posttoday

กฎหมายปปช.สะดุด ดักฟังละเมิดสิทธิ

22 ธันวาคม 2560

การประชุมสนช.ที่มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ...

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ที่มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ... ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จในวาระ 2 และ 3

โดยเนื้อหามาตรา 37/1 มีใจความสำคัญว่า ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใดที่ส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ มือถือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดที่เป็นความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

หรือความผิดอื่นที่ร่างนี้กำหนด ซึ่งการ กระทำความผิดดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญมีผล กระทบอย่างกว้างขวาง พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหนังสือจะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวก็ได้

การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบสั่งอนุญาตได้คราวละไม่เกิน 90 วัน โดยกำหนดเงื่อนไขใดๆ ก็ได้ และให้ผู้เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสาร ในสิ่งที่สื่อสารตามคำสั่งดังกล่าวให้ความร่วมมือเพื่อให้เป็นไปตามความในมาตรานี้

ทั้งนี้ หากปรากฏข้อเท็จจริงภายหลังที่มีคำสั่งอนุญาตว่าเหตุผลความจำเป็นไม่เป็นไปตามที่ระบุ หรือพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป อธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบอาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งอนุญาตได้ตามที่เห็นสมควร

จากนั้นที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิก สนช.อภิปรายอย่างกว้างขวางในวาระ 2 ซึ่งส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าเนื้อหาตามมาตรา 37/1 อาจไปกระทบเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงเห็นควรตัดทิ้ง อาทิ ภัทระ คำพิทักษ์ กมธ.เสียงข้างน้อย กล่าวว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ป.ป.ช.พยายามเสนอหลักการนี้เข้ามา ถ้า สนช.เห็นชอบจะสร้างประวัติศาสตร์ ยอมให้อำนาจนี้กับ ป.ป.ช. และมาตรา 50 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริต (UNCDC) ระบุถึงเรื่องการให้ใช้มาตรการพิเศษในการตรวจสอบการทุจริต แต่ระบุเพียงว่าให้ใช้อย่างเหมาะสม ภายใต้การควบคุมเท่านั้น

"น่าคิดว่าหาก ป.ป.ช.ได้อำนาจส่วนนี้ไปแล้วถูกครอบงำจะเกิดอะไรขึ้น การพิจารณามาตรานี้ ใช้เวลาสั้นๆ ในชั้น กมธ.เพียงไม่เกิน 1 ชั่วโมง ก็เกิดมาตรา 37/1 ขึ้นมา ยังไม่รวมถึงเรื่องอำนาจการอำพราง และสะกดรอย ที่เสนอเป็นฝาแฝดพ่วงมาด้วย ถือว่าการพิจารณายังไม่ละเอียดรอบคอบ"

ขณะเดียวกัน อยากยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการใช้อำนาจดักฟังจะต้องมี น้ำหนักหลักฐานแน่นหนาทางคดีจึงจะดำเนินการได้ เช่น ตำแหน่งที่ดักฟัง รูปแบบการดักฟัง รายชื่อเป้าหมายการดักฟัง เหตุผลการดักฟัง และต้องเป็นเรื่องที่ไม่สามารถใช้กระบวนการสอบสวนทางปกติได้ ที่สำคัญต้องเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน แต่หลักเกณฑ์ของไทยมีรายละเอียดเหล่านี้หรือไม่ ไม่ใช่แค่ตั้งข้อสงสัยก็ดักฟังกันได้แล้ว

นอกจากนี้ ข้อมูลที่ดักฟังหากไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับคดีต้องถูกทำลายทันที ต่างจากมาตรการของไทยที่ไม่ได้ระบุชัดเจน จะทำลายข้อมูลเมื่อใดรวมทั้งต่างประเทศกำหนดให้ต้องรายงานการดักฟังต่อศาลทุก 7-10 วัน แต่ของไทย เมื่อพอได้รับอนุญาตให้ดำเนินการแล้วจะมีเวลา 90 วันไปดำเนินการจึงมารายงานต่อศาล

ภัทระ ระบุต่อว่า และถ้าถูกดักฟังแล้วแต่พบว่าไม่เข้าข่ายความผิด ผู้ถูกดักฟังต้องได้รับการแจ้งเตือนทันที พร้อมทั้งมีโอกาสฟ้องร้องศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ ซึ่งบางประเทศพิสูจน์ได้ว่าการดักฟังไม่มีอคติ แต่ ป.ป.ช.จะมีอคติหรือไม่ก็ไม่รู้ ดังนั้น อย่ามุ่งแต่ใช้ข้อมูลที่จะกำจัดคนโกงเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้ ป.ป.ช.ตกอยู่ในความเสี่ยง การได้เครื่องมือปราบทุจริตต้องชั่งน้ำหนักถึงคุณค่าที่ต้องแลกมา เช่น การละเมิดสิทธิในระบอบประชาธิปไตยว่าคุ้มค่ากันหรือไม่

