posttoday

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ความเสี่ยงของ คสช.

03 มกราคม 2561

สัญญาณชัดเจนจากรัฐบาล คสช. ว่าจะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติที่ว่ากันว่าจะเป็นทั้งการเตรียมความพร้อมและเช็กกระแสในแต่ละพื้นที่

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สัญญาณชัดเจนจากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติที่ว่ากันว่าจะเป็นทั้งการเตรียมความพร้อมและเช็กกระแสในแต่ละพื้นที่ โดยเบื้องต้นหากไม่มีอะไรผิดพลาด การเลือกตั้งในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ได้ประมาณกลางปี 2561

ระหว่างที่กระบวนการเตรียมความพร้อมอยู่ในขั้นตอนการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 5 ฉบับ ซึ่งประเด็นหลักอยู่ที่เรื่องคุณสมบัติที่จะถูกปรับให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญปี 2560

ยังไม่รวมกับข้อเสนอของทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ที่เห็นว่าควรแก้ไขในส่วนของสมาชิก อบต. ให้ลดจำนวนสมาชิก อบต.จากหมู่บ้านละ 2 คน เหลือ 1 คน ที่จะช่วยประหยัดงบประมาณ ค่าจ้าง 4,700 ล้านบาท/ปี สมัยหนึ่ง 4 ปี เป็นเงิน 1.88 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามที่ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดี สถ. เสนอนั้นจะเห็นว่าควรเลือกตั้ง อบจ. กับ กทม.ก่อน จากนั้นค่อยเลือกตั้ง เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา เพื่อให้เกิดความสะดวกในการบริหารจัดการ

แต่ในทางปฏิบัติยังเป็นเรื่องยากที่ คสช.จะตัดสินใจเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในจังหวะเดียวกันนี้ ที่เต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยงและเปราะบาง

ประการแรก พื้นที่ กทม.ถือเป็นศูนย์กลางประเทศ การเปิดให้มีการเลือกตั้งแม้จะเป็นระดับท้องถิ่น แต่ย่อมหมายถึงการเปิดให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองต่างๆ และผู้สมัครอิสระออกมาเคลื่อนไหวหาเสียง และจัดกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

นั่นย่อมทำให้ คสช.ต้องตัดสินใจแก้ไขคำสั่ง ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม ตลอดจนเปิดกว้างให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างอิสระ ไม่เช่นนั้นย่อมจะทำให้ผลการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ที่จะออกมาในอนาคตเป็นที่เคลือบแคลงและไม่ยอมรับในอนาคต

แต่ผลที่ตามมาอีกด้านหนึ่ง การเปิดให้กลุ่มต่างๆ เคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ย่อมอาจทำให้ คสช.ตกเป็นเป้าถูกโจมตีทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ หลังบรรยากาศการเมืองที่สงบนิ่ง เพราะสะกดไม่ให้มีการเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาล คสช.มานาน

ยังไม่รวมกับความปั่นป่วนของกลุ่มจ้องก่อความไม่สงบที่จะใช้โอกาสนี้สร้างสถานการณ์ความปั่นป่วนจนนำไปสู่สถานการณ์ความวุ่นวายรุนแรงในอนาคต

ประการที่สอง สนามเลือกตั้ง กทม.ถือเป็นสมรภูมิที่ดุเดือดของสองพรรคใหญ่ ทั้งประชาธิปัตย์ แชมป์เก่าที่รักษาเก้าอี้ต่อเนื่องมาหลายสมัย และเพื่อไทย ที่กำลังไล่บี้มาแบบหายใจรดต้นคอ

การหวนคืนสนามของ 2 พรรคใหญ่ รอบนี้จึงน่าจะยิ่งสร้างความร้อนแรงให้กับการเมืองหลังถูกคุมเข้มไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวมานาน อันจะกลายเป็นปัจจัยที่สุ่มเสี่ยงไปถึงการเลือกตั้งในอนาคต

เมื่อเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ถือเป็นหมุดหมายทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของ 2 พรรคใหญ่ที่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อแย่งชิงเก้าอี้ตัวนี้ให้ได้ อันจะหมายถึงความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในสนามเลือกตั้งใหญ่ต่อไป   

ไม่ว่าผลการเลือกตั้งที่จะออกมาย่อมส่งผลทางจิตวิทยาต่อการเลือกตั้งระดับชาติต่อไป รวมทั้งไม่ว่าพรรคใดพรรคหนึ่งขึ้นมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะใช้อำนาจหน้าที่ ทรัพยากร แอบแฝงไปช่วย หรืออำนวยความสะดวก จนเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการหาเสียงในการเลือกตั้งระดับชาติส่วนของ กทม.

ประการที่สาม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ปัจจุบันถือเป็นบุคคลที่ทาง คสช.ให้ความไว้วางใจ จนได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งสำคัญตามมาตรา 44 เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2560

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า กทม.ปฏิบัติหน้าที่ตอบสนองนโยบายรัฐบาล คสช.ได้เป็นอย่างดี ไม่มีปัญหาให้เห็น ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องรีบปรับเปลี่ยนตัวบุคคลซึ่งไม่รู้ว่าฝ่ายใดจะชนะการเลือกตั้งขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ และไม่รู้ว่าจะขานรับแนวนโยบาย ตลอดจนสัญญาณจาก คสช.ได้มากน้อยแค่ไหน

การรักษามือไม้คนทำงานไว้ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญทางการเมือง จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับ คสช.ซึ่งกำลังจะก้าวลงจากอำนาจ จำเป็นจะต้องมีหลักประกันให้อุ่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาในอนาคต

อีกทั้งหากเกิดปัญหาใดๆ ในช่วงนี้ นายกรัฐมนตรียังมีอำนาจตามคำสั่งฉบับดังกล่าวที่จะสั่งผู้ว่าฯ กทม. หรือรอง ผู้ว่าฯ กทม. ออกจากตำแหน่งได้ ในกรณี

“ได้กระทำการอันเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหรือปฏิบัติการหรือละเลยไม่ปฏิบัติการอันควร ปฏิบัติในลักษณะที่เห็นได้ว่าจะเป็นเหตุให้เสียหายอย่างร้ายแรงแก่กรุงเทพมหานครหรือแก่ราชการโดยส่วนรวมหรือแก่การรักษาความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชน”

ในมุม คสช. การเลือกเริ่มต้นจัดการตั้งท้องถิ่นในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด และค่อยไล่ไปสู่ระดับเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนเขตปกครองพิเศษอย่างเมืองพัทยา จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในช่วงนี้ไปพร้อมกัน