posttoday

แก้กฎหมายพรรคการเมือง เป่านกหวีดล้มเลือกตั้ง

15 ธันวาคม 2560

การเมืองเริ่มกลับมามีความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้ง ภายหลังมีกลุ่มการเมืองพยายามเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 อย่างพร้อมเพรียงกัน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเมืองเริ่มกลับมามีความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้ง ภายหลังมีกลุ่มการเมืองพยายามเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 อย่างพร้อมเพรียงกัน

เริ่มต้นที่ "ไพบูลย์ นิติตะวัน" ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป ยื่นหนังสือถึง "พรเพชร วิชิตชลชัย" ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขอให้แก้ไขกฎหมายดังกล่าวด้วยการอ้างเหตุผล 3 ประการ

1.ความเหลื่อมล้ำระหว่างสมาชิกพรรคที่ต้องชำระและไม่ต้องชำระค่าบำรุงพรรคแต่มีสิทธิเท่าเทียมกัน ทำให้เกิดสมาชิกพรรคสองมาตรฐาน

2.สมาชิกพรรคการเมืองเดิมที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองปี 2550 ส่วนใหญ่เกิดจากการรวบรวมรายชื่อมาเป็นสมาชิกพรรค หลายกรณีพบว่า เจ้าตัวไม่รู้ว่าถูกแอบอ้างชื่อไปเป็นสมาชิกพรรค แต่ พ.ร.บ.พรรคการเมืองใหม่ไปเหมารวมรับรองรายชื่อสมาชิกพรรคการเมืองเดิมให้มีสถานะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต่อไป

3.แบบฟอร์มการยื่นขอจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่มีความยุ่งยากต้องเขียนข้อมูลส่วนตัวละเอียดเกินความจำเป็น

"เพื่อให้การเลือกตั้งปลายปี 2561 มีความเป็นธรรม มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ตลอดจนประธาน สนช. พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมืองปี 2560" ข้อเรียกร้องจากไพบูลย์

จากนั้นตามมาด้วย "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เลขาธิการ กปปส. ส่งจดหมายถึง สนช.เหมือนกัน โดยระบุว่า "เนื่องจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ได้กำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรเอาไว้ อีกทั้งมีบทบัญญัติใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดขั้นตอนวิธีการปฏิบัติในการจัดตั้งพรรคการเมือง การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง และการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งพรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และความเท่าเทียมในโอกาสทางการเมืองแก่พรรคการเมืองเก่าและพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ จึงเห็นสมควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศ เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้โดยสมบูรณ์ครบถ้วน"

ดังนั้น การออกตัวมาพร้อมกันแบบนี้ย่อมไม่เป็นเรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน

อย่างที่ทราบกันดีว่ากฎหมายพรรคการเมืองเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการนำไปสู่การเลือกตั้ง เพราะหากกฎหมายเลือกตั้ง 4 ฉบับ ซึ่งรวมถึงกฎหมายพรรคการเมืองประกาศใช้เมื่อไหร่ก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายใน 150 วัน โดยปัจจุบันนี้เหลือกฎหมายอีกเพียง 2 ฉบับ คือ เลือกตั้ง สส.และการได้มาซึ่ง สว.เท่านั้น หากกฎหมายสองฉบับนี้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

ความพยายามขอแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากหวังผลให้เลื่อนการเลือกตั้ง

ที่ผ่านมากว่า 2 เดือนนับตั้งแต่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ประกาศใช้ ปรากฏว่ามีเสียงเรียกร้องให้ คสช. ปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ เนื่องจากกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดกรอบเวลาให้พรรคการเมืองต้องไปปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรคตามที่กฎหมายใหม่กำหนด มิฉะนั้นจะมีผลต่อสถานะของพรรคการเมือง เช่น การแก้ไขทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง เป็นต้น

แต่เสียงเรียกร้องดังกล่าวกลับ ไม่ได้การตอบรับจาก คสช.โดยชักแม่น้ำทั้งห้ามาเป็นข้ออ้าง จนกระทั่งเกิดความเคลื่อนไหวของ "ไพบูลย์- สุเทพ"

นับเป็นเรื่องประหลาดไม่น้อยกับการพยายามเสนอแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง เพราะกฎหมายพรรคการเมืองเพิ่งจะมีผลใช้บังคับ อีกทั้งกติกาทุกอย่างก็ระบุไว้ชัดเจนไม่เพียงเท่านี้ในระหว่างการยกร่างกฎหมายไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หรือการพิจารณาของ สนช.ก็ได้เปิดให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็น

ยิ่งไปกว่านั้นการเสนอกฎหมายพรรคการเมืองก็ผ่านเกณฑ์การวิเคราะห์ผลกระทบของการใช้กฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ทุกประการ แต่เหตุไฉนถึงจะต้องสร้างเงื่อนไขขึ้นมาเช่นนี้

ต้องไม่ลืมว่าทั้งไพบูลย์และ สุเทพต่างมีข่าวออกมาตลอดว่าจะทำการตั้งพรรคการเมืองสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าโดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ "พล.อ.ประยุทธ์" กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง

ทว่าสถานการณ์เวลานี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ กลับไม่ได้เป็นที่นิยม ชมชอบของคนไทยเท่าไหร่ หลังจากเสียรังวัดในเรื่องการบริหารประเทศมาหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การออกมาปกป้องคนในรัฐบาลที่ถูกตรวจสอบถึงความโปร่งใสแบบไม่เหมาะสมเท่าไหร่นัก

แน่นอนหากเร่งให้เกิดการเลือกตั้งและเข็น พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำอีกรอบ คงจะได้รับเสียง "ยี้" มากกว่าเสียงตอบรับ จึงจำเป็นต้องหาเงื่อนไขเพื่อเลื่อนการเลือกตั้ง ซึ่งการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะทำเช่นนั้น

โดยการพิจารณาแก้ไขกฎหมายในชั้นของ สนช.จะไม่มีกรอบเวลามาคอยกดดัน เท่ากับว่า สนช.สามารถใช้เวลาเพื่อแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองตราบเท่าที่ตัวเองต้องการ

เรียกได้ว่าผู้มีอำนาจยังไม่อยากให้เลือกตั้ง แต่ไม่กล้าออกมาบอกตรงๆ จึงต้องมีนายหน้าและตัวแทนออกมาส่งสัญญาณแทนตัวเอง n