posttoday

ยื้อเลือกตั้ง คสช.ยิ่งเสื่อม

24 มกราคม 2561

ลุ้นด่านสุดท้ายกับการลงมติของ สนช. ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบตามที่กมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ซึ่งแก้ไขเนื้อหาให้บังคับใช้กฎหมายหลังจากประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ลุ้นด่านสุดท้ายกับการลงมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบตามที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ซึ่งแก้ไขเนื้อหาให้บังคับใช้กฎหมายหลังจากประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน

ประเมินทิศทางลมเวลานี้มีความเป็นไปได้สูง ที่ สนช.ส่วนใหญ่น่าจะโหวตเห็นชอบกับการแก้ไขของกรรมาธิการฯ อันจะส่งผลสำคัญทำให้การเลือกตั้ง​ที่เคยคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2561 ต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือน ก.พ. 2562

แต่เหนือสิ่งอื่นใดเรื่องนี้ยากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะปฏิเสธความรับผิดชอบโยนให้ไปเป็นเรื่องของ สนช.ฝ่ายเดียว

ประการแรกด้วยสถานะผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งในรัฐบาล คสช. ซึ่งทำงานสอดประสานไปกับแม่น้ำ 5 สาย

หากไม่มี “สัญญาณ” หรือ “ใบสั่ง” ย่อมเป็นเรื่องยากที่ สนช.จะกล้าบุ่มบ่ามคิดอ่านทำเรื่องใหญ่ ​อีกทั้งยังเป็นการสวนทางกับสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยประกาศเป็นสัญญาประชาคมกับชาวโลกว่าจะเลือกตั้งตามโรดแมปราวเดือน พ.ย.นี้

แม้แต่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังออกมาระบุว่าทราบเรื่องนี้ล่วงหน้า 2 สัปดาห์แล้ว เพราะมีคนมากระซิบบอกว่า เขาอยากจะเลื่อนเลือกตั้งด้วยวิธีนี้ ซึ่งได้บอกคนที่มากระซิบว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญบังคับใช้ให้มีผลใน 150 วัน

“แต่พอมาเปิดรัฐธรรมนูญดูพบว่า มีการระบุว่าให้นับจากวันบังคับใช้ โดยไม่ได้นับจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษา ​จึงเชื่อเรื่องนี้คงจะจริง แต่ไม่กล้าจะพูดอะไรก่อน เพียงแต่เข้าใจว่าฝ่ายที่อยากเลื่อนการเลือกตั้งออกไปคงจะหาช่องทางแล้วก็พบช่องทางนี้”

ทำให้ต้องหวนนึกย้อนกลับไปถึงกรณีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกสภาปฏิรูปประเทศแห่งชาติ (สปช.) ตีตกไปท่ามกลางกระแสว่ามีใบสั่งในช่วงโค้งสุดท้าย เพื่อหวังยืดเวลาอยู่ในอำนาจของ คสช. ออกไปมาแล้วรอบหนึ่ง

ประการที่สอง ในแง่เหตุผลที่ กมธ.นำมาเป็นข้ออ้างแก้ไขให้ยืดเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วัน เป็นเพราะต้องการดำเนินการให้สอดรับกับคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 เรื่องกระบวนการทางธุรการของพรรคการเมืองที่จะเริ่มขึ้นในเดือน มี.ค. เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบกับขั้นตอนการเลือกตั้งตามระบบใหม่

ในความเป็นจริงแล้ว “ต้นตอ” ของปัญหาทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่คำสั่งฉบับดังกล่าว เมื่อสาเหตุหลักมาจากประเด็นที่ทาง คสช.ไม่ยอมปลดล็อกคำสั่ง 3/2558 เพื่อเปิดทางให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ อันจะทำให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายลงไป

ยิ่งในจังหวะเวลาที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้เรียบร้อยด้วยแล้ว การจะคุมการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองไม่ให้ประชุมเตรียมความพร้อมลงสนามเลือกตั้งย่อมไม่ใช่เรื่องดี

หากพิจารณาแล้วคนที่จะได้ประโยชน์จากการขยายเวลาเลือกตั้งออกไปหนีไม่พ้น คสช. และบรรดาแม่น้ำ 5 สาย ที่จะได้อานิสงส์อยู่ในอำนาจต่อไปอย่างน้อยก็ 3 เดือน

อีกทั้งยังถูกมองมีการยืดเวลาเลือกตั้งมีเบื้องหน้าเบื้องหลังเกี่ยวข้องกับการเอื้อประโยชน์สร้างความได้เปรียบให้กับพรรคการเมืองใหม่ โดยเฉพาะพรรคที่จะถูกตั้งขึ้นมาสนับสนุน คสช.

แต่ผลเสียที่จะตามมายัง คสช.นั้นดูจะมีมากกว่าผลดีเริ่มตั้งแต่ในเรื่องใหญ่คือ ​“ความเชื่อมั่น” ทั้งต่อคนในประเทศและสายตาต่างชาติที่พานจะกระทบไปเป็นลูกโซ่ซ้ำเติมปัญหาที่เป็นอยู่

เวลานี้กลุ่มการเมืองเริ่มออกมาดักคอแสดงความเป็นห่วงว่าการยื้อเลือกตั้งรอบนี้ ทั้งที่ประกาศเป็นสัญญาประชาคมต่อเวทีนานาชาติแล้ว อาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตกอยู่ในสถานะ “โมฆะบุรุษ” ขาดความน่าเชื่อถืออันจะกระทบไปถึงการบริหารงานนับจากนี้ต่อไป

หากจำได้หลัง คสช.​ประกาศความชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้งทางคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ได้ตกลงที่จะปรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองกับประเทศไทย รวมไปถึงด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และแผนการดำเนินงานสู่ประชาธิปไตย ​

ดังนั้น การที่มาขยับปรับเปลี่ยนเวลาการเลือกตั้งด้วยเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ย่อมอาจทำลายบรรยากาศอันดีที่จะกระทบไปถึงเรื่องการค้าการลงทุนพันไปถึงเศรษฐกิจภาพรวมในอนาคตต่อไป

แม้เวลานี้รัฐบาลจะพยายามอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบฐานราก เพื่อทั้งช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะล่าสุดกับการตั้งงบกลาง 1.5 แสนล้านบาท ​ที่ถูกมองว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่แท้จริง

รวมทั้งการขึ้นค่าแรงและมาตรการช่วยเหลือคนจน ซึ่งดูจะยังไม่เพียงพอหรือมีประสิทธิภาพแก้ปัญหาปากท้องได้อย่างแท้จริง ยิ่งเวลาผ่านไปโอกาสที่จะเกิดแรงกดดันจึงมากขึ้นเรื่อยๆ

สุดท้ายการเลื่อนเวลาเลือกตั้งออกไปย่อมเป็นชนวนให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหยิบยกมาเป็นประเด็นเคลื่อนไหว หรือต่อต้าน คสช.อันอาจบานปลายกลายเป็นความขัดแย้ง และขยายวงรุนแรงยากจะควบคุม

การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปด้วยเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอย่อมนำไปสู่ความ “เสื่อม” ของ คสช.