posttoday

ต่ออายุ "ปปช." สืบทอดอำนาจทหาร

27 ธันวาคม 2560

คสช.จำเป็นต้องพยายามสร้างฐานอำนาจใหม่เพื่อเป็นหลักประกันให้กับตัวเอง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การใช้เวลาถึง 3 วันในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาเป็นอย่างยิ่ง

ต้องไม่ลืมว่าแม้แต่กฎหมายงบประมาณที่เป็นกฎหมายการเงินที่มีความสำคัญต่อการบริหารประเทศ สนช.ยังใช้เวลาพิจารณาสั้นกว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

ย้อนกลับไปที่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เพิ่งผ่านพ้นไป ปรากฏว่ามีประเด็นที่เป็นดราม่าอยู่ 2 เรื่อง

1.บทบัญญัติในมาตรา 37/1 ซึ่งมีหลักการให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สามารถดักฟังการใช้โทรศัพท์ได้ โดยผ่านการให้ความเห็นชอบของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

การพิจารณาในประเด็นนี้เป็นไปอย่างดุเดือดนานนับวันของวันที่ 21 ธ.ค. จนต้องยกยอดไปพิจารณากันอีกครั้งในวันที่ 22 ธ.ค.ก่อนจะที่จะมีการพักประชุมในเวลาเพื่อหาทางออก กระทั่งในที่สุดคณะกรรมาธิการวิสามัญของ สนช.ยอมถอนบทบัญญัติมาตรา 37/1 ในเวลาต่อมา

เหตุผลของการถอนไม่ได้อยู่ที่กระแสต่อต้านจากสมาชิก สนช.บางกลุ่ม หรือจากกลุ่มคนภายนอก แต่เป็นเพราะมีการเช็กกำลังกันแล้วว่าถ้าใช้มติสภาเพื่อตัดสินมาตรา 37/1 มีความเป็นไปได้พอสมควรที่คณะกรรมาธิการวิสามัญจะต้องแพ้ให้กับเสียงสภา สู้ยอมถอยเรื่องนี้เพื่อไม่ให้กระทบงานใหญ่ในมาตราอื่นดีกว่า

2.มาตรา 178 มาตรานี้เองที่เป็นงานใหญ่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ เนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่เปิดทางให้ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันบางคนที่มีคุณสมบัติไม่ครบและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญยังได้ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี

ส่งผลให้ ป.ป.ช.กลายเป็นอีกองค์กรที่ต่อจากศาลรัฐธรรมนูญและผู้ตรวจการแผ่นดินที่ได้นั่งเก้าอี้ทรงอำนาจต่อไป โดยไม่ถูกรีเซตหรือเซตซีโร่เหมือนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

แต่ไม่ว่าจะถูกโจมตีอย่างไร สุดท้าย สนช.ก็สามารถมีมติเสียงข้างมาก 198 ต่อ 1 เสียงเห็นชอบกับร่างกฎหมายดังกล่าวไปเป็นที่เรียบร้อย

หากมองในภาพรวมของร่างกฎหมาย ป.ป.ช.แล้วถือว่าเป็นการส่งเสริมการทำงานปราบปรามการทุจริตอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อมีประเด็นดราม่าในมาตรา 178 จึงทำให้ สนช.ถูกเพ่งเล็งไปโดยปริยายว่าเป็นการออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนบางคนหรือไม่

ต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันในหลักการที่ให้กรรมการองค์กรอิสระต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการใหม่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่า สนช.กลับทำออกมาในสิ่งที่แตกต่าง โดยไม่มีเหตุผลที่น่ารับฟังเท่าไรนัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีของ ป.ป.ช. เนื่องจาก สนช.ได้บัญญัติให้กฎหมายด้วยการยกเว้นไม่นำลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับ

กล่าวคือโดยหลักแล้วบุคคลจะเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ได้นั้นจะต้องเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือเทียบเท่า หรือกรณีที่บุคคลที่เคยเป็นกรรมการองค์กรอิสระมาก่อนจะถูกห้ามไม่ให้กลับมาเป็นกรรมการองค์กรอิสระอีกครั้ง แต่เมื่อ สนช.ยกเว้นเรื่อง ดังกล่าว ทำให้กรรมการ ป.ป.ช.ปัจจุบันที่เคยเป็นกรรมการองค์กรอิสระมาก่อน หรือไม่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีหรือเทียบเท่า สามารถเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ต่อไปได้

การมี ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งนั้นนับว่าสามารถสร้างความอุ่นใจให้กับ คสช.ได้ไม่น้อย เนื่องจากเวลานี้กำลังถูกตรวจสอบเรื่องความ ไม่โปร่งใสในหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่อยู่ในเวลานี้อย่างกรณีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโห

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพียงแค่การมีวุฒิสภาที่ คสช.เป็นผู้เลือกนั้น อาจไม่พอต่อการยืนในสนามการเมืองหลังจากต้องลงจากอำนาจไป เรียก ได้ว่าก่อนลงหลังเสือต้องปูทางให้เรียบร้อยก่อนเท่านั้น

ดังนั้น คสช.จำเป็นต้องพยายามสร้างฐานอำนาจใหม่เพื่อเป็นหลักประกันให้กับตัวเองว่าเมื่อลงจากอำนาจแล้ว จะไม่มีอะไรตามหลังจนสร้างผลทางการเมืองอย่างรุนแรง เพราะต้องไม่ลืมว่าในอนาคต คสช.ก็หวังใช้ทางลัดเพื่อกลับสู่อำนาจอีกครั้ง จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดความมั่นคงมากที่สุด