยเต็มใบผ่านการเลือกตั้ง โดยอาศัยกลไกทางกฎหมายและกลไกทางการเมืองเข้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อชี้ให้เห็นถึงความเลวร้ายของการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์เช่นนี้

ถึงกระนั้น ไพ่ในมือของผู้มีอำนาจไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่ยังมีร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.เป็นไพ่เด็ดที่สำคัญอีกหนึ่งใบด้วย

สาเหตุที่ทำให้เริ่มมีการวิเคราะห์ว่ากฎหมายการได้มาซึ่ง สว.จะเป็นทีเด็ดเพื่อใช้การเลือกตั้งนั้น เป็นเพราะท่าทีของ "พรเพชร วิชิตชลชัย" ประธาน สนช. ซึ่งแสดงออกมาให้เห็นเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ว่ามีความกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวอาจจะไม่ผ่านสภาเช่นกัน

"ผมก็กลัว ถึงบอกว่าให้กรรมา ธิการฯ กับ กรธ.ไปคุยกันดีๆ แต่เขาก็บอกว่า ไม่เป็นไร ความจริงเขาต้องคุยกันให้เคลียร์"

ตามขั้นตอน แม้ร่างกฎหมายการได้มาซึ่ง สว.จะผ่านความเห็นชอบของ สนช.แล้ว แต่ต้องมีการรอ กรธ.และ กกต.ก่อนว่าจะมีใครเสนอให้ดำเนินการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายระหว่าง กกต.-กรธ.-สนช.หรือไม่ หาก กกต.หรือ กรธ.ไม่ติดใจ ทุกอย่างก็จบ แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นจะต้องดำเนินการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่าย และพิจารณาเนื้อหาร่างกฎหมาย สว.ที่เป็นประเด็นปัญหาก่อนส่งกลับมาให้ สนช.ลงมติอีกครั้ง

การลงมติของ สนช.ในชั้นนี้มีความสำคัญมาก เพราะถ้า สนช.มีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิก สนช.เท่าที่มีอยู่ของสภา หรือ 166 คะแนนจากสมาชิก สนช.ที่มีอยู่ 249 คน จะมีผลให้ร่างกฎหมาย สว.ดังกล่าวตกไปทันที

ถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ สนช.จะคว่ำกฎหมายดังกล่าว ต้องยอมรับว่ามีความเป็นไปได้เช่นกัน เนื่องจากย้อนกลับไปการประชุม สนช.เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมาพบว่าสมาชิก สนช.จำนวนไม่น้อยอภิปรายไม่ค่อยพอใจกับภาพรวมของร่างกฎหมาย สว.เท่าใดนัก จนต้องมีการแก้ไขกลุ่มอาชีพของผู้สมัครจาก 15 กลุ่มมาเป็น 10 กลุ่ม

โดยส่วนใหญ่มองว่าวิธีการเลือก สว.ยังไม่สามารถบล็อกโหวตและการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองได้ ซึ่งจะส่งผลให้ คสช.ที่มีหน้าที่ต้องเลือก สว.จำนวน 50 คนจากกลุ่มที่ผ่านการคัดเลือกจากระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ 200 คน ไม่ได้บุคคลที่มีคุณภาพมากตามที่ต้องการ

บรรดาสมาชิก สนช.จำนวนไม่น้อยพยายามแสดงออกผ่านเวทีของสภาว่าหากปล่อยไปแบบนี้อาจทำให้ในอนาคตประเทศจะมี สว.ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายการเมือง ซึ่งจะมีผลต่อการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งด้วย

ด้วยเหตุนี้อาจนำมาซึ่งปรากฏการณ์เสียงข้างมากชนิดพิเศษ เพื่อคว่ำกฎหมายเลือกตั้ง สว.ภายหลังผ่านขั้นตอนของคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่าย

ถ้าเกิดเหตุการณ์นั้นจริงเท่ากับว่าการยกร่างกฎหมาย สว.ต้องกลับไปเริ่มใหม่อีกครั้ง ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาตายตัวแน่นอน อันจะมีผลต่อการเลือกตั้งที่ต้องถูกเลื่อนออกไปจนกว่ากฎหมาย สว.จะเป็นที่น่าพอใจของผู้มีอำนาจ

ดังนั้น การใช้กฎหมายเลือกตั้ง สส.เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งนั้นอาจเป็นเพียงแค่บันไดขั้นแรกเท่านั้น เพราะบันไดขั้นสำคัญที่จะไปสู่การเลื่อนเลือกตั้งที่แท้จริงอยู่ที่การฉีกกฎหมาย สว.นั่นเอง