posttoday

รวมพลพรรคคนรัก 'ทหาร' หนุนบิ๊กตู่นั่งนายกฯอีกสมัย

19 ธันวาคม 2560

การเมืองช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ถือเป็นเรื่องให้ทุกฝ่ายต้องจับตา โดยเฉพาะภายหลังเกิดกระแสข่าวการ เตรียมตั้งพรรคการเมืองทหารหนุนบิ๊กตู่

โดย... ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเมืองช่วงระยะเปลี่ยนผ่านถือเป็นเรื่องให้ทุกฝ่ายต้องจับตา โดยเฉพาะภายหลังเกิดกระแสข่าวการ เตรียมตั้งพรรคการเมืองทหาร เพื่อรับการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาถึงตามโรดแมป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งได้ประกาศไว้

เมื่อส่องวี่แววก็พอจะเริ่มเห็นเค้าลาง ตั้งแต่ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. และอดีตเตรียมทหาร (ตท.) รุ่น 12 ซึ่งได้ลาออกจากการเป็นสมาชิก สปท. ก่อนหมดวาระดำรงตำแหน่ง พร้อมประกาศเจตนารมณ์จะตั้งพรรคการเมืองในนาม "พรรคพลังชาติไทย"สำหรับประวัติการทำงานของ พ.อ.สุชาติ เคยดำรงตำแหน่งเป็น ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 5 และผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 43 จ.นราธิวาส ในช่วงปี 2533-2535 อีกทั้งยังเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.สงขลา 1 สมัย ภายใต้สังกัดพรรคความหวังใหม่ เมื่อปี 2535

อย่างไรก็ดี ยังมีสมาชิก สปท. ซึ่งเห็นพ้องแนวทางของ พ.อ.สุชาติ ในการสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกสมัย ประกอบด้วย พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมพงษ์ สระกวี และสุชน ชาลีเครือ

ถัดมา ไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นอีกหนึ่งอดีตสมาชิก สปท.และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังหมดวาระดำรงตำแหน่ง ก็ได้ออกมาประกาศจุดยืนทางการเมือง ด้วยการจัดตั้ง "พรรคประชาชนปฏิรูป"เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกสมัย พร้อมส่งสัญญาณจะหาสมาชิกให้ครบ 77 จังหวัด ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ 2560

สำหรับ ไพบูลย์ เคยฝากผลงาน การเมือง อาทิ เป็นสมาชิกวุฒิสภา 2 วาระ โดยวาระแรกจากการสรรหาภาครัฐ ดำรงตำแหน่งเต็มวาระ ระหว่างปี 2551-2554 และวาระที่สองจากการสรรหาภาคอื่น เมื่อปี 2555-2557 อีกทั้งระหว่างการดำรงตำแหน่ง ดังกล่าวยังเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและประสานงานกลุ่ม 40 สว.ขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและ เจ้าหน้าที่ระดับสูง

ต่อมาอีกหนึ่งกระแสข่าวและเป็นคนใกล้ตัว พล.อ.ประยุทธ์ คือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ หลังจาก วัชระ เพชรทอง อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดเผยข้อมูล จะไปทำหน้าที่หัวหน้า "พรรคประชารัฐ" เพื่อสนับสนุนนายกฯ ให้ดำรงตำแหน่งต่อไป

อย่างไรก็ตาม "สมคิด" แบ่งรับแบ่งสู้โดยบอกว่า สื่อได้ข้อมูลผิดไปแล้ว ตอนนี้ตนเองอายุ 60 กว่าปีแล้ว จะย่างเข้า 65 แล้ว และเมื่อถามย้ำว่าหลังจากนี้จะเลิกเล่นการเมืองเลยหรือไม่ สมคิด บอกว่า "ผมว่าได้ข้อมูลผิด ไม่มีอะไรเลย" และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมช่วงนี้จึงถูกจับจ้องเป็นพิเศษ หรือเพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกมองว่าจะสืบทอดอำนาจ สมคิด ตอบว่า "ไม่รู้ ผมก็ทำงานของผมไป"

ทั้งนี้ สมคิด เคยดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษา รมว.ต่างประเทศ และที่ปรึกษารองนายกฯ อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ในรัฐบาลทักษิณ และหลังเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2549 ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2550 ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้เป็นผู้ทำความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับ ต่างชาติโดยเฉพาะไทยกับญี่ปุ่น และลาออกภายในไม่กี่วันหลังรับแรงกดดันจากหลายฝ่าย

คนสุดท้ายขาดไม่ได้ สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (กปปส.) ซึ่งประกาศจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่นายกฯ ต่อไป แม้คำตอบยังไร้ความชัดเจนถึงอนาคตว่าจะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาหรือไม่

ทว่า มีกระแสข่าวความเป็นไปได้ถึงประเด็นนี้โดยให้คนรุ่นใหม่มาบริหารงาน และสุเทพทำหน้าที่กุมบังเหียนอยู่เบื้องหลัง ท่ามกลางแกนนำ กปปส.บางส่วน ที่ยังคงให้การสนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกฯ จึงต้องติดตามช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากนี้ จะลงเอยเช่นไร