ขณะที่ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. อภิปรายว่า การใช้อำนาจเกินขอบเขต เรียกร้องมากเกินไป อาจทำให้องค์กรสั่นสะเทือนได้ ยิ่งหากหลักฐานที่ได้มาไม่บริสุทธิ์จะเป็นสิ่งที่ทิ่มตำทำลายผู้ที่นำหลักฐานนั้นมาใช้เอง อีกทั้งเป็นห่วงว่าอาจเป็นเครื่องมือใช้แบล็กเมล์ทางการเมืองกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวัง ดังนั้น ประเด็นนี้อ่อนไหวที่สุด ไม่ควรนำมาใส่ และต้องฟังเสียงประชาชนให้รอบด้าน

อย่างไรก็ตาม ถ้า ป.ป.ช.เป็นองค์กรที่น่าเคารพศรัทธา ข้อมูลจะหลั่งไหลมาเอง การใช้มาตรา 37/1 เพื่อให้ได้ข้อมูลทางลับเป็นสิ่งต้องพึงระวัง ไม่รู้ว่าข้อมูลที่ได้ศาลจะเชื่อหรือไม่ อาจทำให้ศาลกระอักกระอ่วน เพราะ ป.ป.ช.เป็นองค์กรกึ่งตุลาการ รู้สึกไม่สบายใจ แต่เชื่อว่า สนช.จะพิจารณากฎหมายด้วยความรอบคอบให้ประชาชนสบายใจ มีความยุติธรรมอย่างแท้จริง

สำทับด้วย ตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. ระบุว่า การออกกฎหมายใดๆ ต้องพึงระวังเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพอันเกินสมควรแก่เหตุ และอยากทราบว่าจะมีกลไกใดเข้าไปถ่วงดุลอำนาจการสืบค้นข้อมูลส่วนตัวทางโทรศัพท์ ไลน์ เฟซบุ๊ก เพราะในอนาคตอาจมีการหยิบยกข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้มาอภิปรายทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมืองได้

"เหมือนอย่างในอดีตที่เคยให้อำนาจกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จนล้นฟ้า สุดท้ายกลับตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง และ ดีเอสไอถูกนำมาใช้กลั่นแกล้งคู่ต่อสู้ทางการเมือง ดังนั้น จึงขอให้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ"

สำหรับ กมธ.เสียงข้างมาก โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า การใช้คำว่าดักฟังเป็นการสร้างภาพที่น่ากลัว เพราะ กมธ.เสียงข้างมากไม่มีเจตนาล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 36 เพราะการจะใช้มาตรา 37/1 ได้ ต้องผ่านมติเห็นชอบจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน ว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะขอยื่นอนุมัติต่อศาล

ทั้งนี้ เมื่อ ป.ป.ช.อนุญาตแล้วต้องส่งให้อธิบดีศาลทุจริตและประพฤติมิชอบให้ความเห็นชอบด้วย ไม่ใช่แค่ให้ผู้พิพากษาทั่วไปอนุญาต ที่สำคัญฐานความผิดที่เข้าข่ายใช้มาตรา 37/1 นั้นต้องเป็นเรื่องที่มีผลกระทบในวงกว้าง เมื่ออธิบดีศาลฯ อนุญาต ป.ป.ช.จะมีเวลาไม่เกินครั้งละ 90 วัน ในการใช้อำนาจตามมาตรานี้ ส่วนข้อมูลที่ได้มาจะใช้เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคดีเท่านั้น ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวจะถูกทำลายทันที ป.ป.ช.ไม่มีเจตนาละเมิดสิทธิประชาชน แต่จะทำทุกทางเพื่อตรวจสอบการทุจริต

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธาน กมธ. อภิปรายว่า เรื่องการให้อำนาจ ป.ป.ช.สืบค้นข้อมูลทางโทรศัพท์นั้น ยืนยันว่า กมธ.ไม่มีเจตนาทำลายล้างใคร แต่เป็นการทำเพื่อประโยชน์ทางคดี เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล จึงมีความจำเป็นต้องให้อำนาจส่วนนี้โดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ซึ่งการดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเห็นชอบก็ทำได้ เมื่อผ่านความเห็นจากคณะกรรมการแล้วยังต้องขออนุญาตจากศาลอีกครั้ง รวมถึงต้องเป็นคดีที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสาธารณะด้วย

อย่างไรก็ดี กมธ.เสียงข้างมากยืนยันจะไม่ถอนมาตราดังกล่าวออก ก่อนที่ประชุมมีมติเลื่อนพิจารณาออกไปช่วงเช้าวันที่ 22 ธ.ค. เวลา 09.00 น.