posttoday

เติมเชื้อปูทาง "ยื้อเลือกตั้ง"

22 มกราคม 2561

เส้นทางเลือกตั้งตาม “โรดแมป” ส่อแววสะดุดอีกรอบหลังปรากฏสัญญาณ “ยื้อ” รอบใหม่

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

เส้นทางเลือกตั้งตาม “โรดแมป” ส่อแววสะดุดอีกรอบหลังปรากฏสัญญาณ “ยื้อ” รอบใหม่

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเคยประกาศชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งตามโรดแมปเมื่อครั้งไปเยือนสหรัฐอเมริกาพบประธานาธิบดี​ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกลายเป็น “สัญญาประชาคม” ที่รับรู้กันทั้งในและต่างประเทศ

ท่าทีความชัดเจนดังกล่าวทำให้คณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ตกลงที่จะปรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองกับประเทศไทย รวมไปถึงด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และแผนการดำเนินงานสู่ประชาธิปไตย

ตามแถลงการณ์ระบุว่า คณะรัฐมนตรีฯ ย้ำว่าคงพิจารณาทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับประเด็นการจัดการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย อันสอดคล้องกับมาตรฐานสากลซึ่งนำไปสู่สถาบันทางประชาธิปไตยที่ทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

แต่ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ผ่านคำให้สัมภาษณ์หลายกรรม หลายวาระ ถูกมองว่า “เปิดช่อง” รอไว้สำหรับการเลื่อนการเลือกตั้งจากกำหนดเดิม ทั้งระบุว่าจะเลือกตั้งเมื่อกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง​มีผลบังคับใช้ หรือจะเลือกตั้งก็ต่อเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองสงบสุขไม่มีเหตุวุ่นวาย

ตอกย้ำความพยายามที่จะคว่ำกฎหมายลูกในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะยังเหลือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ยังค้างอยู่ในการพิจารณา หากกฎหมายทั้งสองฉบับไม่ผ่านความเห็นชอบย่อมทำให้เส้นทางเลือกตั้งต้องสะดุดตามไปด้วย

รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองที่จะเป็นชนวนให้ คสช.พิจารณายื้อการเลือกตั้งออกไป ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอว่าเหตุการณ์ความไม่สงบจะเกิดขึ้นจากกลุ่มใด และมีวัตถุประสงค์ใด  ​

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ เขียนเอกสารด้วยลายมือตัวเองจำนวน 12 หน้ากระดาษเอ 4 แจกใน ครม. ตอนหนึ่งระบุว่า “สิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้คือสื่อ นักการเมืองที่มีปัญหา พยายามจะล้มรัฐบาลและ คสช.ให้ได้ในช่วงนี้”​

ที่สำคัญทาง พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ออกมารับลูกว่า สถานการณ์ช่วงนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้ง ซึ่งพบว่ามีการเคลื่อนไหวมากขึ้นจากหลายๆ ทางทั้งนักการเมืองปัจจุบันและคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมือง

“รายงานพบว่ามีการเคลื่อนไหวมากขึ้นเท่านั้น และถือเป็นหน้าที่ของ สมช.ต้องติดตามเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง ขณะที่นายกฯ ไม่ได้สั่งให้จับตาอะไรเป็นพิเศษ และจากภาพรวมไม่เชื่อว่าจะสามารถล้มรัฐบาลและ คสช.ได้”​

​ทำให้มองว่านี่อาจเป็นการอ้างความไม่สงบรอบใหม่ไว้สำหรับยื้อเลือกตั้งในอนาคต คล้ายกับในอดีตที่หยิบยกเหตุผลเรื่องนี้มาอ้างอย่างต่อเนื่อง ที่อาจหวังผลทางอ้อมไม่ให้กลุ่มการเมืองออกมาสร้างความปั่นป่วนในช่วงนี้

ยิ่งหากพิจารณาถึงความเป็นไปได้แล้ว ทั้ง “สื่อ” และ “นักการเมือง”ไม่น่าจะมีเหตุผลต้องการล้มรัฐบาล คสช. ในเมื่อทั้งหมดต้องการให้เกิดการเลือกตั้งซึ่งจะเป็นช่องทางพาสังคมกลับสู่สภาวะปกติ

หากพาตัวเองไป “ติดกับ” ถึงขั้นเป็นต้นเหตุความขัดแย้งย่อมทำให้การเฝ้าอดทนรอคอยร่วม 4 ปี ต้องทอดเวลาออกไปอีกแบบไม่รู้อนาคต สู้ยอมสงบปากสงบคำรอเลือกตั้งเสร็จสิ้นค่อยกลับมาต่อสู้กันในระบบที่ทุกฝ่ายเท่าเทียมกันหมด ไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจพิเศษน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

แต่ชัดเจนที่สุดคือข้อเสนอในขั้นการพิจารณาร่าง​ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของ กมธ.วิสามัญพิจารณากฎหมายดังกล่าวของ สนช.ได้แก้ไขเนื้อหา โดยปรับผลบังคับใช้กฎหมายยืดออกไปอีก 90 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษก กมธ. ชี้แจงว่า การแก้ไขดังกล่าวสืบเนื่องจากคำสั่งของ คสช.ที่ 53/2560 เรื่อง การแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองให้สอดคล้องกับคำสั่งดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้โรดแมปเลือกตั้งขยับออกไปบ้าง ช่วงปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562

สอดรับไปกับท่าท่าทีจากฝั่ง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็เปิดช่องชี้แจงว่า ที่ผ่านมาเคยมีกฎหมายบางตัวกำหนดกรอบเวลาบังคับใช้ไว้ ซึ่งถ้า สนช.จะทำก็ต้องอธิบายเหตุผลให้ชัด

คล้ายกับ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่อธิบายว่า หากมีการปรับก็ไม่ได้ผิดหลักกฎหมาย เพราะกฎหมายบางฉบับก็จะมีผลบังคับใช้วันนั้นเลย แต่กฎบางฉบับก็จะทิ้งระยะเวลาไว้ 30 วัน 120 วันก็มี อย่างกฎหมายธุรกิจรักษาความปลอดภัยเอกชน ก็ทิ้งเวลาไว้ตั้ง 1 ปี เพื่อให้มีการเตรียมการจะบังคับใช้

การประสานเสียงไปในทิศทางเดียวกันของแม่น้ำ 5 สาย ทำให้ประเมินแล้วมีความเป็นไปได้สูงที่การเลือกตั้ง ซึ่งเคยคาดว่าจะเกิดขึ้นราว พ.ย. 2561 อาจต้องเลื่อนออกไปอย่างน้อย 90 วัน

อยู่ที่เงื่อนไขความวุ่นวายปั่นป่วนรุนแรง รวมทั้งการตัดสินใจของ สนช.ที่จะโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปตามข้อเสนอของ กมธ.ที่กำหนดไว้หรือไม่