posttoday

ชำแหละกฎหมายเลือกตั้ง คุมเข้มหาเสียง-สร้างโปร่งใส

13 มกราคม 2561

เงื่อนไขของการนำไปสู่การเลือกตั้งภายใต้กฎหมายเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับ ปัจจุบันได้บรรลุเงื่อนไขที่ว่านั้นไปแล้ว 2 ประการ

โดย ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เงื่อนไขของการนำไปสู่การเลือกตั้งภายใต้กฎหมายเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับ ปัจจุบันได้บรรลุเงื่อนไขที่ว่านั้นไปแล้ว 2 ประการ ภายหลังจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้มีผลบังคับใช้

เหลือเพียงอีก 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. หากร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เตรียมนับถอยหลัง 150 วัน ไปสู่การเลือกตั้งได้ทันที

ทั้งนี้ ประเด็นนี้ที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญและความสนใจมากที่สุดอยู่ที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. เพราะจะเป็น กติกาที่ควบคุมกระบวนการเลือกตั้งให้เป็นโดยสุจริตและยุติธรรม เรียกได้ว่านักเลือกตั้งจะไปถึงฝั่งได้หรือไม่ก็ต้องผ่านกติกาที่กฎหมายกำหนดไปให้ได้

ปัจจุบันคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ที่มี "วิทยา ผิวผ่อง" เป็นประธาน ได้ลงมือแก้ไขเนื้อหาของร่างกฎหมาย ซึ่งมีผลให้เกิดความแตกต่างไปจากต้นฉบับของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไปพอสมควร

1.การจัดทำผลสำรวจความคิดเห็น คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กำหนดให้การทำโพลยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ เพียงแต่ผู้จัดทำต้องเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับและมีความน่าเชื่อถือ แต่กระนั้นก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน ไม่สามารถทำการเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นการชี้นำผู้มีสิทธิออกเสียง

2.การลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือโหวตโน รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บัญญัติให้ผู้ที่จะได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้รับคะแนนมากกว่าคะแนนโหวตโนเท่านั้นถึงจะได้เป็น สส. โดยที่อีกด้านหนึ่งก็มีการเปิดช่องให้ประชาชนสามารถรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงโหวตโนได้ ซึ่งในประเด็นนี้เป็นประเด็นที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไม่เห็นด้วย จึงได้แก้ไขให้ประชาชนจะรณรงค์เพื่อให้ไปใช้สิทธิออกเสียงโหวตโนไม่ได้

3.การเลือกตั้งซ่อม เป็นประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ยืนตาม กรธ. กล่าวคือ หากมีการเลือกตั้งซ่อมในเขตเลือกตั้งใดหลังจากการ เลือกตั้งทั่วไป จะต้องนำคะแนนเลือกตั้งดังกล่าวมาคำนวณเพื่อหาจำนวน สส.บัญชีรายชื่อใหม่ด้วย แต่ถ้าเป็นการเลือกตั้งซ่อมที่เกิดขึ้นเมื่อพ้นระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่วันเลือกตั้งทั่วไป จะไม่มีการนำคะแนนของการเลือกตั้งซ่อมมาคำนวณเพื่อสัดส่วนจำนวน สส.บัญชีรายชื่ออีกครั้งแต่ประการใด

4.การคืนเงินค่าสมัครให้แก่ผู้สมัคร รับเลือกตั้ง เดิม กรธ.กำหนดให้ต้องมีการคืนค่าสมัครหากผู้สมัครที่แพ้การเลือกตั้งแต่ได้คะแนนเสียงเกิน 5% แต่พอมาถึงคณะกรรมาธิการ วิสามัญฯ ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ คือ ไม่ต้องคืนเงินค่าสมัครในทุกกรณี เนื่องจากรัฐต้องลงทุนและใช้งบประมาณเพื่อจัดการเลือกตั้ง อีกทั้งการคืนเงินอาจสร้างภาระทางธุรการให้กับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยไม่จำเป็น

5.การหาเสียงเลือกตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เปิดทางให้ผู้สมัคร เลือกตั้งหาเสียงผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ แต่ต้องลงทะเบียนกับ กกต.เพื่อให้มายืนยันสถานะต่อ กกต. โดยผู้สมัคร สามารถโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งได้ แต่ก่อนการเลือกตั้ง 3 วัน ห้ามผู้สมัครโพสต์ข้อความ ซึ่งในประเด็นนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะกำหนดรายละเอียดอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังสามารถให้ผู้สมัครสามารถจัดมหรสพได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยกำหนดมาก่อน เนื่องจากก่อนหน้านี้กฎหมายจะกำหนดข้อห้ามจัดมหรสพอย่างเด็ดขาด โดยสาเหตุที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยอมให้จัดมรหสพได้เนื่องจากหวังจะใช้เป็นตัวกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวกับการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ต้องมีการควบคุมป้องกันไม่ให้มีการแอบแฝงซื้อเสียง

อย่างไรก็ตาม ทุกประเด็นจะมาชี้ขาดกันในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 25-26 ม.ค.นี้ ถึงเวลานั้นจะได้เห็นกันว่ากติกาการเลือกตั้งจะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร