posttoday

รีเซตพรรคการเมือง เปิดทางพรรคใหม่

18 ธันวาคม 2560

การกรุยทางให้พรรคการเมืองใหม่สามารถแข่งขันกับพรรคใหญ่ได้ จึงอาจเป็นทางเลือกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในสถานการณ์เช่นนี้

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์​

กระแสเรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เริ่มขยายตัวและมีแนวร่วมสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากประสบปัญหาติดล็อกตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ให้พรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหวได้ 

แม้บางฝ่ายจะมองว่าแรงกระเพื่อมจากการขยับครั้งนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่มีเป้าประสงค์ต้องการจะยื้อการเลือกตั้งออกไปจากกำหนดเดิม

ส่วนหนึ่งเพราะกระบวนการแก้ไขที่อย่างน้อยต้องใช้เวลา 2 เดือน ยังไม่รวมกับขั้นตอนเตรียมความพร้อมของพรรคการเมืองตามกฎหมายใหม่ ที่ต้องกระทบไปถึงโรดแมปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

แถมยังมีกระแสตอบรับจากฝั่งรัฐบาลและ คสช.ที่ออกมารับลูกอธิบายหากจะต้องมีการแก้ไขปรับแก้กฎหมายกันจริง จนเหมือนกับเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว

สอดรับไปกับการคงคำสั่ง คสช. ไม่ให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหว ทั้งที่คนการเมืองออกมากระทุ้งหลายรอบ จนห่วงว่าจะทำให้การเตรียมตัวเลือกตั้งไม่ทันการและอาจกระทบไปถึงผลการเลือกตั้งในอนาคต

แต่อีกด้านมองว่า​แนวคิดเรื่องการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง อาจเป็นแค่เพียงการลดทอนความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองของพรรคที่จะตั้งขึ้นใหม่เท่านั้น

เห็นได้จากกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ล้วนแต่เป็นกลุ่มที่ประกาศตัวสนับสนุน คสช. แถมยังออกตัวเตรียมเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี สานต่อภารกิจปฏิรูปที่ยังคั่งค้าง

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแรก ไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป ที่ส่งสัญญาณชัดเจนว่า ควรปรับแก้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 140 และมาตรา 141 เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมระหว่างสมาชิกพรรคการเมืองและพรรคการเมือง

ประเด็นแรก ความเหลื่อมล้ำระหว่างสมาชิกพรรคที่ต้องชำระและไม่ต้องชำระค่าบำรุงพรรค แต่มีสิทธิเท่าเทียมกัน ทำให้เกิดสมาชิกพรรคสองมาตรฐาน เพราะ พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 140 และมาตรา 141 (5) รับรองให้สมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมให้มีสถานะเป็นสมาชิกพรรคต่อไป โดยไม่ต้องชำระค่าบำรุงพรรคเป็นเวลา 4 ปี ขณะที่พรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ต้องชำระทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1,000 บาท

ประเด็นที่สอง สมาชิกพรรคการเมืองเดิม ที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองปี 2550 ส่วนใหญ่เกิดจากการรวบรวมรายชื่อมาเป็นสมาชิกพรรค หลายกรณีพบว่าเจ้าตัวไม่รู้ว่าถูกแอบอ้างชื่อไปเป็นสมาชิกพรรค แต่ พ.ร.บ.พรรคการเมืองใหม่ไปเหมารวมรับรองรายชื่อสมาชิกพรรคการเมืองเดิมให้มีสถานะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องแสดงเจตจำนงจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเดิมต่อไป

รวมทั้งแบบฟอร์มการยื่นขอจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่มีความยุ่งยากต้องเขียนข้อมูลส่วนตัวละเอียดเกินความจำเป็น อาทิ ข้อมูลบิดา มารดา คู่สมรส บุตร ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง ทำให้มีขั้นตอนยุ่งยากและเสียเปรียบสมาชิกพรรคการเมืองเดิม

ทั้งหมดขมวดเป็นข้อเรียกร้องต้องการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรค “การเมืองให้ให้สมาชิกพรรคที่มีอยู่ในข้อมูลของพรรคการเมืองเดิม ยังไม่มีสถานะเป็นสมาชิกพรรคจนกว่าจะยื่นความจำนงสมัครเป็นสมาชิกพรรคเดิม พร้อมชำระค่าบำรุงพรรคก่อน จึงจะมีสิทธิเป็นสมาชิกพรรค

รวมทั้งให้แก้ไขกระบวนการยื่นจัดตั้งพรรคใหม่ให้มีความสะดวกรวดเร็ว เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสมาชิกพรรค ถ้าจำเป็นต้องนำไปสู่การรีเซตสมาชิกพรรคการเมืองทั้งหมดก็ต้องทำ โดยให้สมาชิกพรรคทุกพรรคมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่ทุกพรรค

สอดรับไปกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ที่ประกาศจุดยืนสนับสนุน คสช. ทำหนังสือถึง สนช.ขอให้ แก้ไข พ.ร.ป.​ว่าด้วยพรรคการเมือง

“เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเท่าเทียมในโอกาสทางการเมืองแก่พรรคการเมืองเก่า และพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ จึงเห็นสมควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ​2560 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศ เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้โดยสมบูรณ์ครบถ้วน”

การหยิบยกประเด็นเรื่องความเป็นธรรม เท่าเทียมในการแข่งขันในสนามเลือกตั้ง จึงคล้ายจะเป็นคำตอบที่สะท้อนให้เห็นถึงเป้าประสงค์เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายในวันที่หลายฝ่ายเริ่มกลับมาพูดถึงเรื่อง “เซตซีโร่” พรรคการเมืองอีกรอบ หลังเคยมีกระแสเรียกร้องในช่วงการทำกฎหมายก่อนหน้านี้

ที่สำคัญแนวคิดนี้ยังสอดรับกับกระแสการตั้งพรรคใหม่ เพื่อสนับสนุน คสช.ในเวทีเลือกตั้ง ในวันที่ความเป็นไปได้เรื่อง “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

แต่เนื่องจากกลไกตัวช่วย 250 สว. ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง ไม่อาจสร้างความเข้มแข็งและเสถียรภาพในชั้นการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรได้ 

การกรุยทางให้พรรคการเมืองใหม่สามารถแข่งขันกับพรรคใหญ่ได้ จึงอาจเป็นทางเลือกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในสถานการณ์เช่นนี้