posttoday

ภารกิจสุดท้ายคสช. พาชาติพ้นวังวนขัดแย้ง

04 มกราคม 2561

นับเป็นช่วงเวลาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต้องเผชิญกับปัญหาที่เรียงรายรอบตัวถาโถมเข้าใส่ตลอดปี 2560 ที่ผ่านมาตั้งแต่ประเด็นทางการเมืองตลอดไปจนถึงเรื่องปัญหาปากท้องของประชาชน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับเป็นช่วงเวลาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องเผชิญกับปัญหาที่เรียงรายรอบตัวถาโถมเข้าใส่ตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา ตั้งแต่ประเด็นทางการเมืองตลอดไปจนถึงเรื่องปัญหาปากท้องของประชาชน จึงต้องติดตามว่าตลอด 2561 นี้ รัฐบาลจะเปลี่ยนผ่านประเทศสู่การเลือกตั้งได้อย่างราบรื่นหรือไม่

ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมองว่า เรื่องต่างๆ เป็นปัญหาพื้นฐานของบ้านเมือง ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ต้องแก้ แต่ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามแก้ปัญหาได้ดีอยู่ โดยเฉพาะเอกภาพตัวรัฐบาลและสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในความสงบ แต่บางปัญหาเป็นเรื่องยากที่ทำให้ทุกฝ่ายพอใจทั้งหมด เพราะทำอย่างไรก็คงไม่พอใจ แต่คนกลางๆ ซึ่งมีเป็นส่วนใหญ่น่าจะพอใจในผลงานรัฐบาลระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีความคุ้นชินในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ รวมถึงบรรยากาศที่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ดังนั้น อยากย้ำว่ารัฐบาลต้องดำเนินการตามแผนเรื่องเลือกตั้งให้เกิดขึ้นในปลายปีเดือน พ.ย. 2561 ตามที่นายกฯ ประกาศไว้ให้ได้ และต้องรักษาความสงบให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองไปจนถึงหลังประกาศผลเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย

สิ่งสำคัญฝ่ายการเมืองต้องไม่ออกมาพูดโจมตี ปลุกปั่น เหมือนอย่างที่ผ่านมา เพราะประชาชนกลางๆ ไม่ชอบ และไม่อยากเห็นสภาพการเลือกตั้งแบบเดิมอย่างที่เคยปรากฏ ทั้งนี้ รัฐบาลต้องจัดการเลือกตั้งให้มีความสงบ เท่าเทียม ยุติธรรม และต้องไม่เปิดโอกาสให้นักการเมืองเก่าๆ มาใช้วิธีการเดิม การเลือกตั้งต้องสุจริต เที่ยงธรรม ไม่วุ่นวาย ก็จะเป็นที่ถูกใจของทุกฝ่าย บ้านเมืองก็จะเดินหน้าไปได้ และเชื่อว่ารัฐบาลจะเดินไปแนวนี้

สำหรับปัญหาการประท้วงของกลุ่มเกษตรกรต่อปัญหาพืชผลการเกษตรตกต่ำที่มีทุกปี ยอมรับว่ามีมาตลอดและในกรณีนี้รัฐบาลรู้ว่าสำคัญ และคงให้ความเอาใจใส่มากเต็มที่ ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลออกมาดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาดังกล่าวมีปัจจัยหลายอย่างเกี่ยวข้อง ดังนั้นถ้าจะทำให้ดีสุดๆ มันคงไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอก ถ้าทำให้ดีในระดับพอใจของเกษตรกรส่วนใหญ่ระดับหนึ่งเชื่อว่าทำได้

สมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สะท้อนมุมมองว่าสิ่งที่รัฐบาลทำที่ผ่านมาก็ยอมรับว่าดีหลายเรื่อง โดยเฉพาะการวางโครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญคือ 1.ไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงตลอด 3 ปีกว่าๆ ถือว่าประสบความสำเร็จในเรื่องความสงบเรียบร้อย และเป็นหลักการสำคัญในการพัฒนาประเทศ

2.ทำให้ประเทศกลับมาพูดถึงประเด็นดังกล่าวหลังหยุดนิ่งมากว่า 10 ปี ซึ่งถือว่ารัฐบาลทำได้ดี เช่น การวางระบบโลจิสติกส์เส้นทางรถไฟที่ใช้ทดแทนการขนส่ง หรือการพัฒนาการก่อสร้างทางถนน โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ หรืออีอีซี รวมถึงสะสางกฎหมายค้างเก่าที่ไม่ทันสมัยและทำให้เกิดปัญหา อาทิ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ร.บ.สรรพสามิต

