posttoday

เขี่ยลูกเลื่อน 90 วัน จับสัญญาณอาจลากยาว

29 มกราคม 2561

บางทีเป้าหมายที่แท้จริงอาจอยู่ที่การเลื่อนเลือกตั้งออกไปแบบไม่มีกำหนดของผู้มีอำนาจใน คสช.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

มติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ หมุดหมายทางการเมืองที่สำคัญ

สาเหตุที่มีความสำคัญในทางการเมืองเนื่องจากภารกิจที่รัฐธรรมนูญมอบหมายให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ สนช.ร่วมกันทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับเสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการ จากนั้นจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

ที่ผ่านมา ภาพรวมของการจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบกันระหว่าง สนช.และ กรธ. เพราะเมื่อ กรธ.เสนอกฎหมายลูกเข้า สนช.อย่างหนึ่ง ปรากฏว่า สนช.แก้ไขกลับหัวกลับหางไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากกรณีร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

โดย กรธ.เสนอให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันเฉพาะบุคคลที่มีคุณสมบัติครบและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ ทว่า สนช.กลับไปแก้ไขให้ ป.ป.ช.อยู่ได้ต่อไปจนครบวาระ อีกทั้งยังบัญญัติให้กรรมการ ป.ป.ช.บางคนที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ สามารถนั่งอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้อีกด้วย จนเป็นประเด็นนำมาสู่กระแสกดดันให้มีการส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับจะผ่าน สนช.แล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้การเลือกตั้งเดินหน้าตามระบบที่ควรจะเป็น เนื่องจาก สนช.แก้ไขให้กฎหมายเลือกตั้ง สส.มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันตั้งแต่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จากเดิมที่กำหนดให้ร่างกฎหมายเลือกตั้ง สส.มีผลใช้บังคับถัดจากวันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

เท่ากับว่าสมการของการนับวันเลือกตั้งจะเป็น “90+150 วัน = วันเลือกตั้ง” แทนที่จะเป็นแค่ตัวเลข 150 วันเพียงอย่างเดียว

สนช.ยกเหตุผลของการแก้ไขเรื่องดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เพราะได้มีการแก้ไขเนื้อหาใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลทำให้เวลาในการเริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองจะเริ่มนับหนึ่งได้ในเดือน มี.ค. ทั้งๆ ที่ควรจะต้องได้เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อเดือน ต.ค. 2560

เมื่อพิจารณาตามนี้ การนับหนึ่งสู่วันเลือกตั้งจะไปเริ่มตั้งแต่ภายหลังกฎหมายการเลือกตั้ง สส.มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการ ซึ่งตัวแทนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ชี้แจงต่อ สนช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า น่าจะเป็นช่วงประมาณเดือน ก.ย.หลังจากกฎหมายเลือกตั้ง สส.จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาช่วงเดือน มิ.ย

ทั้งนี้ ทุกอย่างยังคงมีคำถามที่ชวนสงสัยขึ้นมาว่าการเลือกตั้งจะมีโอกาสถูกเลื่อนออกไปมากกว่า90 วันหรือไม่

“มีแต่ไม่ขอพูด ซึ่งไม่ได้ลึกลับซับซ้อนอะไรและไม่ใช่อย่างที่สื่อคิด ขณะเดียวกันหาก สนช.คว่ำกฎหมายก็ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่อยากพูดถึง เพราะหาก สนช.คว่ำ ก็จะต้องช้าออกไป ถ้าร่างกฎหมายใหม่ก็ต้องเลื่อนแน่ แต่ไม่ควรจะเกิดขึ้น มีวิธีเลี่ยงได้ที่จะพบกันคนละครึ่งทาง”

คำตอบจาก “วิษณุ เครืองาม”รองนายกฯ ตอบคำถามนักข่าวที่ถามว่าจะมีปัจจัยอะไรที่เหนือความคาดหมายจนทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปหรือไม่

สัญญาณที่ส่งออกมาจากรองนายกฯ วิษณุ ทำให้เกิดการคิดต่อไปว่ามีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่การเลือกตั้งจะถูกขยายออกไปมากกว่า 90 วัน ซึ่งถ้าจะพลิกดูเงื่อนไขทางกฎหมายที่มีอยู่นั้นก็จะพบว่าพอมีช่องทางให้ดำเนินการอย่างว่านั้นได้เช่นกัน โดยอาศัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560

“เมื่อมีการประกาศ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. พ.ศ. ... ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมาย ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง

และร่วมกันจัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยให้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และจะเชิญผู้แทนพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าหารือด้วยก็ได้” สาระสำคัญในข้อ 8 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560

ตรงนี้เองที่เป็นการเปิดช่องให้เกิดการเลื่อนเลือกตั้งได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าเงื่อนไขการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมายค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร โดยเฉพาะการกำหนดให้ทำไพรมารีโหวตก่อนในเขตเลือกตั้ง ซึ่งความพร้อมจะไปกระจุกอยู่แค่พรรคการเมืองใหญ่เพียงไม่กี่พรรค

พรรคการเมืองขนาดเล็กซึ่งมีจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันอาจเสนอกลางที่ประชุมตามข้อ 8 ดังกล่าว เพื่อขอให้เลื่อนการเลือกตั้ง แน่นอนว่าพรรคการเมืองใหญ่ย่อมไม่เห็นด้วย และเมื่อตกลงกันไม่ได้ก็อาจต้องตัดสินด้วยการลงมติชี้ขาด ถ้าช่องนี้มีความเป็นไปได้ที่พรรคการเมืองใหญ่ที่พร้อมเลือกตั้งจะแพ้โหวตกลางที่ประชุม และทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปในที่สุด

การเลื่อนการเลือกตั้งด้วยช่องทางนี้ คสช.ไม่ต้องแบกรับความกดดันทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองตัดสินใจกันเอง

ดังนั้น การเปิดช่อง 90 วันจึงเป็นเพียงการเขี่ยลูกเท่านั้น บางทีเป้าหมายที่แท้จริงอาจอยู่ที่การเลื่อนเลือกตั้งออกไปแบบไม่มีกำหนดของผู้มีอำนาจใน คสช.