posttoday

การเมืองศักราชใหม่ ทุกอย่างสุดแต่ใจ ‘บิ๊กตู่’

01 มกราคม 2561

การเมืองเข้าสู่ศักราชใหม่อย่างเป็นทางการ มองย้อนกลับไปถึงปี 2560 ที่เพิ่งผ่านมา ถือว่าประเทศไทยเกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างมากมาย

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเมืองเข้าสู่ศักราชใหม่อย่างเป็นทางการ มองย้อนกลับไปถึงปี 2560 ที่เพิ่งผ่านมา ถือว่าประเทศไทยเกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างมากมาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 เป็นหลักไมล์สำคัญอันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศกำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง

โดยเงื่อนไขสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยไปถึงวันเลือกตั้งอย่างร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จำนวน 4 ฉบับ ก็มีความ คืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญพอสมควร

กล่าวคือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ส่งร่างกฎหมายให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครบทุกฉบับตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว โดยมีผลบังคับใช้แล้ว 2 ฉบับ ได้แก่ 1.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ 2.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

ขณะที่กฎหมายเลือกตั้งอีก 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ปรากฏว่า สนช.ก็กำลังพิจารณาอย่างเข้มข้น และมีกำหนดจะลงมติให้ความเห็นชอบในช่วงปลายเดือน ม.ค.

ไม่เพียงเท่านี้ กระบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่ ตามกฎหมายก็มีความ คืบหน้าเป็นระยะ ภายหลังคณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ส่งว่าที่ กกต.ทั้ง 7 คน มาให้ สนช.แล้ว และ สนช.ได้ตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติและความประพฤติก่อนส่งรายงานและทำความเห็นมาให้ที่ประชุม สนช.เห็นชอบต่อไป

ทั้งหมด จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งกำลังขับเคลื่อนไปด้วยฟันเฟืองทางกฎหมายต่างๆ

นอกเหนือไปจากการเลือกตั้งที่มีความคืบหน้าแล้ว อีกด้านหนึ่งงานด้านการปฏิรูปประเทศเริ่มปรากฏความเคลื่อนไหวเช่นกัน

เช่น การปฏิรูปตำรวจที่มี "พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์" เตรียมเสนอร่างกฎหมายเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อส่งมายัง สนช.เป็นต้น ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่รัฐบาลตั้งขึ้นถึง 11 คณะ กำลังทยอยส่งแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศที่เป็นรูปธรรมให้กับรัฐบาล

งานด้านการปฏิรูปประเทศนั้น รัฐบาลจะรวบรวมและเสนอกฎหมายเป็นชุดหรือแพ็กเกจให้กับ สนช. โดยไม่ได้ทยอยทีละฉบับเหมือน ที่ผ่านมา เพราะต้องการให้การพิจารณากฎหมายแต่ละฉบับมีความเชื่อมโยงกัน เพื่อจะได้ตัดปัญหาไม่ต้องแก้ไขกันภายหลังอีก

ขณะเดียวกัน ร่างยุทธศาสตร์ชาติ จะเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความสำคัญพอสมควร โดยก่อนหน้านี้ได้ตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติมาแล้ว เวลานี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการจัดทำเนื้อหาเพื่อส่งให้กับ ครม.ก่อนที่จะส่งให้ สนช.พิจารณา อีกทอด

โดยทั้ง "แผนปฏิรูปประเทศ-ยุทธศาสตร์ชาติ" รัฐบาลจะเสนอเข้า สนช.ภายใน 3 เดือนแรกของปี 2561 ทันที เพื่อให้ทันก่อนครบ 1 ปีของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

รัฐบาลและ คสช.ตั้งความหวังว่าจะใช้แผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเป็นผลงานชิ้นโบแดงให้ประชาชนได้เห็นสั่งลาก่อน ตัวเองจะลงจากอำนาจ

จากกระบวนการต่างๆ ที่ขับเคลื่อนเดินหน้าเป็นระยะๆ นี่เอง ย่อมเป็น การแสดงให้เห็นในระดับหนึ่งว่าการเลือกตั้งน่าจะมีขึ้นในปี 2561 ได้อย่างไม่น่ากังวลเท่าไร

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งเริ่มสัญญาณบางประการที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้เหมือนที่การเลือกตั้งอาจจะไม่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ

หนึ่งในสัญญาณที่ว่านั้น คือ การจัดทำร่างกฎหมายเลือกตั้ง สส.และร่างกฎหมายการได้มาซึ่ง สว. แม้ กรธ.จะส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับไปยัง สนช.แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สนช.จะเห็นดีเห็นงามไปด้วยเสียทั้งหมด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ภายหลังมีสมาชิก สนช.ได้อภิปรายหลายคนและมีความเห็นตรงกันว่าการใช้ระบบเลือกกันเองของผู้สมัคร สว.จะทำให้มาซึ่ง สว.อย่างแท้จริงตามรัฐธรรมนูญ

สนช.ส่วนใหญ่มองว่าจะเป็นช่องให้พรรคการเมืองส่งคนของตัวเองลงมาสมัคร สว.เพื่อทำการบล็อกโหวตและนำไปสู่การให้คนของตัวเองได้เป็น สว. แม้ สว.ชุดแรกจะมาจากการเลือกจาก คสช. แต่จะมี สว. 50 คนที่ คสช.ต้องเลือกมาจากบัญชีที่ผู้สมัคร สว.ได้เลือกกัน เท่ากับว่าไม่ว่าบัญชีรายชื่อว่าที่ สว.จะมีหน้าตาอย่างไร คสช.ก็ต้องเลือกจากตรงนั้น โดยไม่มีทางเลือก

จึงไม่แปลกที่ในเวลานี้เริ่มมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า สนช.อาจมีมติคว่ำร่างกฎหมายสรรหา สว. เพื่อชะลอการเลือกตั้งออกไปก่อน จนทำให้ทั้ง "พรเพชร วิชิตชลชัย" ประธาน สนช.และ "สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย" รองประธาน สนช. คอยแก้ข่าวกับสื่อมวลชนแบบรายวัน เพื่อยืนยันว่า สนช.ไม่ได้มีความคิดแบบนั้น

ที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับ คสช.ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ระหว่างจะเดินหน้าเพื่อสู่การเลือกตั้งหรือจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพราะยังไม่ไว้วางใจกับสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตด้วยการใช้มาตรา 44 เพื่อตัดปัญหาทั้งหมด

ทั้งนี้ มีแต่เพียง "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" เท่านั้นที่รู้อยู่แก่ใจและเป็นคนตัดสินใจว่าจะพาประเทศเดินไปทางไหน