posttoday

เปิดสถานการณ์สิทธิมนุษยชน แรงงาน-สิ่งแวดล้อม-ถูกละเมิดเพิ่ม

05 มกราคม 2561

หลังจากรัฐบาลแสดงเจตนารมณ์จะผลักดันปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนสู่วาระแห่งชาติหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

โดย...เอกชัย จั่นทอง

หลังจากรัฐบาลแสดงเจตนารมณ์จะผลักดันปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนสู่วาระแห่งชาติ ในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นเรื่องที่ต้องทำเร่งด่วนในกรอบระยะเวลา 2 ปี ระหว่างปี 2561-2562 เพื่อให้ประเทศไทยทัดเทียมระดับสากล

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมได้จัดทำรายงานถึงที่มาที่ไป ความสำคัญการจัดทำสู่วาระแห่งชาติและประโยชน์ที่จะได้รับนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อรับทราบเมื่อปีที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญตอนหนึ่งระบุถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งโพสต์ทูเดย์ขอคัดย่อมานำเสนอดังนี้

สิ่งที่ยังไม่ประสบความสำเร็จและต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถด้านสิทธิมนุษยชน จากรายงานฉบับนี้ระบุว่า  “มิติป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน” ได้แก่ กลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและมีสัดส่วนที่จะเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วย HIV/AIDS ผู้ใช้แรงงาน คนจน เกษตรกร ผู้ต้องหา ผู้ต้องขัง และผู้บริโภค ซึ่งจะต้องมีการดำเนินงานให้ความสำคัญในการป้องกันการถูกละเมิด

สำหรับกลุ่มที่มีสัดส่วนการถูกละเมิดลดลง ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มผู้พ้นโทษและผู้เสียหายในคดีอาญา ส่วนประเด็นสิทธิมนุษยชน พบว่า ด้านที่มีการละเมิดสิทธิเพิ่มขึ้น คือ ด้านอาชีพและแรงงาน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านที่อยู่อาศัย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านสิทธิชุมชน และด้านการเมืองการปกครอง

ส่วนด้านที่ละเมิดสิทธิลดลง ได้แก่ ด้านการศึกษา วัฒนธรรม ศาสนา และการเรียนรู้ ด้านสาธารณสุข และด้านเสรีภาพการสื่อสาร

เช่นเดียวกับ “มิติคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” ได้แก่ ข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแต่ละด้าน จากการรายงานขององค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ด้านการเมืองการปกครอง ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านเสรีภาพการสื่อสารและสื่อมวลชน ด้านกระบวนการยุติธรรม และด้านสิทธิชุมชน

ส่วนข้อร้องเรียนที่มีสัดส่วนลดลง ได้แก่ ด้านการศึกษา วัฒนธรรม ศาสนาและการเรียนรู้ ด้านอาชีพและแรงงาน ด้านสาธารณสุข และด้านที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในแต่ละด้านที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการฟื้นฟูและเยียวยานั้น จากการรายงานขององค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชน มีสัดส่วนลดลง คิดเป็นร้อยละ 26 ที่จะต้องเร่งให้ทุกหน่วยงานให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน

มิติพัฒนาองค์กรเครือข่ายทุกภาคส่วนให้มีศักยภาพในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน พบว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกร้องเรียน เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยพบว่า ประเด็นที่เจ้าหน้าที่ถูกร้องเรียนเพิ่มมากขึ้น คือ ด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ อัยการ) ด้านสาธารณสุข รวมถึงการเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐสังกัดกระทรวง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้ระบุประเด็นสิทธิมนุษยชน

ขณะที่ข้อท้วงติงจากองค์การระหว่างประเทศเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศด้าน สิทธิมนุษยชน จากการรายงานสิทธิมนุษยชนของ Human Rights Watch ยังมีปัญหาอยู่หลายประการที่องค์กร ระหว่างประเทศให้ข้อท้วงติงและเสนอแนะให้เร่งดำเนินการแก้ไข ได้แก่เรื่อง การเมืองการปกครอง กระบวนการ ยุติธรรม และแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะประเด็นท้าทายที่ควรเร่งดำเนินการ ได้แก่ การดำเนินการปกป้องคุ้มครอง สิทธิมนุษยชนด้านสิทธิทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงออก กระบวนการยุติธรรม (โทษประหารชีวิต การทรมาน การจับกุมโดยพลการ) สิทธิผู้ลี้ภัยทางการเมือง

โดยพบว่า ข้อท้วงติงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 เมื่อเทียบกับจำนวนข้อท้วงติงในปี พ.ศ. 2555 สำหรับประเด็นที่มีการท้วงติงทุกปี และควรให้ความสำคัญแก้ไขเป็นพิเศษ คือ ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษาวัฒนธรรม ศาสนาและการเรียนรู้ ด้านอาชีพและแรงงาน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อเปิดดู “สถิติข้อร้องเรียนการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน” จากข้อมูลเรื่องร้องเรียนการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหยิบยกเพื่อตรวจสอบในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553-2558 มี 4,755 เรื่อง โดยจำแนกข้อมูลตามประเภทสิทธิที่มีการร้องเรียนว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน พบว่า มีการกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเภทสิทธิในกระบวนการยุติธรรม จำนวน 899 เรื่อง คิดเป็น 21.70% รองลงมา เป็นเรื่องสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน จำนวน 733 เรื่องคิดเป็น 17.69%

ทั้งนี้ ในปี 2559 ที่ผ่านมา มี 800 เรื่อง พบว่า มีการกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด คือ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม จำนวน 208 เรื่อง คิดเป็น 26% รองลงมาเป็นเรื่องสิทธิพลเมือง 87 เรื่อง คิดเป็น 10.88%

ปัญหาสิทธิมนุษยชนมีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก เพราะเป็นหลักสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับที่มุ่งหวังให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อประชาชนทั่วโลก นั่นคือความท้าทายที่สะท้อนปัญหาให้เห็นว่าเมื่อรัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้วจะทำได้มากน้อยขนาดไหน