“รัฐบาลทำมาถูกทาง หรือพูดง่ายๆ ระยะกลาง ยาว น่าจะมีความชัดเจนมาก โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เมื่อก่อนไม่มีตรงนี้ จึงทำให้เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจทีละ 5 ปี เพราะรัฐบาลเลือกตั้งมีอายุ 2-3 ปี ก็ล่มหรือยุบสภาไป แล้วออกนโยบายประชานิยมเพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาลตลอด ทำให้แผนพัฒนาประเทศไม่ต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลวางยุทธศาสตร์ชาติจะทำให้ประเทศหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ส่วนระยะกลางคือ การเอากลุ่มคนรวย คนจน โดยเฉพาะคนรวยมาช่วยในเรื่องภาคประชารัฐ เพื่อให้คนชนชั้นกลางและคนชนชั้นล่างขยับขึ้นถือว่าถูกต้อง เพราะไม่สามารถทำให้คนรวยทั้งประเทศได้ แต่ภาพรวมทำให้ประเทศเดินไปได้ดั่งเช่นประเทศเจริญแล้ว

ส่วนปัญหาของเกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมาไทยเดินมาในทิศทางประเทศเกษตร 1.0 หรือต่ำกว่านั้น อาศัยเกษตรแบบรอฝน แล้วท้ายที่สุดเป็นการผลิตจำนวนมาก เพื่อขายให้ได้จำนวน ยังไม่ได้ผลิตเพื่อแปรรูปไปจนสุด ซึ่งเป็นหลักที่ผิดและรัฐต้องปรับตรงนี้ อาทิ การผลิตยาง แต่ไม่ได้ทำต่อยอดให้เป็นยางรถยนต์ หรือยางล้อเครื่องบิน ถุงมือยาง ซึ่งสูญเปล่าเป็นเพียงประเทศแค่รับจ้างปลูก รัฐต้องจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการประกันราคาข้าว ยาง และราคาพืชผล ซึ่งผิดหลัก วันนี้ต้องปรับ

“รัฐต้องสร้างแนวร่วมความเข้าใจในเรื่องหลักการพัฒนาต้องมีความมั่นคง แต่จะปฏิรูปได้ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเห็นเป้าหมายและร่วมมือพัฒนา ประชาชนต้องอิ่ม ถ้าไม่อิ่มก็ไม่เกิดความร่วมมือ เมื่ออิ่มแล้วประชาชนก็จะเชื่อ วันนี้ข้ออ่อนคือ ทำให้อิ่มและเชื่อ ไม่ใช่ระเบิด เพราะเมื่อเกิดวิกฤตก็ต้องมีโอกาสเสมอ รัฐบาลต้องปรับจูนตรงนี้”

ส่วนเรื่องการเมืองมองแบบเดียวกันคือ ปรับตัว ถ้าเอาการเมืองเลือกตั้งแล้วกลับไปแบบเดิม ก็อยากถามประชาชนทั้งประเทศเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าไม่ แม้คนที่ออกมาเสียงดัง เช่น นักการเมือง หรือพรรคการเมืองทั้งหลาย แต่อยากให้นักการเมืองย้อนกลับไปถามประชาชนและนักธุรกิจที่เคยสนับสนุน กลุ่มคนเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือ กปปส. ว่าอยากกลับไปแบบเดิม ที่รัฐบาลไม่ว่าใครก็ตามแล้วอีกฝ่ายชุมนุมจะเอาหรือไม่

สมชาย ระบุว่า สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือ ทำให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญออกมาดีพอสมควร เพื่อให้ได้ สส. สว.ที่มีคุณภาพมากขึ้น แล้วให้ประชาชนเลือก แม้ขณะนี้รัฐจะยังไม่ปลดล็อก แต่ฝ่ายการเมืองต้องกลับไปทบทวนตัวเองด้วยว่าสิ่งที่ทำมาในอดีต ทำไมประเทศถึงติดกับดักความขัดแย้งตลอดเวลา กับดักทุจริตคอร์รัปชั่น สิ่งที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำคือกำลังส่งผ่านกลับสู่ประเทศประชาธิปไตยที่จะมีการเลือกตั้ง

“การส่งผ่านนั้นเป็นช่วงต้องระมัดระวัง เหมือนคนป่วยเอาเข้ามาผ่าตัดมะเร็ง รัฐบาลและ คสช.ก็ผ่าตัดเอาเชื้อโรคร้ายออกระดับหนึ่ง เมื่อคนไข้เข้ามากายภาพบำบัด เมื่อออกไปถ้ารักษาไม่ดีอาจป่วยตายได้ หรือกลับเข้ามาโรงพยาบาลอีก ดังนั้น ทำอย่างไรให้ออกไปแข็งแรง และแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ซึ่งถือว่าช่วงนี้เป็นจังหวะสำคัญ และเห็นด้วยกับการเลือกตั้งท้องถิ่นต้องทำก่อน”

สมชาย ย้ำว่า ปัญหาบ้านเมืองต้องไม่กลับเป็นแบบเดิม เอาคนของพรรคลงแข่งขัน อบต. อบจ. เทศบาลฯ กลายเป็นเครื่องมือของพรรคเหมือนเดิม ชาวบ้านก็ต้องเปลี่ยนการเลือก แต่ไม่ใช่ชาวบ้านอย่างเดียว แต่ต้องเปลี่ยนกฎหมาย โดยหลังปีใหม่จะทำกฎหมายท้องถิ่น 6 ฉบับ